สทบ. ร่วมกระทรวงวิทย์ฯ ปั้นต้นแบบหมู่บ้านแห่งอนาคต รองรับ ‘โลกเปลี่ยน’

กองทุนหมู่บ้านฯ ร่วมกับกระทรวงวิทย์ฯ รุกพัฒนา “หมู่บ้านวิทย์ฯ…แนวคิดศาสตร์พระราชา”สร้างศักยภาพหมู่บ้านอย่างยั่งยืนด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม เป้าหมายปีแรก 89 หมู่บ้าน 200 ผลิตภัณฑ์ปั้นโมเดลต้นแบบหมู่บ้านแห่งอนาคต รองรับโลกที่เปลี่ยนแปลง

สำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ (สทบ.) และกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) ผนึกกำลังร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากเตรียมพร้อมก้าวสู่ไทยแลนด์ 4.0 เปิดตัวโครงการ“หมู่บ้านวิทย์ฯ…แนวคิดศาสตร์พระราชา” โดยมีนายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และ ดร. สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ร่วมเป็นประธานเปิดงานประชุมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง การพัฒนากองทุนหมู่บ้านตามแนวทางประชารัฐ สู่การสร้างศักยภาพหมู่บ้านอย่างยั่งยืนด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม

พร้อมด้วย ดร.นพ.ปฐม สวรรค์ปัญญาเลิศ รองปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และ รศ. นที ขลิบทอง ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ ร่วมพิธีลงนามข้อตกลง MOU โดยมีเครือข่ายกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง นักวิจัยและ สถาบันการศึกษาที่เป็นเครือข่ายของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี “คลินิกเทคโนโลยี” จากทุกภาคทั่วประเทศที่มาร่วมงาน ณ ห้องแซฟไฟร์ 204 – 205 ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี

นายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การสร้างศักยภาพหมู่บ้านอย่างยั่งยืนด้วย วทน. ภายใต้โครงการ“หมู่บ้านวิทย์ฯ…แนวคิดศาสตร์พระราชา” เป็นการเสริมสร้างฐานของประเทศไทยให้แข็งแกร่งรองรับโลกที่เปลี่ยนแปลงและเชื่อมต่อกัน สู่อนาคต Thailand 4.0 วัตถุประสงค์ เพื่อผลักดันหมู่บ้านให้เป็น “หมู่บ้านวิทย์” หมู่บ้านต้นแบบในการนำความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไปประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ในวิถีชีวิตและความเป็นอยู่ในการสร้างงาน สร้างเงินและคุณภาพชีวิต

และนำความรู้ที่ได้ไปขยายผลในหมู่บ้านอื่น ๆ เพื่อให้เกิดการพัฒนาทั้งทางด้านเศรษฐกิจและสังคมชนบทอย่างยั่งยืน โดยมีความสอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 ยุทธศาสตร์ที่ 8 และ 9 เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติที่น้อมนำแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ หรือ SDG ในเป้าหมายที่ 1, 8, 9 และ 12 อีกทั้งแผนยุทธศาสตร์ระยะ 20 ปีของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในด้านยุทธศาสตร์ การใช้เทคโนโลยีเพื่อสังคมและเศรษฐกิจฐานราก

โดยฉพาะอย่างยิ่งสอดรับกับเป้าประสงค์การจัดตั้งกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง ซึ่งก่อตั้งมากว่า 16 ปี ปัจจุบันมีเครือข่ายกองทุนฯ กว่า 79,595 หมู่บ้านทั่วไทย มุ่งมั่นในการเป็นกลไกกระตุ้นเศรษฐกิจในระดับฐานราก เสริมสร้างภูมิคุ้มกันทางเศรษฐกิจและสังคมในอนาคต และเกิดศักยภาพ / ความเข้มแข็งของประชาชนในหมู่บ้าน / ชุมชนเมืองทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม

