‘ปิยะสกล’ ตั้งคณะทำงาน ‘กัญชา’ ทางการแพทย์ หวังรักษาโรคทางสมอง-มะเร็ง

เมื่อวันที่ 4 เมษายน ที่โรงแรมรามาการ์เด้นท์ นพ.ปิยะสกล สกลสตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงโอกาสที่ประเทศไทยจะวิจัยและพัฒนากัญชาเพื่อทางการแพทย์ ภายในงานประชุมวิชาการสมุนไพรแห่งชาติ ว่า ถึงเวลาแล้วที่ประเทศไทยต้องปรับเพื่อพิจารณาว่า สิ่งใดที่จะเกิดประโยชน์กับคนไทย กับทางการแพทย์ ซึ่งการวิจัยพัฒนาเราควรจะทำ เพราะศักยภาพเหมือนสมุนไพรทั่วไป แต่มีกฎหมายที่ครอบไว้เนื่องจากเป็นสารเสพติด ซึ่งการปรับกฎหมายนั้นก็เพื่อให้วิจัยพัฒนา และทดลองในคน เพื่อนำไปสู่การสกัดมาใช้ทางการแพทย์ได้ ซึ่งเชื่อว่าไทยมีศักยภาพในการพัฒนาเรื่องนี้

“ผมคิดว่าคนไทยมีศักยภาพ และได้ปรึกษากันแล้วว่า เราจะตั้งคณะทำงานอย่างเป็นทางการขึ้น โดยจะดึงภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะนักวิชาการ ทั้งคณะวิจัยของมหาวิทยาลัยรังสิต รวมทั้ง ศ.นพ. ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ มาช่วยทำในเรื่องนี้ ซึ่งประธานคณะทำงานฯ คาดว่าจะขอให้ นพ. โสภณ เมฆธน ประธานกรรมการองค์การเภสัชกรรม (อภ.) เป็นประธาน” นพ. ปิยะสกล กล่าว

นพ. โสภณ เมฆธน ประธานกรรมการองค์การเภสัชกรรม (บอร์ด อภ.) กล่าวว่า ในเรื่องกัญชานั้น ทางบอร์ดได้เดินทางไปที่ประเทศแคนาดา เพื่อศึกษาดูงานเรื่องนี้ ซึ่งจะเห็นได้ว่า โลกตะวันตกมีการพัฒนานำประโยชน์จากสารสกัดของกัญชาไปใช้ทางด้านการแพทย์ ซึ่งใช้ใน 2 ประเด็น ทั้งด้านการแพทย์ และด้านผ่อนคลาย แต่ประเทศไทยคิดว่าคงไม่ใช้ด้านผ่อนคลาย จะใช้เฉพาะด้านการแพทย์เป็นหลัก ประเด็นแรกที่ต้องมองนักวิชาการคงต้องช่วยว่ามีข้อบ่งชี้ที่จะใช้กัญชาทางการแพทย์มากน้อยเพียงใด

“ในการวิจัยพัฒนาทางแพทย์แผนปัจจุบัน เราจะมุ่งไปที่การรักษาโรค อย่างประเด็นแรก  คือ การรักษาโรคลมชัก โดยเฉพาะในเด็ก ยาที่มีอยู่บางครั้งไม่สามารถคุมการชักได้ แต่กัญชามีบทบาทที่คุมได้ดี ประเด็นที่ 2 คือโรคทางสมองอื่นๆ เช่น โรคพาร์กินสัน  ซึ่งรบกวนชีวิตมากๆ มือสั่น เมื่อได้ยาแผนปัจจุบันก็จะเกร็งจะแข็งไปหมด  ประเด็นที่ 3 ที่ต้องวิจัยพัฒนาอีกคือ โรคมะเร็ง ว่าจะใช้กัญชามาช่วยอย่างไร ทั้งเรื่องลดการปวด ความอยากอาหาร และประเด็นที่ 4  ลดความเจ็บปวดแทนการใช้มอร์ฟีน ซึ่งก็จะมีการทำงานผ่านคณะทำงานวิชาการ ซึ่งขณะนี้กำลังฟอร์มทีมอยู่ว่าจะดำเนินการอย่างไร ได้มีการติดต่อทาง ศ.นพ. ธีระวัฒน์ เช่นกัน ซึ่งเรื่องนี้ในคณะกรรมการปฏิรูปด้านสาธารณสุขก็มีการหารือเรื่องนี้เช่นกัน” นพ. โสภณ กล่าว

