กุ้งส่งออกชอร์ตยังไร้ทางออก ผู้เลี้ยงค้านนำเข้าห้องเย็นเดือดร้อนหนัก

ศึกนำเข้ากุ้ง 5 หมื่นตันปะทุหนักผู้เลี้ยงกุ้งภาคใต้ตอนล่าง “วอล์กเอ้าท์” จากห้องประชุม กดดันอธิบดีกรมประมงใช้ดุลยพินิจปลดล็อกนำเข้าต้องมี “ใบรับรอง” ปลอดโรค IMNV-ไม่กระทบราคาในประเทศ ด้านผู้ส่งออกอาหารแช่เยือกแข็งโอด 6 ปี ส่งออกหดตัวตามวัตถุดิบ เหลือไม่ถึง 20 ราย

แหล่งข่าวจากวงการอุตสาหกรรมกุ้งไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า กรณีความขัดแย้งระหว่างกลุ่มผู้เลี้ยงกุ้งในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่างกับกลุ่มผู้ส่งออกที่ต้องการนำเข้ากุ้งจากประเทศอินเดีย จำนวน 50,000 ตัน ล่าสุดมีแนวโน้มที่จะรุนแรง และบานปลาย แม้นายอดิศร พร้อมเทพ อธิบดีกรมประมงได้พยายามเปิดโต๊ะให้ทั้ง 2 ฝ่ายนั่งเจรจากัน โดยทำหน้าที่ประธานการประชุม แต่ไม่สามารถหาข้อสรุปได้

โดยกลุ่มผู้เลี้ยงต้องการให้มีการรับรองว่า กุ้งที่นำเข้าปลอดโรค IMNV แม้จะมีการระบาดในบางรัฐของอินเดีย เพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อโรคปนเปื้อนมากับกุ้งนำเข้าจนอาจก่อให้เกิดโรคระบาดครั้งใหญ่ หลังจากผู้เลี้ยงประสบปัญหาโรคกุ้งตายด่วน (EMS) ทำให้ขาดทุนและหยุดเลี้ยงตามมาในปี 2555-2558 และหากมีการนำเข้ากุ้งจากต่างประเทศต้องไม่กระทบราคากุ้งภายในประเทศไทยตกต่ำ

“กรมประมงยังไม่ให้การรับรองตามที่กลุ่มผู้เลี้ยงเรียกร้อง ทำให้บรรยากาศการหารือตึงเครียด และอธิบดีกรมประมงได้ขอให้ผู้เลี้ยงหารือตกลงกันเองกับผู้ส่งออก ก่อนจะออกจากห้องไป เพราะติดราชการด่วนที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พออธิบดีออกจากห้องไป กลุ่มผู้เลี้ยงที่คัดค้านก็เดินออกจากห้องประชุมของกรมประมง ไม่ยอมหารือกับกลุ่มผู้ส่งออก” แหล่งข่าวกล่าว และว่า

ที่ผ่านมาคณะกรรมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมกุ้งไทย ซึ่งมีอธิบดีกรมประมงเป็นประธาน และมีตัวแทนจากผู้ส่งออกกุ้งและผู้เลี้ยงกุ้ง ได้เคยมีมติให้ผู้ส่งออกนำเข้ากุ้งจากอินเดีย 50,000 ตัน (หักหัวแล้ว) มาแปรูปเพื่อส่งออกเมื่อเดือนมกราคม 2561 แต่ในเดือนกุมภาพันธ์-ต้นเดือนมีนาคม 2561 ผู้เลี้ยงกุ้งในเขตภาคใต้ตอนล่าง อาทิ อ.ปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช จ.สงขลา จ.สุราษฎร์ธานี ได้รวมตัวกันคัดค้านการนำเข้ากุ้งหลายครั้ง และยังไม่สามารถหาข้อสรุปได้

นายอดิศร พร้อมเทพ อธิบดีกรมประมง กล่าวว่า อยากให้ผู้เลี้ยงกุ้งทำความเข้าใจ เพราะผู้ส่งออกขาดแคลนวัตถุดิบมาผลิตกุ้งส่งออกและเพื่อหล่อเลี้ยงแรงงานเอาไว้

นายชำนาญ พงษ์ศรี รองอธิบดีกรมประมงได้หารือกับกลุ่มผู้เลี้ยงที่เหลือ และมีมติร่วมกันให้อธิบดีกรมประมงใช้ดุลยพินิจในการนำเข้ากุ้งครั้งนี้ต่อไป