เป้าหมายจากความร่วมมือของ 2 องค์กร ที่ตั้งไว้ คือ 1.สร้างเสริมหมู่บ้านแม่ข่ายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จำนวน 89 แห่ง ในระยะเวลา 3 ปี 2. มีผู้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยี จำนวนไม่น้อยกว่า 5,000 คนต่อปี 3.ผลิตภัณฑ์ที่พัฒนาด้วยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ เพื่อเข้าสู่ตลาดประชารัฐไม่น้อยกว่า 200 ผลิตภัณฑ์ต่อปี 4. หมู่บ้านที่ขยายผล ไม่น้อยกว่า 40 หมู่บ้านต่อปี 5. ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจในพื้นที่ 1:1.5 เท่า

ดร. สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า “หมู่บ้านวิทย์” มีความเป็นมา นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2527 โดยคัดเลือก 9 หมู่บ้านที่อยู่ในเขตโครงการสูบน้ำไฟฟ้าเพื่อนำเทคโนโลยีไปทดลองใช้ ต่อมาในโอกาสครบ 30 ปี กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในปี พ.ศ.2552 ได้ต่อยอดเป็นหมู่บ้านแม่ข่ายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

และปรับกลไกการดำเนินงานโดยใช้ ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 (เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา) และแบ่งการดำเนินงานเป็น 5 ปี โดยหมู่บ้านใหม่ปีที่ 1 มุ่งเน้นให้ชุมชนมีความเข้าใจในการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการดำรงชีวิตและการประกอบอาชีพต่าง ๆ

ส่วนหมู่บ้านต่อเนื่องปีที่ 2 จะมุ่งเน้นให้ชุมชนมีความเข้าถึงการนำเทคโนโลยีมาเพิ่มศักยภาพ/มูลค่าของพื้นที่ตามเป้าหมายที่ต้องการ สำหรับหมู่บ้านปีที่ 3 มุ่งเน้นให้ชุมชนใช้ วทน. ในการดำรงชีวิตประจำวัน เพิ่มรายได้ ลดรายจ่าย อย่างยั่งยืน และพร้อมที่จะต่อยอดเทคโนโลยีดังกล่าวสู่ชุมชน/พื้นที่ข้างเคียง

และหากหมู่บ้านที่พัฒนามาแล้ว 3 ปี มีความพร้อมสามารถเป็นต้นแบบการพัฒนาโดยใช้เทคโนโลยีที่สั่งสมมา และต่อยอดได้เองแล้วสามารถขยายผล หมู่บ้านแม่ข่ายที่จะขยายลูกข่ายปีที่ 1 – 2 เป็นการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับพื้นที่ใกล้เคียงที่มีความสนใจและต้องการเทคโนโลยี

เป้าหมายใหญ่ของไทยแลนด์ 4.0 นอกจากสร้างมูลค่าเพิ่มด้วยองค์ความรู้และนวัตกรรม แล้วเรายังให้ความสำคัญกับ การลดความเหลื่อมล้ำ กระจายโอกาสสู่ประชาชนฐานรากควบคู่ไปด้วยซึ่งเป็นพลังสำคัญยิ่งที่จะทำให้ประเทศมีภูมิคุ้มกันที่เข้มแข็งและยั่งยืนได้แท้จริง

ปลายปีที่ผ่านมา รัฐบาลได้สนับสนุนการวางโครงสร้างอินเตอร์เน็ตหมู่บ้าน ต่อเนื่องมาถึงโครงการไทยนิยมยั่งยืน ที่ท่านนายกรัฐมนตรีสนับสนุนและระดมสรรพกำลังลงพื้นที่เป็นรายครัวเรือน เพื่อพัฒนาและร่วมแก้ไขปัญหาที่แตกต่างตรงความต้องการในแต่ละชุมชนท้องถิ่น

ดังนั้น โครงการ“หมู่บ้านวิทย์ฯ…แนวคิดศาสตร์พระราชา” จึงเป็นการรวมพลังสององค์กร ได้แก่กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และสำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง ร่วมกันเทิดพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ผู้ทรงคิดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ด้วยการลงมือทำและก้าวไปด้วยกัน โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง เพื่อให้ชุมชนสามารถอยู่ได้ด้วยตนเองอย่างยั่งยืน

เราจะรุกไปข้างหน้า เสริมสร้างระบบพัฒนาคนให้ยั่งยืนและต่อเนื่อง สร้างความเปลี่ยนแปลง เพราะองค์ความรู้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและเป็นนวัตกรรม เป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจ และพัฒนาสังคมอย่างยั่งยืน

