ปิดทองหลังพระฯก้าวสู่ปีที่ 9ชูแนวพระราชดำริเพิ่มรายได้ สร้างภูมิคุ้มกัน

หม่อมราชวงศ์ ดิศนัดดา ชี้ไทยจะมีภาระทางการเงินอีกมากจากคนจนและคนชรา ควรเอาจริงกับการพัฒนาตามแนวพระราชดำริ เผยตัวอย่างพื้นที่ปิดทองหลังพระฯ รายได้เพิ่มอีก 28%

หม่อมราชวงศ์ดิศนัดดา ดิศกุล ประธานกรรมการสถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระสืบสานแนวพระราชดำริ กล่าวในการรายงานผลการทำงานประจำปีว่า แม้ภาพรวมเศรษฐกิจของโลกจะเริ่มฟื้นตัว และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะเป็นศูนย์กลางการเติบโตก็ตาม ประเทศไทยยังเผชิญกับความท้าทายอีกมากทั้งจากภายในและภายนอกประเทศ

ปีที่ผ่านมามีประชาชนมาลงทะเบียนเป็นคนจน 14 ล้านคน นับว่าเป็นสัดส่วนที่สูงมากเมื่อเทียบกับประชากร 66 ล้านคน นอกจากนี้ไทยก็กำลังก้าวเข้าสู่สังคมคนชรา ซึ่งจะทำให้ประเทศต้องเตรียมความพร้อมในการจัดสวัสดิการ

“ทุกรัฐบาลจัดสรรงบประมาณกระตุ้นเศรษฐกิจมาตลอด แต่กลับมีคนจนมากถึง 14 ล้านคน และในขณะนี้ประเทศมหาอำนาจต่างๆ ทั้งสหรัฐอเมริกา ยุโรป และจีนก็ก่อเค้าว่าจะทำสงครามเศรษฐกิจกันอีก ประเทศไทยแม้จะเล็กแต่ก็อุดมสมบูรณ์ ถ้าเราพากันหันมาเอาจริงกับแนวพระราชดำริ ผมมั่นใจว่าเราปลอดภัยและมีความสุข”

หม่อมราชวงศ์ดิศนัดดา กล่าวว่า มูลนิธิปิดทองหลังพระและสถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระ ฯ เพิ่งดำเนินงานมาแปดปี พบว่าประชาชนมีความพร้อมและต้องการที่จะพัฒนาตนเอง เมื่อมีความสนับสนุนอย่างเหมาะสมก็สามารถเห็นผลได้ในระยะเวลาอันสั้น

ปิดทองหลังพระฯก้าวสู่ปีที่ 9 จึงใช้คำขวัญ “สืบสาน เบิกบานใจ” เพื่อกระตุ้นการทำงานตามแนวพระราชดำริอย่างมีความสุขเพื่อให้สัมฤทธิ์ผลเกิดการ“สืบสาน รักษา ต่อยอด”ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ในระยะเวลา 8 ปีที่ผ่านมา ปิดทองหลังพระฯ ขยายผล 7 พื้นที่ต้นแบบใน 9 จังหวัด และต่อยอดการพัฒนาระบบน้ำจนมีพื้นที่รับประโยชน์เพิ่มขึ้น 41,668 ไร่ในปีที่แล้ว รวมกันเป็นทั้งสิ้น 217,557 ไร่ ทำให้เกิดโอกาสทางอาชีพเพิ่มขึ้น ประชาชนในพื้นที่ต้นแบบมีรายได้เสริมจากอาชีพประจำเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 102.4 ล้านบาท

สำหรับการขยายงานในพื้นที่ต้นแบบ 7 หมู่บ้านของสามจังหวัดชายแดนใต้นั้น หม่อมราชวงศ์ ดิศนัดดา กล่าวว่าข้อมูลการสำรวจพบว่าชาวบ้านมีหนี้สินรวมกว่า 73.6 ล้านบาทหรือเฉลี่ยครัวเรือนละ 60,652 บาท เป็นเรื่องยากที่จะแก้ไขจากปัญหาสะสมในพื้นที่ การพัฒนาจึงต้องทำอย่างตรงจุดมากที่สุดทั้งด้านความต้องการและความสามารถของคนในพื้นที่ต้องเข้ามามีส่วนร่วม

