คืนสู่ทะเลไทย! ปล่อยปูม้า 6 ล้านตัว คาดสร้างรายในอนาคตกว่า 7 ล้านบาท

ผู้สื่อข่าวรายงานจากจังหวัดภูเก็ตว่า ที่ป่าชายเลน บ้านท่าฉัตรไชย อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต นายนรภัทร ปลอดทอง ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต พร้อมด้วย นายกองโท อดุลย์ ชูทอง นายอำเภอถลาง นายโกวิทย์ เก้าเอี้ยน ประมงจังหวัดภูเก็ต นายทวี หอมหวล โยธาธิการและผังเมืองจังหวัดภูเก็ต นางศิรวี วาเล๊าะ ท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดภูเก็ต นายพิชิฏฏ์ ชิด ไพฑูรย์ ท้องถิ่น จังหวัดภูเก็ต นางบุษยา ใจเปี่ยม ประชาสัมพันธ์จังหวัดภูเก็ต นายเก้า แซ่ลิ้ม ประธานกลุ่มประมงพื้นบ้านบ้านท่าฉัตรไชย เครือข่ายประมงพื้นบ้านและประชาชน พร้อมด้วยประชาชนและสื่อมวลชน ร่วมปล่อยปูม้า ภายใต้กิจกรรม “คืนปูม้าสู่ทะเลไทย”

โดยมีสำนักงานประมงจังหวัดภูเก็ตเป็นเจ้าภาพ บูรณาการร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ทั้งกลุ่มประมงพื้นบ้านและแปรรูปสัตว์น้ำบ้านท่าฉัตรไชย กลุ่มประมงพื้นบ้านแหลมทราย ซึ่งเป็นกลุ่มที่จัดทำธนาคารปูม้าในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต เพื่อเพิ่มปริมาณปูม้าและเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศและทรัพยากรธรรมชาติชายฝั่งทะเลอันดามัน

ด้าน นายนรภัทร ปลอดทอง ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า คณะรัฐมนตรีมีมติ วันที่ 6 มีนาคม 2561 เห็นชอบการขยายผลธนาคารปูม้า เพื่อ “คืนปูม้าสู่ทะเลไทย” ไปสู่ชุมชนอื่นในชุมชนชายฝั่งทะเล จำนวน 500 ชุมชน ภายในระยะเวลา 2 ปี ตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ด้วยการลดความเหลื่อมล้ำและการอยู่กับธรรมชาติอย่างเท่าเทียม สำหรับกิจกรรมคืนปูม้าสู่ทะเลไทยในครั้งนี้ นับว่าเป็นประโยชน์อย่างยิ่งที่จะช่วยเพิ่มปริมาณปูม้าในทะเล ซึ่งเป็นทรัพยากรสัตว์น้ำที่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจ เป็นที่นิยมในการบริโภค และเป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญของประเทศ

“การทำธนาคารปูม้าของจังหวัดภูเก็ต เกิดขึ้นจากการรวมตัวของกลุ่มประมงพื้นบ้านบ้านท่าฉัตรไชยและบ้านแหลมทราย เพื่อแก้ปัญหาปริมาณปูม้าที่ลดลงในทะเลอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนเป็นการอนุรักษ์ทรัพยากรปูม้า ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมชายฝั่งทะเลอันดามัน โดยการมีส่วนร่วมของชุมชนที่มีการบริหารจัดการตามกลไกประชารัฐ เพื่อให้อาชีพประมงเป็นอาชีพที่มีความมั่นคง มีรายได้ และทำให้ชุมชนมีความเข้มแข็งอย่างยั่งยืน สำหรับจำนวนพันธุ์ปูม้าที่ปล่อยคืนสู่ทะเลอันดามันในครั้งนี้ มีจำนวน 6,010,000 ตัว จากแม่ปูม้า จำนวน 12 แม่ คิดเป็นมูลค่ารายได้ที่จะเกิดขึ้นแก่ชาวประมงพื้นบ้านในอนาคตกว่า 7.21 ล้านบาท” นายนรภัทร กล่าว

นอกจากนี้ ธนาคารปูม้า ยังเป็นกิจกรรมที่อนุรักษ์ทรัพยากรปูม้าโดยชุมชนมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการ ถือเป็นภูมิปัญญาพื้นบ้านของกลุ่มชาวประมง ที่นำแม่ปูที่มีไข่นอกกระดองมาขังไว้ในถังที่มีออกซิเจนหรือปล่อยไว้ในคอกเพื่อให้แม่ปูม้ามีโอกาสปล่อยไข่กลับคืนสู่ธรรมชาติก่อนจะทำแม่ปูม้าไปจำหน่าย หรือใช้ประโยชน์และนำลูกปูม้าวัยอ่อนคืนสู่ทะเลเติบโตเป็นปูม้าขนาดใหญ่ต่อไป ฉะนั้น การรวมกลุ่มของชาวประมงทำธนาคารปูม้าจึงเป็นการเพิ่มขึ้นของทรัพยากรสัตว์น้ำ เป็นการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรสัตว์น้ำชายฝั่งให้มีความอุดมสมบูรณ์ ชาวประมงมีรายได้เพิ่มขึ้น มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เศรษฐกิจฐานรากของประเทศมีความเข้มแข็งอย่างยั่งยืน

ด้าน นายเก้า แซ่ลิ้ม ประธานกลุ่มประมงพื้นบ้านบ้านท่าฉัตรไชย ตำบลไม้ขาว อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า ปัจจุบัน ธนาคารปูม้าจังหวัดภูเก็ต โดยกลุ่มประมงพื้นบ้านและแปรรูปสัตว์น้ำบ้านท่าฉัตรไชยได้ดำเนินการโดยมีสมาชิกในกลุ่ม ประมาณ 15 ราย และได้รับความร่วมมือจากประชาชนในพื้นที่ให้การสนับสนุน ธนาคารปูม้าจึงเกิดผลเป็นรูปธรรมเป็นอย่างดี

“อยากจะขอความร่วมมือชาวประมงพื้นบ้านที่อยู่ในพื้นที่ทุกคน หากทำการดักลอบจับปูม้าที่มีไข่อยู่นอกกระดอง ขอให้นำมาฝากได้ที่ธนาคารปูม้า เพื่อจะได้ให้แม่ปูได้สลัดไข่ตัวอ่อนออก และนำลูกปูม้าตัวอ่อนขยายพันธุ์คืนสู่ธรรมชาติ คืนความอุดมสมบูรณ์ให้แก่ทรัพยากรธรรมชาติของทะเลฝั่งอันดามัน และขอความร่วมมือนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาท่องเที่ยวในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต ให้ช่วยกันรักษาสิ่งแวดล้อม ไม่ทิ้งขยะลงในทะเลและแหล่งท่องเที่ยว เพื่อให้การท่องเที่ยวของจังหวัดภูเก็ตมีความยั่งยืนตลอดไป” นายเก้ากล่าว

 

ที่มา : ประชาชาติธุรกิจออนไลน์