จ่ายเบี้ยชราทางออนไลน์ เริ่ม เม.ย. กรมบัญชีกลางนำร่องก่อนล้านคน เป้ามิ.ย. ราชการเข้าอีเพย์เมนต์ครบ

คลังเริ่มใช้ระบบรับ-จ่ายผ่านอิเล็กทรอนิกส์แล้ว ดันหน่วยงานรัฐ 7 พันแห่งเข้าระบบอีเพย์เมนต์ 100% สิ้นเดือนมิถุนายน สะพัดเดือนละ 1-2 แสนล้าน นำร่องจ่ายสวัสดิการคนพิการ-คนชราทาง ออนไลน์ 1 ล้านคนแรก 1 เมษายน นี้

นางสาวสุทธิรัตน์ รัตนโชติ อธิบดีกรมบัญชีกลาง เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังกำหนดให้หน่วยงานราชการต้องเปลี่ยนระบบการรับ-จ่ายเงินจากเดิมใช้เงินสดและเช็ค มาเป็นระบบอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อลดการใช้เงินสดลง เริ่มตั้งแต่วันที่ 27 มีนาคม 2561 และหน่วยงานราชการทั้ง 7,000 แห่ง ทยอยติดตั้งเครื่องรับชำระเงินสด (อีดีซี) และมีระบบชำระเงินด้วยคิวอาร์โค้ดเกือบครบแล้ว แต่ระยะแรกประชาชนอาจชินกับการจ่ายเงินสดอยู่ก็ยังใช้ควบคู่กันไปได้ โดยตั้งเป้าหมายภายใน 3 เดือน หรือเดือนมิถุนายนนี้ การรับชำระเงินของหน่วยงานราชการต้องเป็นระบบอิเล็กทรอนิกส์ 100% ตามนโยบายอีเพย์เมนต์ของรัฐบาล ซึ่งแต่ละเดือนภาครัฐมีการรับจ่ายเงิน 1-2 แสนล้านบาท

“ในระยะแรกทุกหน่วยงานราชการต้องติดตั้งเครื่องอีดีซีเพื่อรับชำระเงินให้ครบทุกแห่ง และระยะต่อไป บางแห่งที่เป็นหน่วยงานใหญ่ๆ อาจจะมี 2-3 เครื่อง คาดว่าจากนี้ไปจำนวนติดตั้งเครื่องอีดีซีในหน่วยงานราชการเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนถึง 1 หมื่นเครื่อง และไม่เฉพาะการรับเงินหน้าบ้านเท่านั้น การรับจ่ายเงินหลังบ้านระหว่างหน่วยงานรัฐด้วยกัน เช่น การนำส่งภาษีของหน่วยงานต่างๆ ไปยังคลังจังหวัด หรือการรับเงินจากคลังจังหวัด ใช้วิธีการโอน จากเดิมส่งเป็นเช็ค” นางสาวสุทธิรัตน์ กล่าว

นางสาวสุทธิรัตน์ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ช่วงเดือนเมษายน กรมบัญชีกลางเริ่มจ่ายสวัสดิการให้กับกลุ่ม   ผู้สูงอายุ และคนพิการ ผ่านระบบออนไลน์ โดยเริ่มกับผู้สูงอายุและคนพิการใน กทม.มีจำนวน 1 ล้านคนก่อน หลังจากนั้นขยายไปยังคนพิการและผู้สูงอายุทั่วประเทศ รับเงินช่วยเหลือจากรัฐประมาณ 9 ล้านคน

นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า ขณะนี้ติดตั้งเครื่องอีดีซียังหน่วยงานราชการแล้วกว่า 6,000 เครื่อง ส่วนใหญ่จะใช้ 1 จุด ต่อ 1 เครื่อง โดยเริ่มมีหน่วยงานบางแห่งขอ  ติดตั้งมามากกว่า 1 จุด ทั้งนี้ ประชาชนสามารถชำระเงินโดยใช้บัตรเดบิต บัตรเครดิต คิวอาร์โค้ดของทุกธนาคาร รวมถึงบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่มีการเติมเงินไว้ใช้จ่ายในบัตร สำหรับประชาชนที่ไม่มีบัญชีและบัตรดังกล่าว ธนาคารกรุงไทยออกบัตรพร้อมจ่าย หรือ KTB Cash Card ทั้งแบบระบุจำนวนเงิน 100 บาท 500 บาท 1,000 บาท และแบบเติมเงิน ซึ่งสามารถเติมเงินสูงสุด 2 แสนบาท เพื่อนำมาใช้กับเครื่องอีดีซี โดยไม่มีค่าธรรมเนียมใดๆ

นายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ไทยเริ่มทำโครงการอีเพย์เมนต์ ถือเป็นเปลี่ยนโฉมหน้าของระบบการชำระเงินของประเทศไทยจากใช้เงินสด เป็นไม่มีเงินสด หรือใช้น้อยลง ล่าสุด พบว่าช่วยลดการใช้เงินสดประมาณ 10-20% และปริมาณการใช้ผ่านเครื่องรูดบัตรอีดีซีและพร้อมเพย์มีจำนวนมากขึ้น และหากทำครบทุกตัวทั้งอีเพย์เมนต์ภาครัฐ การจ่ายสวัสดิการภาครัฐผ่านอีเพย์เมนต์ ระบบภาษีอิเล็กทรอนิกส์ คาดว่าทำให้ไทยลดการใช้เงินสดมากขึ้น อาจสามารถลดการใช้เงินสดลงได้ถึง 50% และสามารถลดต้นทุนในการบริหารเงินสดได้มากถึง 7 หมื่นล้านบาท ต่อปี

ที่มา : ขอบคุณข้อมูลจากมติชนรายวัน