โรคใหลตาย

ใหลตาย หรือ sudden unexplained (unexpected) nocturnal death syndrome (SUND) ใช้เรียกการเสียชีวิตซึ่งเกิดขึ้นในขณะหลับ โดยมักมีอาการคล้ายหายใจไม่สะดวก อาจเกิดเสียงร้องคล้ายละเมอก่อนเสียชีวิต (เป็นที่มาของคำว่า “ใหล” ที่หมายถึงละเมอ) มักเกิดในผู้ชายวัยหนุ่มที่ปกติแข็งแรงดีก่อนเข้านอน แต่ต่อมาพบว่าเสียชีวิตในตอนเช้าวันถัดไป จึงเป็นที่มาของความเชื่อพื้นบ้านในแถบภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทยว่า เกิดจากผีแม่ม่ายมาพาชายหนุ่มไปอยู่ด้วย จากการศึกษาในกลุ่มผู้ป่วยที่รอดชีวิต พบว่า ใหลตายส่วนใหญ่มีความผิดปกติของคลื่นไฟฟ้าหัวใจลักษณะบรูกาดา (Brugada pattern) โดยไม่พบความผิดปกติของโครงสร้างและการทำงานส่วนอื่นๆ ของหัวใจ การเสียชีวิตเกิดจากหัวใจห้องล่างเต้นพลิ้ว (ventricular fibrillation, VF) ซึ่งมักพบขณะหลับ ทางการแพทย์เรียกกลุ่มอาการนี้ว่า กลุ่มอาการบรูกาดา (Brugada syndrome)

อาการใหลตาย ส่วนใหญ่เกิดจากหัวใจที่เต้นผิดจังหวะขั้นรุนแรงที่สุด ทำให้ไม่สามารถสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงอวัยวะส่วนต่างๆ โดยเฉพาะสมองได้ เมื่อสมองขาดออกซิเจนอาจแสดงอาการชักเกร็ง หายใจครืดคราดผิดปกติคล้ายนอนละเมอ เรียกไม่รู้ตัว โดยความผิดปกติมักพบในขณะนอนหลับ ผู้ป่วยจะเสียชีวิตถ้าการเต้นผิดจังหวะของหัวใจนั้นเกิดนาน และไม่ได้รับการรักษา แต่ผู้ป่วยอาจจะรอดชีวิตฟื้นขึ้นมาได้กรณีที่การเต้นผิดจังหวะของหัวใจหยุดเอง หรือได้รับการรักษาที่เหมาะสม อันได้แก่ การช็อกหัวใจ หรือการปั๊มหัวใจ นอกจากใหลตายจะพบบ่อยขณะที่ผู้ป่วยหลับแล้ว ก็ยังอาจพบได้ในขณะตื่นเช่นกัน โดยอาการอาจเกิดใจสั่นช่วงสั้นๆ หรืออาการวูบเป็นลมหมดสติได้

โรคนี้มักพบในเพศชายวัยทำงาน (อายุ 25-55 ปี) แต่ก็สามารถพบได้ทั้งในเพศหญิง เด็ก หรือผู้สูงอายุได้เช่นกัน สำหรับในประเทศไทย พบมากที่สุดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคเหนือ ผู้ป่วยจำนวนมากมีประวัติการเป็นใหลตายในครอบครัว ปัจจุบันเป็นที่ยอมรับกันว่าความผิดปกติทางพันธุกรรมเป็นสาเหตุที่สำคัญของโรคนี้ แต่ยังไม่รู้รายละเอียดที่แน่ชัด

ยังไม่มีการรักษาใดที่สามารถป้องกันหรือหยุดการเกิดหัวใจเต้นผิดจังหวะได้ทั้งหมด การรักษาจึงมุ่งหวังให้เกิดภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะน้อยครั้งที่สุด และระยะเวลาที่หัวใจเต้นผิดจังหวะแต่ละครั้งสั้นที่สุด ก่อนที่ผู้ป่วยจะหมดสติหรือเสียชีวิต

วิธีการคือ 1. หลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นที่ทำให้เกิดหัวใจเต้นผิดจังหวะ ได้แก่ ดื่มแอลกอฮอล์ ภาวะตึงเครียดของร่างกาย เช่น พักผ่อนไม่เพียงพอ ออกกำลังกายหรือทำงานหนัก กินอาหารที่มีแป้งและน้ำตาลปริมาณมาก 2. ใส่เครื่องกระตุกไฟฟ้าหัวใจอัตโนมัติ 3. จี้หัวใจด้วยคลื่นวิทยุความถี่สูง

กรณีที่มีประวัติครอบครัวเป็นใหลตาย หรือมีอาการสงสัย ควรเข้ารับการตรวจจากแพทย์เพื่อประเมินความเสี่ยง และตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ เพื่อวางแผนการตรวจเพิ่มเติมเพื่อการวินิจฉัยและรักษาที่เหมาะสม

ที่มา : ขอบคุณข้อมูลจาก ศ.นพ. ยง ภู่วรวรรณ

หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก

ภาควิชากุมารเวชศาสตร์

รพ.จุฬาลงกรณ์ และ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย