มรภ.เพชรบุรี ตั้งศูนย์ศึกษาเกลือทะเล รวมองค์ความรู้พัฒนา “ผลิตสินค้า-บริการท่องเที่ยว”

มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี เผยว่า จากที่การทำนาเกลือถือเป็นภูมิปัญญาหนึ่งของเกษตรกร ไทยที่สามารถนำเอาน้ำทะเลที่มีคุณค่าในธรรมชาติ พัฒนาให้เป็นผลึกเกลือ โดยกระบวนการทางธรรมชาติ กระแสลมและแสงแดด ที่ทำให้น้ำทะเลมีความเค็มจนตกผลึกเป็นเกลือ ต่อมา กระบวนการผลิตได้พัฒนาโดยนำเทคโนโลยีมาช่วย ทำให้ได้ผลผลิตเกลือที่มีคุณภาพดี สะอาดและมีปริมาณมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันอาชีพการทำนาเกลือได้รับผลกระทบจากปัญหาราคาตกต่ำ และการผลิตเกลือทะเลเป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐานการบริโภค มรภ.เพชรบุรีเป็นสถาบันการศึกษาเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น จึงได้ศึกษาสภาพปัญหา บริบทการผลิตเกลือทะเลและการตลาด ตลอดจนแนวทางการพัฒนาด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยี เพื่อจัดตั้ง “ศูนย์ศึกษาเกลือทะเล” ตามมติสภา มรภ.เพชรบุรี เนื่องจากจังหวัดเพชรบุรี เป็นจังหวัดที่ผลิตเกลือทะเลมากที่สุดของประเทศไทย โดยได้ร่วมกับภาคีเครือข่ายภาครัฐและเอกชน รวมถึงเกษตรกรชาวนา เกลือทะเล วิเคราะห์ถึงสาเหตุของปัญหาและอุปสรรคในการทำนาเกลือทะเลของเกษตรกร

รศ.ดร. บัญญัติ ศิริธนาวงศ์ คณบดีคณะเทคโนโลยีการเกษตร กล่าวว่า การจัดตั้งศูนย์ศึกษาเกลือทะเล มีวัตถุประสงค์เพื่อใช้เป็นศูนย์รวมองค์ความรู้ ภูมิปัญญา วัฒนธรรมการทำเกลือทะเลและศาสตร์ที่เกี่ยวข้อง พัฒนาระบบการผลิตและการจัดการสินค้าเกลือทะเล พัฒนาศักยภาพสินค้าและบริการด้านการ ท่องเที่ยวเส้นทางสายเกลือ ยกระดับการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่นาเกลือและบริเวณโดยรอบให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมทั้งเพิ่มขีดความสามารถในการผลิตเกลือทะเลและการแข่งขันด้วยนวัตกรรม และส่งเสริมการผลิตเกลือทะเลตั้งแต่ต้นทาง กลางทางและปลายทาง รวมทั้งการสร้างโอกาสในการค้า การตลาดและการลงทุนของคลัสเตอร์เกลือทะเล

“ความคืบหน้าการจัดตั้งศูนย์ศึกษาเกลือทะเล ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการจัดเตรียมสถานที่ ณ อาคาร นวเกษตร คณะเทคโนโลยีการเกษตร ตลอดจนการรวบรวมความรู้ ศึกษาวิจัยในการนำเกลือไปใช้ในรูปแบบต่างๆ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม ขณะที่ความเชื่อมโยงด้านการท่องเที่ยว เพชรบุรีจัดอยู่ในกลุ่มจังหวัด เพชรสมุทรคีรี ซึ่งประกอบด้วย จังหวัดสมุทรสงคราม สมุทรสาคร เพชรบุรี และจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ นับเป็นเส้นทางใหม่ของนักท่องเที่ยวที่ต้องการรูปแบบการท่องเที่ยวที่เน้นประสบการณ์ธรรมชาติแบบ เช้าไปเย็นกลับ สามารถออกแบบการจัดการเส้นทางท่องเที่ยวได้หลากหลายโดยไม่ต้องย้อนกลับเส้นทางเดิม และยังสามารถเดินทางต่อไปยังแหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจในพื้นที่ใกล้เคียงได้” รศ.ดร. บัญญัติ กล่าว

ที่มา : ขอบคุณข้อมูลจากข่าวสด