ส. อาหารสัตว์ เร่งรัฐเดินหน้า มาตรการตรวจสอบย้อนกลับข้าวโพด ตอบโจทย์ลูกค้า EU ก่อนใช้จริง…หวั่นไทยเจอประวัติศาสตร์ซ้ำรอยประมง

นายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย เปิดเผยว่า องค์กรระหว่างประเทศให้ความสำคัญกับห่วงโซ่การผลิตอาหารที่ต้องคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การตรวจสอบย้อนกลับที่มาของอาหาร ดังเช่นที่ปรากฏในอุตสาหกรรมประมงของประเทศไทย ในกลุ่มปศุสัตว์ก็เช่นกัน การตรวจสอบย้อนกลับถึงที่มาของวัตถุดิบข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ จะถูกนำมาเป็นเงื่อนไขในการสั่งซื้อสินค้าของคู่ค้าในสหภาพยุโรป ซึ่งประเทศไทยจำเป็นต้องมียุทธศาสตร์การจัดการข้าวโพด เพื่อสร้างความยั่งยืนให้ทั้งห่วงโซ่การผลิตอาหาร หากภาครัฐยังไม่เร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จโดยด่วน คาดว่าจะเกิดความเสียหายกับอุตสาหกรรมอาหารทั้งระบบภายใน 1-2 ปี ข้างหน้า

“สมาคมมุ่งพัฒนากระบวนการผลิตข้าวโพดบนพื้นที่ที่ถูกต้อง ไม่บุกรุกป่า ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม โดยในช่วง 3-4 ปี ที่ผ่านมา มีความพยายามสื่อสารให้ทุกคนที่เกี่ยวข้องในห่วงโซ่การผลิตอาหาร ได้ทราบถึงกระแสการค้าโลกที่มุ่งเน้นในเรื่องการผลิตเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมาโดยตลอด ตลอดจนร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จัดทำคู่มือมาตรฐานการเพาะปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์อย่างยั่งยืนขึ้น ภายใต้การสนับสนุนทุนของสํานักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) รวมถึง พยายามผลักดันให้มีการบังคับใช้มาตรฐาน GAP ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ โดยมีการหารือกับกระทรวงเกษตรฯ หลายครั้ง แต่ยังไม่เห็นผลเป็นรูปธรรม ขณะที่สมาคมมีแผนจะรับซื้อผลผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่มีเอกสารถูกต้องเพิ่มมากขึ้นในต้นปีหน้า” นายพรศิลป์ กล่าว

ที่ผ่านมา สมาคมได้แสดงเจตจำนงอย่างชัดเจนที่จะไม่รับซื้อข้าวโพดในพื้นที่รุกป่า เพื่อสร้างความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม และยังพยายามช่วยรัฐหาทางออก โดยร่วมเสนอยุทธศาสตร์การจัดการข้าวโพดกับภาครัฐ และมีภาครัฐ อาทิ คู่มือ โดยกรมส่งเสริมการเกษตรเป็นแม่งานที่ดำเนินการจัดทำทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดในฤดูกาลผลิต ปี 2560/61

ทั้งนี้ กรมส่งเสริมการเกษตร จะเป็นหน่วยงานหลักที่ต้องพัฒนาระบบตรวจสอบย้อนกลับที่มาของวัตถุดิบ เพื่อตรวจสอบที่มาของข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ทั้งพื้นที่เพาะปลูก รวมถึงสถานะการซื้อ-ขาย ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในพื้นที่นั้น เพื่อใช้เป็นข้อมูลกลางให้ภาคธุรกิจนำไปใช้ประโยชน์ แต่จนถึงขณะนี้ระบบดังกล่าวก็ยังไม่สามารถใช้ได้ ซึ่งก่อให้เกิดผลกระทบในลักษณะที่พ่อค้าพืชไร่สามารถใช้เอกสารสิทธิที่ดินทำกินฉบับเดียวไปใช้ซ้ำหลายรอบ ประกอบการขายข้าวโพดให้ผู้ผลิตอาหารสัตว์ในปริมาณเกินจริง หมายความว่า ข้าวโพดรุกป่าจะถูกสวมสิทธิ์ว่าเป็นข้าวโพดที่ปลูกบนพื้นที่ถูกต้อง ก่อให้เกิดข้อเสียตามมามากมาย โดยเฉพาะประเด็นการทำลายสิ่งแวดล้อมที่จะยังคงไม่ได้รับการแก้ไข และยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้นเมื่อราคาข้าวโพดสูงเป็นประวัติศาสตร์ดังเช่นที่กำลังเกิดขึ้นในขณะนี้ ส่งผลกระทบต่อเนื่องไปถึงปัญหามลพิษด้านหมอกควัน

ภาครัฐ จำเป็นต้องเป็นตัวกลางในการดูแลระบบตรวจสอบย้อนกลับข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ซึ่งนับเป็นฟันเฟืองสำคัญที่จะช่วยให้การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ข้าวโพดยั่งยืนเดินหน้าต่อไปได้ ก่อนที่จะสายเกินแก้ และต้องเสียรู้ให้ต่างชาติใช้เป็นข้ออ้างในการกีดกันการค้าของประเทศไทยในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า

“เรามีความกังวลว่า หากการพัฒนาระบบดังกล่าวล่าช้า จะก่อให้เกิดเป็นปัญหาเช่นเดียวกับ IUU ที่อุตสาหกรรมประมงของไทยต้องประสบ ซึ่งทำให้ภาคธุรกิจประมงต้องปรับตัวกันยกใหญ่ และเกิดความเสียหายไปมิใช่น้อย สมาคมจึงขอเสนอให้ กรมส่งเสริมการเกษตร เร่งเดินหน้าจัดทำระบบตรวจสอบย้อนกลับ รวมถึงการออกใบรับรองการเพาะปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เช่นเดียวกับที่ กรมประมง ออกใบรับรองการจับสัตว์น้ำไทยอย่างเร่งด่วนที่สุด” นายพรศิลป์ กล่าวทิ้งท้าย

อนึ่ง ข้อมูลกรมพัฒนาที่ดิน ปี 2556 ระบุว่า พื้นที่เพาะปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ 7.84 ล้านไร่ เป็นพื้นที่ป่า 3.72 ล้านไร่ และไม่เหมาะสมในการเพาะปลูก 0.89 ล้านไร่ เหมาะสมน้อยอีก 1.32 ล้านไร่ แสดงให้เห็นว่าพื้นที่กว่าครึ่งหนึ่ง ต้องเลิกปลูกข้าวโพด เพราะผิดกฎหมายและปลูกไปก็ไม่ได้ผลผลิตที่ดี การใช้พื้นที่เพาะปลูกที่ไม่เหมาะสมนี้คือต้นตอของปัญหาการด้อยประสิทธิภาพในการผลิตข้าวโพดไทย ทำให้ไม่สามารถพัฒนาผลผลิตเฉลี่ยของทั้งประเทศได้ทัดเทียมประเทศเพื่อนบ้าน

Advertisement