ทุ่งข้าว กลางบาราย

บางข้อมูลบอกว่า บันทายฉมาร์ มีอาณาเขตกว้างใหญ่ไพศาลยิ่งกว่านครวัดเสียอีก เพียงแต่ไม่โด่งดังเป็นที่รู้จักเท่า อาจเป็นเพราะบันทายฉมาร์แทบจะเป็นเพียงซากปรักหักพัง ด้วยว่ายังไม่มีการบูรณะอย่างสมบูรณ์ ส่วนใหญ่ผู้ที่จะชมบันทายฉมาร์อย่างละเอียดดื่มด่ำ ต้องเป็นคนที่สนใจประวัติศาสตร์และความงามของโบราณสถานอย่างจริงจังทีเดียว จึงจะด้นดั้นมาและใช้เวลาอย่างน้อยเต็มวัน อย่างมากต้องละเลียดกันสักสองสามวัน  

ไม่ใช่จัดทัวร์เช้าไปเย็นกลับ แบบนักท่องเที่ยวฉาบฉวยที่เพียงแค่มาถ่ายรูปหมู่หรือเซลฟี่ให้เป็นที่ประจักษ์ว่ามาและนะบันทายฉมาร์ ไม่ได้ถือเป็นความผิด มันเป็นไลฟ์สไตล์ของใครของมัน

ปราสาทบันทายฉมาร์ ที่สร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 เพื่อเป็นอนุสรณ์แด่เจ้าชายศรินทรกุมาร ซึ่งสิ้นพระชนม์จากการทำสงครามในบริเวณนี้ เป็นที่บรรจุอัฐิของเจ้าชายและองครักษ์ผู้สละชีพแทนพระองค์อีกด้วย  เป็นกลุ่มปราสาท มีจำนวน 10 หลัง ด้วยกัน บันทายฉมาร์เป็นปราสาทหลักที่มีขนาดใหญ่ที่สุด นอกจากนั้น ยังมีปราสาทตาเปล่ง ปราสาทตาสก ปราสาทตาเปรียว ปราสาทตาพรหม ปราสาทแม่บุญ (อยู่กลางบารายตะวันออก)   กับปราสาทที่เป็น “ป้อม” ประจำ 4 ทิศ ซึ่งเชื่อว่าเป็นที่บรรจุอัฐิขององครักษ์ทั้งสี่

พวกเรามีเวลาไม่พอที่จะชมทุกปราสาท เราใช้เวลาเช้าจรดเย็นละเลียดบันทายฉมาร์ปราสาทหลัก พอมีเวลาเหลือเล็กน้อยก็เดินไปชมสะพานที่อยู่อีกด้าน เห็นแล้วก็เศร้าใจที่ศีรษะยักษ์ยุดนาคถูกบั่นไปแบบไม่เหลือเยื่อใย  เช่นเดียวกับโบราณวัตถุอีกมากในปราสาทที่ถูกขโมยไปขายให้นักสะสม เล่าขานกันว่าเดิมทีไม่มีใครกล้าแตะต้องที่นี่ เพราะเกรงอัฐิของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 และองครักษ์ แต่ต่อมาเหมือนจะสิ้นยำเกรงหรือสุดทานทนกับความขาดแคลน จึงมีการเข้ามาลักลอบนำโบราณวัตถุออกไปขายจำนวนมาก การจะทำอุกอาจเยี่ยงนี้ได้ฉันว่าต้องมีการหนุนหลังจากคนมีอำนาจแน่นอน

ก็ด้วยข่าวคราวขโมยวัตถุโบราณอย่างอาจหาญนี่เอง บันทายฉมาร์จึงถูกเปิดเผยให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น กลายเป็นมรดกที่ทำให้ลูกหลานรุ่นต่อๆ มา ได้ใช้เป็นที่ทำมาหากินผ่านการท่องเที่ยว บันทายฉมาร์ตั้งอยู่ในหมู่บ้านทมอพวก นักท่องเที่ยวที่มาบันทายฉมาร์มักแวะพักร่าง กินข้าว จับจ่ายซื้อของ เป็นรายได้ให้แก่ชาวบ้าน

อีกทางหนึ่งคือ การรวมกันทำที่พักแบบโฮมสเตย์ในรูปแบบสหกรณ์ชุมชน สำหรับนักท่องเที่ยวที่ต้องการเวลาชมปราสาทอย่างละเอียดลออ และชมชอบอารมณ์พื้นถิ่น แน่ล่ะพวกเราเป็นกลุ่มที่มีความสุขกับการได้เดินชมปราสาทอย่างช้าๆ ละเลียดสายตาไปตามร่องรอยหินทุกก้อน อิ่มเต็มกับความงามของลวดลายที่ช่างโบราณสลักเสลา ความอ่อนช้อยบนหินที่อัศจรรย์ตา ความศรัทธาที่สามารถสร้างสรรค์สิ่งยิ่งใหญ่

