คร.เตือน วัวควายตายอย่ากิน ปรุงสุกก็เสี่ยงติดเชื้อหมาบ้า

เลี้ยงสัตว์ต้องรับผิดชอบ ไม่ใช่แค่ฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าอย่างเดียว ต้องคุมจำนวนประชากรด้วย เตือนวัวตายถึงปรุงสุกก็อย่าเอามากิน ชี้ระหว่างแล่สัมผัสเนื้อสดๆ ก็เสี่ยงแล้ว!!

เมื่อวันที่ 2 เมษายน น.สพ. พรพิทักษ์ พันธ์หล้า หัวหน้ากลุ่มโรคติดต่อระหว่างสัตว์และคน สำนักโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค (คร.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า สำหรับเรื่องการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าในสัตว์นั้น หากเป็นสัตว์ที่เพิ่งเกิดประมาณ 2-4 เดือน ต้องนำไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าปีแรกถึง 2 ครั้ง ซึ่งกรณีที่ไม่ทราบว่าได้รับวัคซีนแล้วหรือไม่ ก็ให้ถือว่าเป็นการฉีดครั้งแรก โดยจะฉีดเข็มที่ 2 เว้นช่วงจากเข็มแรกประมาณ 1 เดือน หลังจากนั้นให้ฉีดเป็นประจำทุกปี ปีละ 1 ครั้ง ตาม  ใบนัดของสัตวแพทย์

“ปัญหาของการควบคุมสุนัขและแมวนั้น ไม่ใช่แค่พาไปฉีดวัคซีนเท่านั้น แต่การคุมกำเนิดก็สำคัญ อย่างเจ้าของที่เลี้ยงก็ต้องตระหนักถึงความรับผิดชอบด้วยว่า หากปล่อยให้สัตว์เลี้ยงแพร่พันธุ์มีลูกเต็มไปหมด จะควบคุมดูแลได้มากน้อยแค่ไหน เพราะหลายครั้งสุนัขแมวจรจัดก็มาจากเคยเป็นสัตว์เลี้ยงทั้งนั้น นอกจากนี้ ที่ผ่านมาเรายังพบปัญหาคนเลี้ยงสุนัขสำหรับเฝ้าไร่นา หรือสุนัขไร่นา กลุ่มนี้มักเลี้ยงแบบกึ่งปล่อย ทำให้มีความเสี่ยงมาก เพราะเราไม่มีทางรู้ว่าเขาจะออกไปแพร่พันธุ์มีลูกมากน้อยแค่ไหน และได้รับเชื้อพิษสุนัขบ้าหรือไม่ ขณะเดียวกันยังมีเจ้าของบางคนนำสัตว์เลี้ยงไปฉีดวัคซีนไม่ครบจำนวนที่ตัวเองเลี้ยง ด้วยเหตุผลว่า บางตัวเลี้ยงดีหน่อยก็นำไปฉีดวัคซีน แต่บางตัวเลี้ยงปล่อย อาจไม่ได้รักมากก็ไม่ได้ดูแล แบบนี้อันตรายมาก” น.สพ. พรพิทักษ์ กล่าว

น.สพ. พรพิทักษ์ กล่าวว่า หลายคนรู้เรื่องรับทราบข้อมูลข่าวสารเรื่องนี้ แต่ก็ยังไม่ตระหนักอย่างเพียงพอ ยกตัวอย่าง เจ้าของวัวเนื้อ เมื่อพบว่าสัตว์ตัวเองตาย แต่ก็เสียดาย บางรายนำไปปรุงสุกรับประทานก็มี ซึ่งเมื่อเข้าไปสอบถามได้รับคำตอบว่า ปรุงสุกด้วยความร้อนไม่เป็นอะไร จริงๆ ไม่ใช่แค่การปรุงสุกแล้วจะไม่ติดเชื้อ ไม่ใช่ว่าจะไม่เสี่ยงติดเชื้อพิษสุนัขบ้า เนื่องจากหากไปสัมผัสถูกเนื้อสดๆ ก่อนที่จะนำมาปรุงสุกก็ย่อมมีความเสี่ยงติดเชื้อได้

เมื่อถามว่าเพราะอะไรเจ้าของถึงไม่หวาดกลัวต่อเชื้อโรค และมีโอกาสที่จะฉีดวัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้าในโค กระบือล่วงหน้าแบบสุนัขแมวหรือไม่ น.สพ. พรพิทักษ์ กล่าวว่า มี แต่การฉีดวัคซีนป้องกันแบบสุนัขและแมวนั้น ในโค กระบือยังไม่พบในวงกว้างมาก จริงๆ ใช้มาตรการควบคุมป้องกันก็จะช่วยได้ เช่น ในพื้นที่เสี่ยงก็ต้องมีการแยกสัตว์ออกจากกัน ไม่เลี้ยงปะปน ที่สำคัญผู้เลี้ยงต้องสังเกตว่า โค กระบือของตัวเองมีอาการผิดปกติหรือไม่ เรื่องนี้ต้องร่วมกันทุกฝ่าย หลายคนเมื่อสัตว์ตัวเองตาย ไม่แจ้งก็มี และนำเนื้อไปขายยังมีเลย จึงต้องเตือนว่าหากจะซื้อเนื้อมาบริโภคก็ต้องสังเกต ซื้อจากแหล่งที่น่าเชื่อถือมีการรับรอง เป็นต้น

ที่มา : ขอบคุณข้อมูลจากมติชนรายวัน