เกษตรจังหวัดลำปาง รณรงค์ ควบคุมไนเตรทในผลสับปะรด

นายธวัชชัย สิทธิวีระกุล เกษตรจังหวัดลำปาง กล่าวว่า สำนักงานเกษตรจังหวัดลำปาง ตระหนักถึงความสำคัญของการแก้ไขปัญหาไนเตรทตกค้างในผลสับปะรดของเกษตรกร ซึ่งหากมีปริมาณตกค้างสูง จะไปทำปฏิกิริยากับดีบุกที่เคลือบผิวด้านใน ของกระป๋อง ทำให้ด้านในของกระป๋องเกิดเป็นสีดำ เป็นผลเสียต่อคุณภาพการผลิตและส่งออกสับปะรดกระป๋อง โดยโรงงานจะสุ่มตรวจหาปริมาณไนเตรทในผลสับปะรดสดจากเกษตรกรก่อนรับซื้อ หากมีปริมาณไนเตรทสูงเกินมาตรฐาน โรงงานจะไม่รับซื้อ หรือรับซื้อในราคาต่ำ ทำให้เกิดความเดือดร้อนแก่เกษตรกรผู้ผลิตสับปะรดบ่อยครั้ง สำนักงานเกษตรจังหวัดลำปาง จึงมีคำแนะนำ “การแก้ไขปัญหาไนเตรทตกค้างในผลสับปะรด” จากสถาบันวิจัยเทคโนโลยีเกษตร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา มาประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรได้นำไปปฏิบัติดังนี้

แหล่งที่มาของสารไนเตรท

  1. ปุ๋ยวิทยาศาสตร์ ที่มีสารประกอบทางเคมีที่ให้ธาตุไนโตรเจน (N) เช่น สูตร 21-0-0,

46-0-0, 15-15-15 และ 13-13-21 เป็นต้น

  1. ปุ๋ยอินทรีย์ เช่น ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอก ซากพืช และซากสัตว์ เมื่ออยู่ในดิน

จะถูกแบคทีเรียเปลี่ยนรูปเป็นไนเตรท ซึ่งพืชสามารถดูดซึมไปใช้ได้

  1. บรรยากาศ ในบรรยากาศเมื่อเกิดฟ้าแลบ ฟ้าผ่า และฝนตก ธาตุไนโตรเจนก็จะติดมากับฝน ตกลงบนพื้นดิน

ผลเสียของการที่สารไนเตรทในผลสับปะรด สูงกว่า 25 ppm

ทำให้ดีบุกที่เคลือบในกระป๋องหลุดลอกออกมา ทำให้กระป๋องมีสีดำ

  1. ทำให้สับปะรดกระป๋องมีอายุการเก็บรักษาสั้นลง จาก 3 ปี เหลือ 1 ปี

สาเหตุของการมีสารไนเตรทตกค้างในสับปะรด เกิดจาก 2 ปัจจัย ดังนี้     

  1. เกิดจากการใช้ธาตุไนโตรเจนของสับปะรดไม่หมด ซึ่งสามารถควบคุมได้ โดยหลังจากการบังคับดอกแล้ว เกษตรกรควรหลีกเลี่ยงการใช้ปุ๋ยที่ให้ธาตุไนโตรเจนทางดิน หันมาให้ปุ๋ยโดยวิธีการฉีดพ่นทางใบแทน เพราะสับปะรดจะสามารถนำปุ๋ยไปใช้ได้หมด ส่วนที่ตกค้างจะอยู่ที่ใบหรือจุกสับปะรดแทนที่จะอยู่ในผล
  2. เกิดจากสภาพดินฟ้าอากาศ เมื่อมีฝนตก สับปะรดจะได้รับธาตุไนโตรเจน มาพร้อมกับสายฝนโดยตรง  ซึ่งในสถานการณ์นี้เกษตรกรจำเป็นต้องทิ้งช่วงเวลาเก็บเกี่ยว ไม่เก็บเกี่ยวสับปะรดในช่วงที่ฝนตกใหม่ๆ

การควบคุมไนเตรทในผลสับปะรด

เกษตรกรต้องปฏิบัติตามคำแนะนำ และหลักวิธีการปฏิบัติที่ถูกต้อง (2 ห้าม 2 ต้อง) ดังนี้

  1. 1. ห้ามใส่ปุ๋ยที่ให้ธาตุไนโตรเจนทางดินหลังการบังคับดอก หรือหลังออกดอก แต่ให้ปุ๋ยโดยการฉีดพ่น ทางใบ เพราะสับปะรดจะสามารถนำปุ๋ยไปใช้ได้หมด ส่วนที่ตกค้างอาจจะอยู่ที่ใบหรือจุกสับปะรด แทนที่จะตกค้างในผล และไม่ใช้สารเคมีเร่งสับปะรดสุกก่อนกำหนด
  2. 2. ห้ามทำลายจุกสับปะรดก่อนการเก็บเกี่ยวผลผลิต
  3. 3. ต้องเก็บสับปะรดสุกพอดี ไม่น้อยกว่า 25 % หรือสุกตั้งแต่ 2-3 ตา ขึ้นไปจำหน่าย
  4. ต้องปฏิบัติตามคำแนะนำของราชการ หรือสถาบันการศึกษา/วิจัย เพื่อให้สับปะรดได้มาตรฐาน GAP

 

ที่มา : สันติ ช่างเจรจา ชิติ ศรีตนทิพย์ และ ยุทธนา เขาสุเมรุ สถาบันวิจัยเทคโนโลยีเกษตร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม ได้ที่ นางสาวจิตติมา กาบเย็น นวส.ชำนาญการ, นางกาญจนาภรณ์ พรรณกมลกุล นวส.ชำนาญการ สำนักงานเกษตรจังหวัดลำปาง เลขที่ 37 ม.6 ก.ม. ที่ 6-7 ถนนลำปาง-เชียงใหม่ ต.ปงแสงทอง อ.เมืองลำปาง จ.ลำปาง 52100  โทร. 054-829697

สิริพร จันทน์เกษร นวส.ชำนาญการ/รายงาน