ในแนวทางวิทย์…สร้างคน เป็นศูนย์กลางการเรียนรู้และการพัฒนากลุ่มคนทุกช่วงวัย วิทย์…แก้จน แก้ไขปัญหากลุ่มเกษตรกรที่มีความสำคัญ เพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหาที่ยั่งยืน วิทย์…เสริมแกร่ง พัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ วิทย์…สู่ภูมิภาค

โดยกระจายองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรมสู่ระดับภูมิภาคเพื่อให้เกิดการแข่งขันและการกระจายรายได้เพิ่มมากขึ้น คาดว่าหมู่บ้านที่มีความพร้อมเข้าร่วม“หมู่บ้านวิทย์ฯ…แนวคิดศาสตร์พระราชา” ได้ในปีแรกประมาณ 89 แห่ง หวังว่าหมู่บ้านวิทย์ ที่มีอยู่เดิมกว่า 380 แห่ง โดยเฉพาะหมู่บ้านวิทย์แม่ข่ายจะเป็นแหล่งเรียนรู้ร่วมมือกับ สถาบันการเรียนรู้ ของ กทบ.และได้ช่วยเหลือกันและกันอย่างมีประสิทธิภาพ

วันนี้ยังมีความสำเร็จที่น่าชื่นชมและนำมาจัดแสดง สะท้อนถึงการเพิ่มศักยภาพผู้ประกอบการในหมู่บ้านต่างๆ ด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี เครื่องจักรระดับชุมชน และนวัตกรรม โดยสำนักส่งเสริมและถ่ายทอดเทคโนโลยี ได้ส่งมอบเครื่องอบแห้งผลิตภัณฑ์อาหารแปรรูปประหยัดพลังงาน ( Heat Pump Dryer) แก่ผู้ประกอบการ 5 ราย
กิจกรรมหลักของโครงการ ประกอบด้วย 6 กิจกรรม งบประมาณรวม 28 ล้านบาท ได้แก่

1. การอำนวยการโครงการ 2. การพัฒนานวัตกรรมผลิตภัณฑ์เกษตรครบวงจร 3. การพัฒนาหมู่บ้านท่องเที่ยววิถีวิทย์ 4. การพัฒนาภูมิปัญญาผ้าทอพื้นเมืองด้วยนวัตกรรม กิจกรรมที่ 5 การพัฒนาหมู่บ้านด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน กิจกรรมที่ 6 การติดตามและประเมินผล

ดร.นพ.ปฐม สวรรค์ปัญญาเลิศ รองปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า การอำนวยการโครงการนี้ ดำเนินการโดย สำนักส่งเสริมและถ่ายทอดเทคโนโลยี สำนักงานปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ทำงานประสานกับกองทุนหมู่บ้านฯอย่างใกล้ชิด

โดยมีแนวทาง 1. คัดเลือกพื้นที่หมู่บ้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พร้อมลงฐานข้อมูลเชิงพื้นที่ 2. คัดเลือกเทคโนโลยีที่เหมาะสมในแต่ละพื้นที่เพื่อสร้างศักยภาพในการแข่งขัน พึ่งพาตนเองได้ 3. การพัฒนาศักยภาพขีดความสามารถในด้านการบริหารจัดการด้านต่าง ๆ การพัฒนาโมเดลทางธุรกิจ การสร้างเครือข่ายและสร้างหมู่บ้านลูกข่ายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อให้เป็นหมู่บ้านแม่ข่ายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่มีขีดความสามารถ มีการพัฒนาตนเองได้อย่างยั่งยืนและเป็นตัวอย่างหมู่บ้านที่ประสบผลสำเร็จ

4. การบริหารจัดการงบประมาณสู่เครือข่าย วท. 5. การประชุมคณะกรรมการอำนวยการโครงการ และคณะทำงานอื่นที่มีการแต่งตั้งขึ้น
ในการพัฒนานวัตกรรมผลิตภัณฑ์เกษตรครบวงจร เป็นการนำเทคโนโลยีด้านการผลิตสินค้าเกษตรปลอดภัย และการนำสู่มาตรฐานการผลิตอาหารและสินค้าเกษตรทันสมัยสู่สากล

