เผยแพร่ |
---|
เมื่อเกิด “น้ำท่วม” ไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่ในพื้นที่ใจกลางเมืองกรุงเทพมหานครและต่างจังหวัด
แทบทุกครั้ง “ผังเมือง” จะกลายเป็นจำเลยว่าจัดวางผังการใช้ประโยชน์ที่ดินหละหลวม ไม่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ กีดขวางทางระบายน้ำ จนทำให้เกิด “อุทกภัย” ครั้งใหญ่ในหลายพื้นที่ที่ผ่านมา
เพื่อเป็นการแก้ปัญหาน้ำท่วมและอุทกภัยอย่างยั่งยืน ในระยะยาว “กรมโยธาธิการและผังเมือง” กำลังเร่งทำผังการระบายน้ำจังหวัดในลุ่มน้ำทั้ง 25 ลุ่มน้ำทั่วประเทศ ใช้เวลาดำเนินการ 4 ปี (2558-2561) งบประมาณ 730 ล้านบาท
ความคืบหน้าล่าสุด “มณฑล สุดประเสริฐ” อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ”ว่ากรมจะเร่งรัดการวางผังการระบายน้ำจังหวัดในลุ่มน้ำครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ จำนวน 25 ลุ่มน้ำ ให้แล้วเสร็จภายในปี 2561
“แนวทางจะจัดทำแผนที่เสี่ยงภัยน้ำท่วมในระดับลุ่มน้ำและระดับจังหวัด แก้ไขปัญหาสิ่งก่อสร้างและโครงสร้างพื้นฐานที่กีดขวางทางระบายน้ำ จัดทำผังระบบการระบายน้ำของจังหวัด โครงการป้องกันน้ำท่วมในพื้นที่ชุมชน และกำหนดพื้นที่ทางน้ำหลากหรือฟลัดเวย์ พร้อมกับมาตรการด้านผังเมือง ต้องมีการหารือร่วมกันหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อไม่ให้สร้างสิ่งกีดขวางทางน้ำ ไม่ว่าถนนหรือสิ่งปลูกสร้างอื่น ๆ”
จากภาพรวมทั้ง 25 ลุ่มน้ำ ปัจจุบันกรมได้ดำเนินแล้วเสร็จในพื้นที่ 5 ลุ่มน้ำ ได้แก่ ลุ่มน้ำสะแกกรัง ลุ่มน้ำแม่กลอง ลุ่มน้ำปราจีนบุรี ลุ่มน้ำโตนเลสาบ และลุ่มน้ำชายฝั่งทะเลตะวันออก
อยู่ระหว่างดำเนินการจำนวน 5 ลุ่มน้ำ ได้แก่ ลุ่มน้ำชายฝั่งทะเลประจวบคีรีขันธ์ ลุ่มน้ำภาคใต้ฝั่งตะวันออก ลุ่มน้ำตาปี ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา และลุ่มน้ำเพชรบุรี
กำลังคัดเลือกบริษัทที่ปรึกษาจำนวน 9 ลุ่มน้ำ ได้แก่ ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ลุ่มน้ำท่าจีน ลุ่มน้ำบางปะกง ลุ่มน้ำภาคใต้ฝั่งตะวันตก ลุ่มน้ำปัตตานี ลุ่มน้ำวัง ลุ่มน้ำยม ลุ่มน้ำน่าน และลุ่มน้ำสาละวิน
และขอรับการสนับสนุนงบฯกลางปี 2561 จำนวน 312 ล้านบาท จัดทำผังใน 6 ลุ่มน้ำ ได้แก่ ลุ่มน้ำปิง ลุ่มน้ำกก ลุ่มน้ำป่าสัก ลุ่มน้ำชี ลุ่มน้ำมูล และลุ่มน้ำโขง
นายมณฑลกล่าวย้ำว่า เมื่อผังการระบายน้ำแล้วเสร็จ จะนำไปกำหนดเป็นกรอบนโยบายการพัฒนาเมือง และกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินในระดับภาค อนุภูมิภาค รวมถึงการควบคุมการพัฒนาและการใช้ที่ดิน ก่อสร้างอาคาร และโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ที่ต้องคำนึงถึงพื้นที่เสียงภัยน้ำท่วมในพื้นที่ผังเมืองรวมจังหวัด ผังเมืองรวมเมือง และผังเมืองรวมชุมชน
โดยจะประกาศบังคับใช้เป็นกฎกระทรวงผังเมืองรวม ทั้งผังการใช้ประโยชน์ที่ดิน ผังที่โล่ง ผังโครงข่ายการคมนาคมและขนส่ง ผังการระบายน้ำ ผังกิจการสาธารณูปโภค และมาตรการและข้อเสนอแนะด้านผังเมือง เพื่อเป็นการป้องกันอุทกภัยที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
นอกจากนี้จะมีมาตรการเสริมด้วยการบูรณาการให้หน่วยงานต่าง ๆ นำข้อมูลไปใช้ร่วมกัน เพื่อปรับปรุงแก้ไขโครงสร้างพื้นฐานที่กีดขวางทางระบายน้ำ ให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน
จะมีมาตรการระยะเร่งด่วน คือ ควบคุมการก่อสร้างอาคารที่กีดขวางทางน้ำ โดยออกประกาศกระทรวง ตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร 2522 และ พ.ร.บ.การขุดดิน และถมดิน 2543 ควบคุมการพัฒนาในพื้นที่เสี่ยงภัยน้ำท่วม พื้นที่ทางน้ำหลากที่กีดขวางทิศทางการไหลของน้ำ
ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการ 25 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ พิษณุโลก นครสวรรค์ น่าน อุทัยธานี ปราจีนบุรี สิงห์บุรี ตราด จันทบุรี สระแก้ว ระยอง ราชบุรี มุกดาหาร ชลบุรี นครพนม กาญจนบุรี อ่างทอง อุตรดิตถ์ หนองคาย แพร่ ตาก กำแพงเพชร พิจิตร ชัยนาท สุโขทัย
ส่วนมาตรการระยะยาว จะปรับปรุงผังเมืองรวมจังหวัด ตาม พ.ร.บ.การผังเมือง 2518 กำหนดมาตรการผังเมืองควบคุมการใช้ประโยชน์ที่ดินในพื้นที่เสี่ยงภัยน้ำท่วม พื้นที่ทางน้ำหลาก และแก้ไขสิ่งกีดขวางทิศทางการไหลของน้ำในผังการใช้ประโยชน์ที่ดิน ผังกิจการสาธารณูปโภคเพื่อการระบายน้ำ
อยู่ระหว่างปรับปรุงผังเมืองรวมจังหวัด 55 จังหวัด สามารถดำเนินการได้ทันที 22 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ พิษณุโลก นครสวรรค์ น่าน อุทัยธานี ปราจีนบุรี สิงห์บุรี ตราด จันทบุรี สระแก้ว ระยอง ราชบุรี มุกดาหาร ชลบุรี นครพนม กาญจนบุรี อ่างทอง อุตรดิตถ์ หนองคาย แพร่ ตาก กำแพงเพชร ขณะที่พิจิตร ชัยนาท สุโขทัย รอกระบวนการปรับปรุงผังเมืองรวมจังหวัด