บอร์ด อภ. ลงพื้นที่แคนาดา ศึกษากัญชารักษาปวดเรื้อรัง เผยไทยยังต้องรอแก้ กม. ถึงจะใช้ได้

เมื่อวันที่ 30  มีนาคม นพ.โสภณ เมฆธน ประธานคณะกรรมการองค์การเภสัชกรรม (บอร์ด อภ.) กล่าวถึงกรณีมีการแชร์ในสังคมออนไลน์ถึงกรณีบอร์ด อภ. เดินทางไปศึกษาดูงานเรื่องกัญชาทางการแพทย์ที่ประเทศแคนาดา ว่า จากการไปศึกษาดูงานครั้งนี้ พบว่า มีการอนุญาตให้นำกัญชามาใช้ทางการแพทย์ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2001 ซึ่งจะมีการออกประกาศว่าโรคใดที่สามารถใช้กัญชาบำบัดได้ เช่น อาการปวดเรื้อรัง อาการทางสมองบางอย่าง เป็นต้น โดยคนไข้ที่มีใบสั่งจากแพทย์จะสามารถปลูกกัญชาได้คนละ 4 ต้น เพื่อนำมาใช้ในการรักษาอาการ แต่การดำเนินการดังกล่าว พบว่า มีปัญหาคือ คุณภาพของกัญชาที่ไม่เท่ากัน และการลอบนำไปขายในตลาดมืด จึงมีการออกกฎหมายใหม่ โดยอนุญาตให้มีการตั้งโรงงานในการปลูกกัญชาทางการแพทย์ได้ เพื่อควบคุมคุณภาพของกัญชาให้เท่ากัน

“อย่างโรงงานที่ทางคณะเดินทางไปศึกษาก็พบว่า เป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ เปิดดำเนินการมาได้ประมาณ 4-5 ปี โดยมีการปลูกภายในโรงเรือน เนื่องจากแคนาดาเป็นประเทศเมืองหนาว แต่กัญชาเป็นพืชเมืองร้อน จึงต้องมีการควบคุมอุณหภูมิและแสงไฟให้เหมาะสม ในการควบคุมคุณภาพของสารสำคัญในกัญชาให้เท่ากัน และมีการพัฒนาสายพันธุ์ ซึ่งทางนั้นระบุว่าสายพันธุ์ที่ดีที่สุดคือ กัญชาสายพันธุ์ประเทศไทยที่ให้สารสำคัญได้มากและมีคุณภาพ ซึ่งจะมีสารสำคัญอยู่ 2 ตัว ในการนำมาใช้ทางการแพทย์คือ สาร Cannabidiol (CBD) และ สาร Tetrahydrocannabinol (THC) ซึ่งมีผลต่อการรักษาที่แตกต่างกัน” นพ.โสภณ กล่าว

นพ.โสภณ กล่าวว่า สำหรับการนำมาใช้ทางการแพทย์ จะใช้ต้นกัญชาตัวเมีย คือ ใช้ส่วนของดอก โดยส่งไปให้ผู้ป่วยที่ได้รับใบสั่งแพทย์ให้ใช้กัญชาในการรักษา และมีการนำดอกมาสกัดทำเป็นน้ำมันกัญชา สำหรับผู้ป่วยที่ได้รับใบสั่งจากแพทย์เช่นกัน ส่วนการควบคุมนั้นโรงงานที่ผลิตต้องได้รับอนุญาตจากรัฐบาล การเข้าออกมีความปลอดภัยสูง เพราะจะมีการสแกนบัตรในทุกจุดที่เข้าไป เพื่อป้องกันกัญชาเล็ดลอดออกมาสู่ภายนอก และต้องมีการบันทึกรายละเอียดทั้งหมดว่ามีการปลูกเท่าไร ใช้ไปอย่างไร และต้องรายงานให้แก่รัฐบาลรับทราบ ซึ่งตนไม่คิดว่าอุตสาหกรรมกัญชาทางการแพทย์ที่แคนาดาจะใหญ่ขนาดนี้ และมีมูลค่ามหาศาล อย่างบริษัทที่มาดูก็เข้าตลาดหลักทรัพย์ โดยกัญชาดอกหนึ่งราคาก็ตกกว่า 10,000 บาทแล้ว

นพ.โสภณ กล่าวว่า สำหรับกัญชาทางการแพทย์ในประเทศไทยนั้น ก่อนอื่นคงต้องรอให้มีการแก้กฎหมายให้ชัดเจนว่า กัญชาสามารถนำมาใช้ทางการแพทย์ได้ จึงจะสามารถขับเคลื่อนได้ ขณะเดียวกันทางนักวิชาการอย่างกลุ่มโรงเรียนแพทย์ก็ต้องศึกษาให้ชัดเจนว่าบทบาททางยาของกัญชาเป็นอย่างไร เพราะปัจจุบันมีการพูดถึงทั้งการรักษาลมชัก พาร์กินสัน แม้กระทั่งมะเร็ง ซึ่งปัจจุบันกฎหมายให้มาขออนุญาตศึกษาได้ เมื่อคำตอบเรื่องบทบาททางยาของกัญชามีความชัดเจน และกฎหมายปลดล็อกให้ใช้ทางการแพทย์ได้ ก็ต้องมาดูว่าจะขับเคลื่อนต่อเพื่อนำกัญชามาใช้อย่างไร เช่น นำเข้าจากประเทศที่ผลิตแล้วอย่างแคนาดา เพื่อป้องกันปัญหาการปลูกแล้วเล็ดลอดหรือไม่ หรือหากจะดำเนินการปลูกและผลิตเองก็ต้องมาพิจารณาให้รอบคอบว่าจะปลูกและใช้อย่างไร เพื่อไม่ให้เกิดปัญหา เพราะกัญชาสายพันธุ์ไทยถือว่าเป็นกัญชาที่มีคุณภาพดี ซึ่งแคนาดาก็ถือเป็นตัวอย่างหนึ่งที่ดำเนินการได้ดี

ขอบคุณภาพจากเฟซบุ๊ก Banks Rutchasit

ที่มา : มติชนออนไลน์