สนง.ชลประทานที่ 6 โชว์! รูปแบบบริหารจัดการน้ำต้นทุน ‘ทางรอดเกษตรกรไทย’

เมื่อวันที่ 7 มีนาคม ที่ห้องประชุมศูนย์ปฏิบัติการบรรเทาภัยอันเกิดจากน้ำ ภายในสำนักงานชลประทานที่ 6 กรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ อ.เมือง จ.ขอนแก่น นายเฉลิมพร พิชุณสาร ประธานกรรมการตรวจสอบและประเมินผลประจำกระทรวงเกษตรฯ พร้อมคณะเข้าติดตามผลการปฏิบัติการช่วยเหลือประชาชนของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรฯ ในพื้นที่ จ.ขอนแก่น ประกอบด้วยกรมชลประทาน กรมพัฒนาที่ดิน และสำนักงานปฏิรูปที่ดิน โดยมี นายศักดิ์ศิริ อยู่สุข ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 6 นายภัทรพล ณ หนองคาย ผู้อำนวยการสำนักงานโครงการก่อสร้างชลประทานขนาดกลางที่ 6 กองพัฒนาแหล่งน้ำขนาดกลาง พร้อมเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรฯในพื้นที่ จ.ขอนแก่น เจ้าหน้าที่กรมชลประทาน เจ้าหน้าที่กรมพัฒนาที่ดิน และเจ้าหน้าที่สำนักงานปฏิรูปที่ดินร่วมให้การต้อนรับโดยพร้อมเพรียงกัน

สำหรับการติดตามผลการปฏิบัติการช่วยเหลือประชาชนของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรฯ เจ้าหน้าที่ของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรฯ ได้มีผู้แทนของกรมชลประทาน กรมพัฒนาที่ดิน และสำนักงานปฏิรูปที่ดินนำเสนอความคืบหน้าของการแก้ไขปัญหาเรื่องของทรัพยากรน้ำและพื้นที่ทางการเกษตร ประจำปีงบประมาณ 2559-2560 ให้กับคณะกรรมการตรวจสอบและประเมินผลประจำกระทรวงเกษตรฯ

จากนั้นทางคณะได้เยี่ยมชมรูปแบบการใช้นวัตกรรมพลังงานทางเลือกประเภทโซล่าร์เซลล์แสงอาทิตย์มาใช้กับเครื่องสูบน้ำและการจัดทำระบบเกษตรน้ำหยด ซึ่งสามารถช่วยให้ประหยัดต้นทุนด้านพลังงานและน้ำดิบสำหรับงานภาคการเกษตรลงได้เป็นอย่างดี โดยมีเจ้าหน้าที่ของกรมชลประทานเป็นคนอธิบายถึงประโยชน์ของรูปแบบการบริหารจัดการน้ำต้นทุนในพื้นที่นอกเขตชลประทาน ตั้งแต่การจัดหาแหล่งน้ำทั้งในรูปแบบอ่างเก็บน้ำในโครงการพระราชดำริ การจัดสร้างฝายทดน้ำ ฝายแบบประชารัฐ รวมถึงน้ำบาดาลใต้ดินเพื่อการอุปโภคบริโภค น้ำเพื่อการเกษตรและเลี้ยงสัตว์

พร้อมทั้งการต่อยอดการบริหารจัดการน้ำต้นทุนที่ได้ สำหรับนำไปใช้ทำการเกษตรในรูปแบบเกษตรน้ำหยด ผ่านนวัตกรรมพลังงานทดแทนประเภทโซล่าร์เซลล์แสงอาทิตย์ สำหรับใช้กับปั๊มชัก ซึ่งจะสามารถช่วยให้เกษตรกรมีน้ำสำหรับทำการเกษตรได้ครบทั้ง 12 เดือน หรือ 1 ปี

รวมทั้งการนำกระแสไฟฟ้าที่ได้จากพลังงานแสงอาทิตย์มาปรับใช้กับไฟแสงสว่าง หม้อหุงข้าว เพื่อการดำรงชีพในพื้นที่การเกษตรกรรมที่กระแสไฟฟ้าเข้าไม่ถึง ซึ่งแนวทางการบริหารจัดการน้ำต้นทุนและส่งเสริมให้เกษตรกรได้มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำการเกษตรที่ได้ผลนี้ จะเป็นอีกทางเลือกและทางรอดของเกษตรกรไทย เพื่อก้าวไปสู่การเป็นสมาร์ทฟาร์มเมอร์ ในยุคของการพัฒนาสู่ Thailand 4.0 อย่างแท้จริง