“นอกจากเรื่องรายได้ที่เพิ่มขึ้นแล้ว เรามีความดีใจที่รายงานการสำรวจของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยชี้ว่า ชาวบ้านเห็นว่าตนเองมีความรู้มากกว่าเดิม และมีความมั่นใจในการประกอบอาชีพมากขึ้น นี่เป็นตัวบ่งชี้ถึงโอกาสที่จะพัฒนาให้ยั่งยืนต่อไปในอนาคต ตามแนวพระราชดำริที่พระราชทานไว้อย่างแท้จริง เมื่อเขามีความรู้ มีความมั่นใจเขาจะเดินต่อได้เอง นี่ควรเกิดขึ้นมากๆ แล้วประเทศก็จะมั่นคง”

ส่วนหนึ่งของการสร้างความยั่งยืนในการพัฒนานั้น ปิดทองหลังพระฯ ได้ขยายความร่วมมือออกไปอย่างกว้างขวางเพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมอย่างมากจากทุกภาคส่วน โดยก่อนหน้านี้ได้ร่วมกันกับกระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ และสถาบันการศึกษาต่างๆ ทำงานกันทั้งในระดับพื้นที่และระดับนโยบาย

ในปีที่ผ่านมาก็ได้ริเริ่มความร่วมมือกับพันธมิตรภาคธุรกิจ ให้เข้าร่วมสืบสานแนวพระราชดำริ ซึ่งปัจจุบันรวมตัวกันภายใต้ชื่อ “ทีมดี” ประกอบด้วย 4 มูลนิธิคือ มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ปิดทองหลังพระฯ รากแก้ว และ มั่นพัฒนา ส่วนภาคเอกชน ได้ ทรู ธนาคารกรุงศรีฯ ธนาคารไทยพาณิชย์ เครือเจริญโภคภัณฑ์ เอสซีจี บางจาก น้ำตาลมิตรผล ไทยเบฟฯ และเทสโก้-โลตัสและบริษัทประชารัฐฯ

“ในตอนนี้ต้องเรียกว่า ทีมดี ยังอยู่ในขั้นดูใจกัน ยังคาดหวังอะไรมากไม่ได้ เพราะไม่เคยร่วมงานกันใกล้ชิดมาก่อน แต่ผมก็หวังว่าธุรกิจใหญ่ๆ ที่ทำกำไรมากๆ จากประชาชน จะเอาจริงเอาจังในเรื่องนี้ ซึ่งก็เป็นไปได้”

ปัจจุบัน “ทีมดี” ริเริ่มทดลองทำงานด้วยกันในพื้นที่อำเภออุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น โดยมีบริษัทน้ำตาลมิตรผล และเครือเจริญโภคภัณฑ์ เป็นแกนนำ ส่งเสริมการเกษตรและส่งเสริมการทำแปลงเกษตรทฤษฎีใหม่

ปิดทองหลังพระฯ ยังจะสนับสนุนอย่างเต็มที่ให้สื่อมวลชนมีบทบาทมากขึ้นในการร่วมพัฒนาประเทศผ่าน “ชมรมสื่อมวลชนพัฒนาชนบท” (หรือชมรมสื่อบ้านนอก) ที่จะริเริ่มงานวิชาการตีแผ่ความจริงชนบทไทยทุกๆ ปี เริ่มจากปลายปีนี้ โดยได้รับความร่วมมือทางวิชาการจากทั้งธนาคารแห่งประเทศไทย และสำนักงานพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

“เราเคยมีแต่ประชุมประจำปีว่าเศรษฐกิจโตเท่าไหร่ แต่การเติบโตนั้นกระจายไม่ทั่วถึง จึงมีคนจนมากถึง14 ล้านคน ฉะนั้นเมื่อสื่อมวลชนเห็นความสำคัญที่จะเอาเรื่องจริงในชนบทมาเปิดให้เห็น ให้ตระหนักกัน จึงเป็นเรื่องที่น่ายกย่อง”