แบ่งเป็น เทคโนโลยีต้นทาง ได้แก่ เทคโนโลยีการทำเกษตรอินทรีย์ (ระบบโรงเรือน/ปุ๋ยอินทรีย์/สารชีวภัณฑ์) , การทำแผนที่รายแปลง/พื้นที่ด้วยระบบ GIS เทคโนโลยีเกษตรโดยใช้ระบบอัตโนมัติ (ระบบโรงเรือน/ระบบน้ำ/ระบบการให้สารเคมี), การผลิตปุ๋ยอินทรีย์คุณภาพสูง, การจัดการแปลงปลูกเพื่อเกษตรอินทรีย์, การใช้เทคโนโลยีเกษตรอัจฉริยะควบคุมการผลิตพืชราคาสูง

ส่วนเทคโนโลยีกลางทาง ได้แก่ การพัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์แปรรูป การพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่จากวัตถุดิบในพื้นที่ การพัฒนามาตรฐานการผลิตภัณฑ์แปรรูป การพัฒนาบรรจุภัณฑ์ที่เหมาะสมกับตลาด สำหรับ เทคโนโลยีปลายทาง เป็นการใช้ระบบ QR Code มาส่งเสริมการบริหารผลิตภัณฑ์ ระบบตลาดออนไลน์

การพัฒนาหมู่บ้านท่องเที่ยววิถีวิทย์ เน้นการใช้เทคโนโลยีเพื่อพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวให้เป็นเมืองสีเขียว สะอาด สุขภาพดี Green Clean Zone City โดยมีการใช้เทคโนโลยีต้นทาง ได้แก่ พัฒนาระบบสารสนเทศและความปลอดภัยเพื่อการท่องเที่ยว (Smart City and Tourism) , เทคโนโลยีการจัดการขยะระดับชุมชน ด้วยระบบ MBT, เทคโนโลยีการวิเคราะห์ทดสอบ, การใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและภูมิปัญญาท้องถิ่น

ส่วน เทคโนโลยีกลางทาง เช่น การพัฒนาผลิตภัณฑ์ประจำถิ่น อาทิ สมุนไพร ผลิตภัณฑ์จากโคลน น้ำแร่ สบู่ เวชสำอาง, การยกระดับมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน, การบริหารจัดการแหล่งท่องเที่ยวอย่างเป็นระบบครบวงจร ตลอดจน เทคโนโลยีปลายทาง เช่น การพัฒนาระบบการท่องเที่ยวออนไลน์ , พัฒนาบรรจุภัณฑ์/ตราสินค้า, สร้างมัคคุเทศน์หมู่บ้าน และเยาวชนมัคคุเทศน์ ( local Guide / Young Smart Guide) รวมทั้งนักวิทย์ชุมชน, การพัฒนาและส่งเสริมการตลาดด้วยระบบ DE, สร้างบุคลากร/วิทยากร/Young Smart Farmer/ นักวิทย์ชุมชน

การพัฒนาภูมิปัญญาผ้าทอพื้นเมืองด้วยนวัตกรรม เทคโนโลยีต้นทาง เช่น การพัฒนาการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมในฤดูแล้ง อาทิ โพลิเมอร์ดูดซึมน้ำสูง ระบบควบคุมน้ำอัตโนมัติไคโตซานเร่งใบหม่อน เครื่องนับไข่ไหม, การพัฒนาเส้นในธรรมชาติอื่นๆ และเส้นใยผสม, การย้อมสีธรรมชาติ, เครื่องฟอกย้อมเส้นไหม, กี่ทอผ้ากึ่งอัตโนมัติ

ด้านการใช้เทคโนโลยีกลางทาง เช่น การเพิ่มคุณสมบัติของผ้าทอ เช่น การสะท้อนน้ำ กลิ่นหอม กันแสงยูวี ป้องกันการยับ ป้องกันเชื้อรา ผนึกสี การย้อมสีแบบสีรุ้ง, การออกแบบผลิตภัณฑ์ผ้าทอตามแนวทางตลาด รูปแบบมาตรฐาน ร่วมสมัย เทคโนโลยีปลายทาง เช่น ระบบตลาดออนไลน์

