เจาะดัชนีเกษตร Q1 ข้าวเปลือก-มัน-ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ สร้างรายได้เกษตรกร เล็งทั้งปี ดัชนีรายได้ขยายตัว

สศก. เผย ดัชนีเศรษฐกิจการเกษตร ไตรมาส 1 ผลผลิตขยายตัวเพิ่มขึ้น ในขณะที่ดัชนีราคาและรายได้ลดลง เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ระบุ ไตรมาส 1 กลุ่มสินค้าข้าวเปลือก มันสำปะหลัง และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ช่วยสร้างรายได้เกษตรกร อย่างไรก็ตาม มั่นใจว่า ทั้งปี 61 ดัชนีรายได้ยังคงขยายตัวต่อเนื่อง จากการขับเคลื่อนนโยบายภาคเกษตร ภาวะเศรษฐกิจโลกที่ดีขึ้น และสภาพอากาศที่เอื้ออำนวยต่อการผลิต

นายวิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงผลการวิเคราะห์ทิศทางการเติบโตของภาวะเศรษฐกิจการเกษตร โดยวัดจากดัชนีเศรษฐกิจการเกษตร ซึ่งประกอบด้วย ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตร ดัชนีราคาสินค้าเกษตรที่เกษตรกรขายได้ และดัชนีรายได้เกษตรกร โดยผลการวิเคราะห์ดัชนีเศรษฐกิจการเกษตรช่วงไตรมาส 1 ปี 2561 (มกราคม-มีนาคม 2561) ข้อมูล ณ วันที่ 19 มีนาคม 2561 พบว่า

ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตร ไตรมาส 1 ปี 2561 อยู่ที่ระดับ 138 สูงกว่า ไตรมาส 1 ปี 2560 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 127 (เพิ่มขึ้น ร้อยละ 8) โดยดัชนีผลผลิตในหมวดพืชผล เพิ่มขึ้น ร้อยละ 10  หมวดประมง เพิ่มขึ้น ร้อยละ 5 และหมวดปศุสัตว์ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 3 ตามลำดับ

ดัชนีราคาสินค้าเกษตรที่เกษตรกรขายได้ ไตรมาส 1 ปี 2561 อยู่ที่ระดับ 126 ลดลงจาก ไตรมาส 1 ปี 2560 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 146 (ลดลง ร้อยละ 13) โดยดัชนีราคาในหมวดพืชผล ลดลง ร้อยละ 14 หมวดประมง ลดลง ร้อยละ 13 และ หมวดปศุสัตว์ ลดลง ร้อยละ 11 ตามลำดับ

ดัชนีรายได้เกษตรกร ไตรมาส 1 ปี 2561 อยู่ที่ระดับ 175 ลดลงจาก ไตรมาส 1 ปี 2560 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 186 (ลดลง ร้อยละ 6) โดยดัชนีรายได้เกษตรกรในหมวดปศุสัตว์ ลดลง 9 หมวดประมง ลดลง ร้อยละ 8 และหมวดพืชผล ลดลง ร้อยละ 5 ตามลำดับ

ด้าน นายฉันทานนท์ วรรณเขจร รองเลขาธิการ สศก. กล่าวเสริมว่า เมื่อพิจารณากลุ่มสินค้าที่สามารถสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกร ในไตรมาส 1 ปี 2561 พบว่า กลุ่มธัญพืชและพืชอาหาร เพิ่มขึ้น ร้อยละ 18 โดยสินค้าพืชสำคัญที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ข้าวเปลือก มันสำปะหลัง และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ กลุ่มพืชผักเพิ่มขึ้น ร้อยละ 12 โดยสินค้าสำคัญที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ กระเทียม และมันฝรั่ง ซึ่งรายได้เกษตรกรในกลุ่มสินค้าที่เพิ่มขึ้น เป็นผลมาจากนโยบายและมาตรการของภาครัฐ ที่ออกมาเพื่อสนับสนุนและแก้ไขปัญหาราคาที่จะเกิดขึ้น ประกอบกับภาวะเศรษฐกิจและตลาดโลกมีความต้องการสินค้าเกษตร อาทิ มันสำปะหลัง ผลผลิตออกมาไม่เพียงพอต่อความต้องการของผู้ประกอบการเพื่อการส่งออกและเก็บสต๊อก จึงให้ราคามันสำปะหลังโดยเฉลี่ย ไตรมาส 1 ปี 2561 เพิ่มขึ้น ร้อยละ 42 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา (ไตรมาส 1 ปี 2560) รวมถึง สินค้าข้าว ซึ่งได้มีโครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี 2560/61 ส่งผลต่อราคาข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% โดยเฉลี่ยไตรมาส 1 ปี 2561 เพิ่มขึ้น ร้อยละ 3 และข้าวเปลือกเจ้าหอมมะลิ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 54 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ทำให้ภาพรวมรายได้เกษตรกรเพิ่มขึ้นในกลุ่มสินค้าดังกล่าว

การเปลี่ยนแปลงดัชนีเศรษฐกิจการเกษตร

               ทั้งนี้ แนวโน้มดัชนีรายได้เกษตรกรทั้งปี 2561 คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับ ปี 2560 จากนโยบายสำคัญ อาทิ ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) ระบบส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่  Zoning by Agri-Map และการบูรณาการร่วมในโครงการไทยนิยม ยั่งยืน ซึ่งเน้นการดำเนินการเป็นทีมทั้งในส่วนกลางและภูมิภาค ที่สามารถตอบสนองต่อความต้องการของเกษตรกรได้ครบทุกด้าน ตลอดจนภาวะเศรษฐกิจโลกที่มีทิศทางที่ดีขึ้น อันเป็นผลดีต่อการส่งออกสินค้าเกษตร และหากสภาพอากาศและปริมาณน้ำยังคงเอื้ออำนวยต่อการผลิตทางการเกษตร จะยิ่งส่งผลดีต่อดัชนีรายได้ภาคเกษตรขยายตัวต่อเนื่อง