‘กฤษฎา’ กำชับกรมชลประทาน เร่งทำโครงการแก้น้ำท่วมเมืองเพชร

เมื่อวันที่ 7 มีนาคม นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานการประชุมผู้บริหารระดับสูงกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยในส่วนของกรมชลประทาน มี ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เป็นผู้แทนกรมชลประทาน เข้าร่วมประชุม โดยนายกฤษฎาได้กำชับให้กรมชลประทานเร่งดำเนินการโครงการแก้ไขปัญหาอุทกภัยเมืองเพชรบุรี หลังจากที่ได้รับความเห็นชอบงบประมาณเพิ่มเติมในการดำเนินโครงการ จาก ครม.สัญจรนอกสถานที่ ณ จังหวัดเพชรบุรี เมื่อวันที่ 6 มีนาคม ที่ผ่านมา

สำหรับโครงการดังกล่าว สืบเนื่องจากการควบคุมและบริหารจัดการน้ำในลุ่มน้ำเพชรบุรี ปัจจุบันสามารถทำได้เฉพาะพื้นที่บริเวณเหนืออ่างเก็บน้ำ 3 แห่ง คือ เขื่อนแก่งกระจาน เขื่อนห้วยผาก และเขื่อนแม่ประจันต์ ที่ตั้งอยู่ทางตอนบนของลุ่มน้ำเพชรบุรี

ส่วนพื้นที่ที่ไม่สามารถควบคุมและบริหารจัดการน้ำได้ จะเป็นพื้นที่ด้านท้ายของอ่างเก็บน้ำทั้ง 3 แห่ง ซึ่งอยู่เหนือเขื่อนเพชร (เขื่อนทดน้ำ) ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ อ.ท่ายาง เมื่อมีปริมาณฝนตกเกิน 150 มิลลิเมตร ต่อวัน จะทำให้มีปริมาณน้ำจำนวนมากไหลผ่านเขื่อนเพชร จนทำให้เกิดอุทกภัยในพื้นที่ด้านท้ายเขื่อน ช่วงฤดูฝน ปี 2560 ที่ผ่านมา ได้เกิดฝนตกหนักในพื้นที่ตอนบนของลุ่มน้ำเพชรบุรี ทำให้มีปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเพชร มากกว่า 350 ลูกบาศก์เมตร ต่อวินาที

ซึ่งเป็นปริมาณน้ำที่เกินขีดความสามารถในการระบายน้ำของแม่น้ำเพชรบุรี ในช่วงที่ไหลผ่านตัวเมืองเพชรบุรี (รับน้ำได้เพียง 150 ลูกบาศก์เมตร ต่อวินาที) ส่งผลให้เกิดน้ำเอ่อล้นตลิ่งไหลเข้าท่วมพื้นที่ลุ่มต่ำบริเวณตัวเมืองเพชรบุรี ไปจนถึงพื้นที่ลุ่มต่ำอำเภอบ้านลาด และอำเภอบ้านแหลม ส่งผลกระทบต่อประชาชนและพื้นที่เศรษฐกิจค่อนข้างมาก

กรมชลประทาน ได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาอุทกภัยที่เกิดขึ้น โดยการก่อสร้างคลองระบายน้ำ 2 สาย บริเวณด้านเหนือเขื่อนเพชร เพื่อตัดยอดปริมาณน้ำก่อนที่จะไหลผ่านเขื่อนเพชร ให้ระบายออกสู่ทะเลได้ในอัตรา 650 ลูกบาศก์เมตร ต่อวินาที ทำให้ปริมาณน้ำที่จะไหลผ่านเขื่อนเพชรลดน้อยลง และไม่ทำให้เกิดอุทกภัยในพื้นที่ด้านท้ายเขื่อนเพชรลงมา คือ

1. การก่อสร้างคลองระบายน้ำสาย 3 เชื่อมลงคลองระบายน้ำ D9 ความยาวรวม 31.50 กิโลเมตร สามารถระบายน้ำได้ 100 ลูกบาศก์เมตร ต่อวินาที ซึ่งในปี 2560 ที่ผ่านมา กรมชลประทานได้เริ่มดำเนินการก่อสร้างคลองระบายน้ำสาย D9 ความยาว 19 กิโลเมตร ส่วนคลองระบายน้ำสาย 3 ความยาว 4 กิโลเมตร จะเริ่มดำเนินการในปีนี้ ทั้งนี้ คาดว่าจะแล้วเสร็จทั้ง 2 สาย ในปี 2562 ส่วนงานที่เหลือจะดำเนินการก่อสร้างในปีงบประมาณ 2562 หากดำเนินการแล้วเสร็จจะสามารถระบายน้ำลงสู่ทะเลได้ 100 ลูกบาศก์เมตร ต่อวินาที

2. ในส่วนของคลองระบายน้ำ D1 ความยาว 20 กิโลเมตร ความสามารถในการระบายน้ำได้ 550 ลูกบาศก์เมตร ต่อวินาทีนั้น ปัจจุบันอยู่ระหว่างการเตรียมความพร้อมและวางแผนก่อสร้างให้แล้วเสร็จในปี 2564 ทั้งนี้ หากดำเนินการก่อสร้างคลองระบายน้ำแล้วเสร็จทั้งหมด จะสามารถระบายน้ำได้สูงสุด 800 ลูกบาศก์เมตร ต่อวินาที (จากสถิติน้ำหลาก 25 ปี) ซึ่งจะช่วยบรรเทาปัญหาอุทกภัยในพื้นที่ลุ่มน้ำเพชรบุรีตอนล่างได้