การพัฒนาหมู่บ้านด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน เทคโนโลยีต้นทาง เช่น การเพิ่มมูลค่าวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตรเป็นรายได้, เครื่องม้วนตอซังข้าวโพด เพื่อนำข้าวโพดไปผลิตอาหารหมักเลี้ยงโค, เครื่องม้วนใบอ้อย เพื่อผลิตเป็นเชื้อเพลิงชีวภาพ, การผลิตก๊าซชีวภาพในระดับชุมชน, การหมักข้าวโพดเป็นอาหารเลี้ยงโคขุน

รศ. นที ขลิบทอง ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติบทบาทของ กทบ. ในการพัฒนาหมู่บ้านและชุมชนอย่างยั่งยืน ตลอดระยะเวลากว่า 16 ปี ถึงปัจจุบันกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง (กทบ.) เจริญก้าวหน้า มีจำนวนกว่า 79,595 กองทุน ได้รับการอนุมัติเพิ่มทุนมาอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่ปี 2544 จนถึงปัจจุบัน มีเงินทุนหมุนเวียนกว่า 3 แสนล้านบาท โดยมีประชาชนเป็นสมาชิกกว่า 13 ล้านคน

จึงนับว่ากองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง เป็นสินเชื่อระดับย่อย (Micro-credit) ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดและมีจำนวนผู้มีส่วนร่วมมากที่สุดของประเทศไทยและมีการใช้จ่ายเงินงบประมาณครอบคลุมทุกพื้นที่ของประเทศอย่างเป็นระบบ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำสร้างโอกาสการเข้าถึงแหล่งเงินทุนหมุนเวียน พัฒนาอาชีพและสร้างรายได้

และความเข้มแข็งของกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองโดยประชาชนเพื่อประชาชนอย่างแท้จริง เช่น ร้านค้าประชารัฐ, ตลาดประชารัฐ, สินค้าจากผลิตผลและผลิตภัณฑ์ของกองทุนหมู่บ้าน, โรงน้ำดื่มชุมชน, แหล่งท่องเที่ยวชุมชน, สถาบันการเรียนรู้, สถาบันการเงินชุมชน โดยความร่วมมือกับภาคีภาครัฐ สถาบันการเงิน สถาบันการศึกษา ภาคเอกชน และเครือข่ายกว่า 80 องค์กร ร่วมพัฒนาทั้งด้านกฎหมาย ด้านระบบบัญชีการเงิน ด้านพัฒนาธุรกิจ และด้านเทคโนโลยี
ท่ามกลางการเปลี่ยนผ่านของดิจิตัลและเทคโนโลยีอย่างรวดเร็วของสังคมและโลก

การลงนามข้อตกลง MOU ระหว่างสำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ และกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ครอบคลุมถึงความร่วมมือที่จะนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรม มาสร้างเสริมหมู่บ้านวิทย์ฯ…แนวคิดศาสตร์พระราชา ร่วมกันพัฒนาระบบเศรษฐกิจฐานราก LOCAL ECONOMY ของประเทศสู่ไทยแลนด์ 4.0 ในอนาคต

ภายใต้ศาสตร์พระราชา ว่าด้วยหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และหลักการทรงงานของในหลวงรัชกาลที่ 10 ได้แก่ การทำความเข้าใจถึงความสำคัญในหน้าที่และความรับผิดชอบของตนให้ถ่องแท้ ร่วมกันคิดร่วมกันทำ ด้วยความอุตสาหะ เสียสละ และด้วยความสุจริตจริงใจ โดยถือประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นเป็นหลัก

ทั้งนี้ เพื่อให้กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง ได้ยกระดับเป็นองค์กรที่เข้มแข็ง และสามารถทำหน้าที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำและสร้างประโยชน์ในการพัฒนาหมู่บ้านและชุมชน รองรับยุทธศาสตร์ Thailand 4.0 ได้อย่างแท้จริง ส่วนการติดตามและประเมินผลโครงการนี้ จะมีการติดตามการดำเนินงานราย 3 เดือน ทั้งระบบออนไลน์ และ การลงพื้นที่จริง