นพ. โสภณ กล่าวอีกว่า ในฐานะ อภ. ก็ต้องมีการศึกษา อย่างทั้งการพัฒนาสายพันธุ์ แม้ของไทยจะมีสายพันธุ์ดี แต่ประเทศอื่นก็พัฒนาไปมากอยู่ ต่อมาเราก็ต้องมีการพัฒนาเรื่องสารสกัด ซึ่งไทยยังใช้เอทานอลในการสกัดสารกัญชา แต่แคนาดาใช้การสกัดที่เรียกว่า คาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งแคนาดามีโรงงานถึง 13 แห่ง มีประสบการณ์ในการผลิตสารสกัด 4 ปี สิ่งสำคัญหากจะทำก็ต้องมีระบบการควบคุม ไม่ให้รั่วไหล ซึ่งเรื่องนี้ทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) หรือ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) ดูแล

ผู้สื่อข่าวถามว่า ปัจจุบันกฎหมายควบคุมกัญชาอย่างไรบ้าง นพ. โสภณ กล่าวว่า กฎหมายยาเสพติด มี 5 ประเภท โดยประเภทที่ 2 สามารถนำมาทำเป็นยาได้ แต่ต้องมีข้อบ่งชี้ทางวิชาการ ซึ่งปัจจุบัน กัญชา อยู่ในประเภท 5 ที่ห้ามเด็ดขาด จึงไม่อาจนำมาศึกษวิจัยในคนได้ ซึ่งทางอธิการบดีมหาวิทยาลัยรังสิตเสนอปลดล็อกก็น่าจะเป็นประเด็นนี้ ซึ่งทางกระทรวงยุติธรรม และ อย. พยายามปรับปรุง พ.ร.บ. ยาเสพติดอยู่ ให้เป็นประมวลกฎหมายยาเสพติด ก็จะแก้ในประเด็นนี้ ซึ่งหากจะวิจัย ณ ขณะนี้ ทำได้เพียงปลูกและสกัดสารออกมาเพื่อทดลองในสัตว์ แต่ในคนยังไม่ได้

“คณะกรรมการปฏิรูปด้านสาธารณสุข มีการหารือเช่นกัน อย่างการปฏิรูปการแพทย์แผนไทย มีเรื่องของการพัฒนากัญชา กระท่อม ซึ่งก็ต้องเชิญฝ่ายที่เกี่ยวข้องมาร่วมกันหารือว่าจะดำเนินการอย่างไร ในแง่วิชาการทางการแพทย์ เพราะถ้ามีความเป็นไปได้ อภ. จะต้องเตรียมในเรื่องของการวิจัยสายพันธุ์ และการพัฒนาการสกัด ซึ่งในร่างปฏิรูปเราเขียนแค่ว่าจะศึกษาวิจัย แต่ในรายละเอียดต้องทำเป็นโครงร่างวิจัย เสนอให้คณะกรรมการควบคุมยาเสพติดพิจารณา ถ้าผ่านรัฐมนตรีฯ ลงนาม ก็จะเดินหน้าศึกษาวิจัยได้ ซึ่งระหว่างนี้ อภ. อยู่ระหว่างร่างโครงร่างวิจัย คาดว่าภายใน 60 วัน น่าจะเรียบร้อย” นพ. โสภณ กล่าว

บอร์ด อภ.ศึกษาดูงานที่แคนาดา เรื่องการวิจัยกัญชาทางการแพทย์

ที่มา : มติชนออนไลน์