แหล่งข่าวจากวงการผู้ส่งออกกุ้ง กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ตามข้อเท็จจริงไทยมีการนำเข้ากุ้งจากอินเดียมาเป็น 10 ปีแล้ว และไม่มีปัญหาเรื่องการระบาดของโรค ซึ่งไทยไม่สามารถจะอ้างเหตุผลเรื่องโรคระบาดจำกัดการนำเข้าได้ เพราะหากประเทศใดมีการระบาดทางองค์การโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศ (OIE) จะประกาศตามมาตรฐานสากล และล่าสุดกรณีที่ชิลีประกาศห้ามนำเข้ากุ้งจาก 8 ประเทศที่เกิดภาวะโรคตายด่วน (EMS) ก็ไม่ปรากฏชื่ออินเดีย

หลายเดือนที่ผ่านมา นายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ นายกสมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย ได้ออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องให้มีการนำเข้าวัตถุดิบกุ้ง หลังจากปี 2560 ไทยผลิตกุ้งที่มีใบเคลื่อนย้ายกุ้งหรือใบ MD ได้เพียง 250,000 ตัน ทำให้ปริมาณกุ้งที่จะผลิตส่งออกไม่เพียงพอ

แหล่งข่าวกล่าวต่อไปว่า การส่งออกสินค้ากุ้งแช่เย็นแช่แข็งของไทยในช่วง 2 เดือนแรก (มกราคม-กุมภาพันธ์) มีมูลค่า 102 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 1.9% โดยการส่งออกกุ้งล่าสุดเดือนกุมภาพันธ์ มีมูลค่า 48 ล้านเหรียญสหรัฐ ติดลบ 10.3% ปัจจัยหลักมาจากปัญหาวัตถุดิบกุ้งไทยผลิตได้ไม่เพียงพอ หากไม่มีการนำเข้าวัตถุดิบมาเพื่อการส่งออก ทางผู้ส่งออกก็สามารถส่งออกได้เท่าที่มีวัตถุดิบเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม เชื่อว่ารัฐบาลคงต้องดูแลเกษตรกรผู้เลี้ยงเป็นอันดับแรกอยู่แล้ว เพราะผู้เลี้ยงย้ายบ่อไม่ได้ ส่วนผู้ผลิตกุ้งแปรรูปย้ายโรงงานไปผลิตที่เวียดนามหรืออินเดียได้ เพราะ 2 ประเทศนั้นไม่ได้ห้ามนำเข้ากุ้งจากไทยเป็นวัตถุดิบ หากไม่นำเข้าผู้ผลิตก็ไม่ได้มีปัญหาถ้าเลี้ยงได้เท่าไรก็ส่งออกเท่านั้น

ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับอุตสาหกรรมกุ้งไทย เป็นภาวะที่เกิดขึ้นต่อเนื่องมาตั้งแต่กุ้งประสบปัญหาถูกสหรัฐใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด ซึ่งขณะนี้ไทยมีผู้ผลิตอาหารแช่เยือกแข็งนับ 100 ราย มีวัตถุดิบกุ้งที่เลี้ยงได้ปีละ 600,000 ตัน แต่หลังจากนั้นผลผลิตกุ้งก็ได้รับผลกระทบจาก EMS เหลือผลผลิตเพียงปีละ 250,000 ตัน จำนวนผู้ผลิตก็ค่อยเลิกการผลิตไปจนเหลือ 20 ราย ทำให้ยอดส่งออกของไทยลดลงต่อเนื่องนานกว่า 6 ปีแล้ว

อย่างไรก็ตาม หากนำเข้ากุ้งจะส่งผลกระทบต่อภาคผู้ส่งออกอาหารแช่เยือกแข็ง กลุ่มรายใหญ่ที่มีการผลิตอาหารกุ้งด้วย เช่น บมจ.เจริญโภคภัณฑ์อาหาร หรือซีพีเอฟ, บมจ.ไทยยูเนียนกรุ๊ป หรือทียู

บริษัทไทยรอแยลฟรอเซนฟู้ด จำกัด กลุ่มนี้ไม่ได้สนับสนุนให้มีการนำเข้ากุ้ง เพราะอาจจะส่งผลกระทบต่อยอดจำหน่ายกุ้ง ขณะที่ผู้แปรรูปรายย่อย ซึ่งไม่ใช่ผู้ผลิตอาหารกุ้งจำเป็นต้องนำเข้า

ขอขอบคุณข้อมูลจาก หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันพฤหัสบดีที่ 29 มีนาคม – วันอาทิตย์ที่ 1 เมษายน 2561