ติวเข้มท้องถิ่น รับ “ภาษีที่ดิน”

แม้ร่าง พ.ร.บ. ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. …ที่ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จะถูกปรับแก้ไขในระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมาธิการ ส่งผลให้ร่างกฎหมายภาษีที่ดินฉบับใหม่ที่จะบังคับใช้แทน พ.ร.บ. ภาษีโรงเรือนและที่ดิน กับ พ.ร.บ. ภาษีบำรุงท้องที่ จากเดิมกำหนดไว้ 1 ม.ค. 2561 ทอดระยะเวลาออกไปเป็น 1 ม.ค. 2562 แต่ดูเหมือนรัฐบาลมั่นใจว่าจะสามารถผลักดันบังคับใช้กฎหมายฉบับนี้ได้ตามกำหนด

ขณะที่ฝ่ายปฏิบัติ ในฐานะเป็นผู้จัดเก็บภาษีอย่าง กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น มีหนังสือแจ้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ให้เตรียมความพร้อมรองรับการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง โดยให้เร่งจัดทำแผนที่ภาษี และทะเบียนทรัพย์สิน (LTAX 3000) กับโปรแกรมประยุกต์ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ (LTAX GIS) ที่ได้พัฒนาขึ้น สำหรับใช้จัดทำแผนที่ภาษีและทะเบียนทรัพย์สิน ตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยแผนที่ภาษีและทะเบียนทรัพย์สินขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2550

เพื่อให้ อปท. มีฐานข้อมูลบัญชีรายการที่ดินและสิ่งปลูกสร้างครบถ้วนสมบูรณ์ และเป็นมาตรฐานเดียวกัน ซึ่งจะช่วยให้สามารถจัดเก็บภาษีได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย มีประสิทธิภาพ และประหยัดค่าใช้จ่าย

เริ่มจากเตรียมความพร้อมด้วยการศึกษาทำความเข้าใจในหลักการ และสาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าว อาทิ ผู้มีหน้าที่เสียภาษี ได้แก่ บุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคล ที่เป็นเจ้าของที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้าง หรือผู้ครอบครอง หรือทำประโยชน์ในที่ดินและสิ่งปลูกสร้างอันเป็นทรัพย์สินของรัฐ ทรัพย์สินที่ต้องเสียภาษี ได้แก่ ที่ดิน สิ่งปลูกสร้าง ห้องชุด หน่วยงานจัดเก็บภาษี คือ อปท. ประกอบด้วย เทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) กรุงเทพมหานคร เมืองพัทยา

ได้ทราบถึงทรัพย์สินที่ได้รับการยกเว้นภาษี อาทิ ทรัพย์สินที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ทรัพย์สินของรัฐที่มิได้หาผลประโยชน์ ทรัพย์สินที่ทำการของสหประชาชาติ ที่ทำการสถานทูต ทรัพย์สินของสภากาชาด ทรัพย์ส่วนกลางของอาคารชุด และที่ดินสาธารณูปโภคของโครงการจัดสรรที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ ศาสนสมบัติที่ไม่ได้หาผลประโยชน์ และทรัพย์สินอื่นที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา

ขณะเดียวกันก็สร้างความเข้าใจเรื่องฐานภาษี ได้แก่ มูลค่าทั้งหมดของที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง โดยคำนวณจากราคาประเมินที่ดิน ทรัพย์ที่ดิน สิ่งปลูกสร้าง และห้องชุด รู้อัตราภาษี ซึ่งแยกตามลักษณะของการใช้ประโยชน์ ได้แก่ 1. ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ใช้ประกอบเกษตรกรรม อัตราภาษีไม่เกิน 0.2% ของฐานภาษี 2.ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ใช้ประโยชน์เป็นที่อยู่อาศัย อัตราภาษีไม่เกิน 0.5% ของฐานภาษี 3.ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ใช้ประโยชน์ในกิจกรรมอื่นนอกจากข้อ 1 และ 2 อัตราภาษีไม่เกิน 2% ของฐานภาษี 4.ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ทิ้งไว้รกร้างว่างเปล่าหรือไม่ได้ทำประโยชน์ตามสมควรแก่สภาพ อัตราภาษีไม่เกิน 2% ของฐานภาษี

อย่างไรก็ตาม ในชั้นการพิจารณาของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ. ภาษีที่ดินฯ อาจมีการปรับลดเพดานภาษี รวมทั้งกำหนดอัตราการจัดเก็บภาษีจริงในระดับที่เหมาะสม แตกต่างจากข้างต้น

ส่วนประเด็นสำคัญอื่นๆ มีสาระสำคัญเรื่องการลดและยกเว้นภาษี ได้แก่ การยกเว้นจัดเก็บภาษีสำหรับที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่เจ้าของซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาใช้เป็นที่ประกอบเกษตรกรรม สำหรับทรัพย์สินที่มีมูลค่าไม่เกิน 50 ล้านบาท ยกเว้นการจัดเก็บภาษีสำหรับที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่เจ้าของซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาใช้เป็นที่อยู่อาศัย และมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในวันที่ 1 ม.ค. ของปี สำหรับทรัพย์สินที่มีมูลค่าไม่เกิน 20 ล้านบาท

การลดภาษีสำหรับที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างบางประเภท เพื่อให้เหมาะสมกับสภาพความจำเป็นทางเศรษฐกิจ สังคม หรือเหตุการณ์ กิจการ หรือสภาพแห่งท้องที่ โดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกา แต่ลดได้ไม่เกิน 90% ของจำนวนภาษีที่ต้องเสีย การให้ผู้บริหารท้องถิ่นโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างประจำจังหวัด มีอำนาจลดและยกเว้นภาษี ตามระเบียบที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยกำหนด เป็นต้น

นอกนั้นมีเรื่องการอุทธรณ์การประเมินภาษี กรณีที่ผู้เสียภาษีเห็นว่าการประเมินภาษีหรือเรียกเก็บภาษีไม่ถูกต้อง โดยให้ยื่นคำร้องต่อผู้บริหารท้องถิ่นภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งการประเมินภาษี และผู้บริหารท้องถิ่นต้องพิจารณาคำร้องให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน เป็นต้น

รวมทั้งศึกษาองค์ประกอบ และอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ 2 ชุด ได้แก่ คณะกรรมการภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างประจำจังหวัด ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน กับคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์การประเมินภาษีประจำจังหวัด ฯลฯ และการจัดประชุมคณะกรรมการอำนวยการแผนที่ภาษีและทะเบียนทรัพย์สินจังหวัด ตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการจัดทำแผนที่ภาษีและทะเบียนทรัพย์สินฯ

เป็นการติวเข้มรับกฎหมายใหม่ ที่จะสร้างรายได้เข้าท้องถิ่นเป็นกอบเป็นกำจากที่ผ่านมา เทศบาล 2,441 แห่ง อบต. 5,333 แห่ง กับ กทม. และเมืองพัทยา จัดเก็บภาษีโรงเรือนและที่ดินปี 2560 ได้ 3.29 หมื่นล้านบาท ภาษีบำรุงท้องที่ 1.08 พันล้านบาท ในอนาคตรายได้จะเติบโตก้าวกระโดดเป็น 6.42 หมื่นล้านบาท