กรมชลจับมือกฟผ.เดินหน้าผลิตไฟฟ้าพลังน้ำ’เขื่อนผาจุก’

เมื่อวันที่ 8 มีนาคม ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีฝ่ายบริหาร นายประพิศ จันทร์มา รองอธิบดีฝ่ายก่อสร้าง กรมชลประทาน ร่วมกับ นายสหรัฐ บุญโพธิภักดี รองผู้ว่าการพลังงานหมุนเวียนและพลังงานใหม่ นายวิวัฒน์ ชาญเชิงพานิช รองผู้ว่าการพัฒนาโรงไฟฟ้า ลงนามบันทึกข้อตกลงหรือเอ็มโอยู การพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำท้ายเขื่อนผาจุก จ.อุตรดิตถ์ ที่ห้องประชุมเกษม จาติกวณิช ชั้น 9 อาคาร ต.040 การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย

ดร.ทวีศักดิ์ กล่าวว่า กรมชลประทาน ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงการพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำขนาดเล็กท้ายเขื่อนชลประทานเพิ่มขึ้นอีก 1 แห่ง คือ เขื่อนผาจุก กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ซึ่งเป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 12 กันยายน 2560 ที่อนุมัติในหลักการให้ดำเนินการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนผาจุก จังหวัดอุตรดิตถ์ ตามที่กระทรวงพลังงานเสนอ โดยโรงไฟฟ้าแห่งนี้จะมีกำลังการผลิตรวม 14 เมกะวัตต์ แบ่งเป็น 2 ชุด ชุดละ 7 เมกะวัตต์ ชุดแรกจะเริ่มจ่ายไฟฟ้าในเชิงพาณิชย์ประมาณเดือนธันวาคม 2563 ส่วนชุดที่ 2 จะเริ่มจ่ายไฟฟ้าในเชิงพาณิชย์ประมาณเดือนกุมภาพันธ์ 2564

ทั้งนี้ การดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำขนาดเล็กท้ายเขื่อนชลประทานดังกล่าว เป็นการบูรณาการบริหารจัดการน้ำที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ด้วยการนำน้ำที่ระบายผ่านเขื่อนทดน้ำผาจุกมาใช้ประโยชน์ในการผลิตกระแสไฟฟ้า โดยจะไม่กระทบต่อวัตถุประสงค์ของการใช้น้ำเดิม ไม่ว่าจะเป็นการใช้น้ำเพื่ออุปโภคบริโภค การเกษตร การรักษาระบบนิเวศ หรือกิจกรรมใช้น้ำในภาคส่วนอื่นๆ

โรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนผาจุก นอกจากจะผลิตพลังงานไฟฟ้าเข้าระบบได้ปีละ 90 ล้านหน่วยแล้ว ยังจะช่วยลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึงปีละ 45,833 ตัน ถือเป็นพลังงานที่สะอาด ต้นทุนต่ำ และมีอายุการใช้งานที่ยาวนานกว่าพลังงานหมุนเวียนอื่นๆ เป็นการสนองนโยบายรัฐบาลตามแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก รวมทั้งยังเป็นการส่งเสริมให้ใช้ทรัพยากรในประเทศ และมีการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนพัฒนาไฟฟ้าโรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนผาจุก เพื่อใช้ในการพัฒนาด้านต่างๆ ให้กับชุมชนใกล้เคียงอีกด้วย

สำหรับโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำท้ายเขื่อนชลประทานที่เขื่อนผาจุกถือเป็นโครงการล่าสุดที่กรมชลประทานและกฟผ. ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงร่วมกัน ตามยุทธศาสตร์ด้านพลังงานของรัฐบาลที่มุ่งเน้นการส่งเสริมและพัฒนาการใช้พลังงานหมุนเวียน เพื่อลดสัดส่วนการนำเข้าพลังงานจากต่างประเทศ

ซึ่งยุทธศาสตร์ประการหนึ่งคือการส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานน้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยได้มอบหมายให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นผู้รับผิดชอบ และให้กระทรวงพลังงานเป็นผู้สนับสนุนด้านเทคนิค การวางแผน และการพัฒนา ที่ผ่านมาได้มีการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังน้ำท้ายเขื่อนชลประทานไปแล้ว 6 แห่ง ประกอบด้วย เขื่อนเจ้าพระยา เขื่อนขุนด่านปราการชล เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ เขื่อนนเรศวร เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนแม่กลอง รวมกำลังการผลิตทั้งสิ้น 78.7 เมกะวัตต์

“กรมชลประทานและกฟผ. พร้อมที่จะบูรณาการเพื่อพัฒนาและสร้างโรงไฟฟ้าพลังน้ำขนาดเล็กท้าย เขื่อนชลประทาน อ่างเก็บน้ำ และฝายต่างๆ ทั่วประเทศกว่า 6,000 แห่ง ที่มีศักยภาพ รวมทั้งพร้อมที่จะพัฒนาและนำพลังงานจากน้ำมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดในอนาคต”ดร.ทวีศักดิ์ กล่าว

นายประพิศ จันทร์มา รองอธิบดีฝ่ายก่อสร้าง กรมชลประทาน