แล้วพวกเราก็ช่างสุขสรรค์นักที่จะได้นอนบ้านชาวบ้าน แม้ในลักษณะของโฮมสเตย์ กระนั้นเราก็ยังได้กลิ่นความเป็นท้องถิ่นอันพิเศษ จินตนาการถึงเชื้อสายที่สืบทอดมาตั้งแต่ยุคพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ชาวบ้านที่นี่คือลูกหลานผู้รับมรดกอันยิ่งใหญ่

ใครหลายคนอาจจะเห็นว่าโบราณสถานต้องตั้งอยู่อย่างสง่างาม รายล้อมด้วยภูมิทัศน์ที่สวยงาม อย่างที่ปราสาทใหญ่ๆ ของบ้านเราชอบปูหญ้าเขียวและจัดสวนหย่อม ฉันเห็นด้วยว่าควรดูแลโบราณสถานไม่ให้ใครมาทำลาย   ไม่ให้ใครมาทำสกปรกรกรุงรัง แต่ในอีกมุมหนึ่งโบราณสถานที่อยู่ใกล้ชิดเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนก็มีชีวิตชีวาดี   เพียงแต่ทำความเข้าใจและให้ชุมชนมีส่วนในการดูแลโบราณสถาน

ถ้ามีประตูที่สามารถย้อนอดีตชาติได้ ฉันก็อยากไปดูให้เห็นกับตาว่า สมัยกระโน้นผู้คนเขาอยู่กันอย่างไร

ฉันประทับใจปราสาทตาเปล่งที่ตั้งอยู่หลังบ้านตายายคู่หนึ่ง เราต้องขออนุญาตเดินตัดเข้าทางบ้านตายายที่กำลังนั่งเปิบข้าวอยู่บนแคร่หน้าบ้าน ทั้งคู่ยิ้มแย้มพยักหน้าให้เข้าไป แถมชักชวนให้กินข้าวด้วย ฉันเห็นต้มปลาในหม้อเล็กๆ แล้วหิวติดหมัดขึ้นมาทันใด แต่ตัดใจเดินเข้าไปชมปราสาทหลังเล็กๆ นั่นก่อนจะค่ำมืด จากปราสาทตาเปล่งเราเดินไปถึงปราสาทตาพรม ระหว่างทางนี้มีร่องรอยถางหญ้าตัดกิ่งไม้เพื่อเปิดทาง เราเดาว่าอาจจะมีการปรับภูมิทัศน์เพื่อเปิดเป็นแหล่งท่องเที่ยวในอีกไม่นานวัน

เช้าอีกวัน หลังชงกาแฟสดที่พกห่อติดตัวกันมา ตามด้วยก๋วยเตี๋ยวร้านในหมู่บ้านแล้วก็รอรถเหมาคันเดิมมารับเพื่อไปพระตะบอง คนขับใจดีพูดไทยได้ เราขอแวะชมบารายที่อยู่ระหว่างทางก็พาไปด้วยความเต็มใจ รถเลี้ยวเข้าสู่ถนนโรยกรวดตามแผนที่ ไม่มีใครรู้ว่าบารายอยู่ตรงไหน รู้ตามข้อมูลแค่ว่ามีบารายใหญ่ตั้งอยู่บนเส้นทางสายนี้

เราพยายามมองหาแหล่งน้ำขนาดใหญ่ตามแผนที่ว่าไว้ แต่แลไม่เห็นแหล่งน้ำที่ว่าแม้แต่น้อย รถแล่นลึกเข้าไปตามทางเรื่อยๆ จนต้องบอกให้จอดถามชาวบ้านที่ริมทาง ชาวบ้านชี้ไปไม่ไกล บอกว่านั่นไงทางเข้าบาราย รถเลี้ยวปาดเข้าไปพบผู้หญิงสองคนกำลังนั่งคุยกันอยู่ ทั้งคู่ชี้มือไปทางทุ่งข้าวที่กำลังออกรวงงามว่า นั่นไง บาราย

พวกเราจึงบรรลุว่า ที่แท้บารายใหญ่ได้กลายเป็นทุ่งนาไปแล้วนี่เอง และลึกเข้าไปในป่าละเมาะที่รกเรื้อคือที่ตั้งปราสาทแม่บุญ ชาวบ้านบอกว่าเข้าไปไม่ได้หรอกมันรกชัฏมาก กระทั่งคนแถวนี้เองก็ไม่ได้เข้าไปนานแล้ว

ฉันยืนมองทุ่งข้าวในบารายอย่างอิ่มเอมใจบอกไม่ถูก ปราสาทตาบุญนั้นก็อยากชม แต่ไม่ได้ชมก็ไม่เป็นไร แค่นี้ก็เพียงพอต่อใจแล้ว บารายแหล่งน้ำอันยิ่งใหญ่ในสมัยโบราณ ได้กลายมาเป็นแหล่งปลูกข้าวอันไพศาลของชาวบ้าน ฉันไม่ได้รู้สึกว่าเป็นการทำลายหลักฐานทางโบราณคดีหรือประวัติศาสตร์แต่อย่างใด กลับรู้สึกว่าดีจังที่พื้นที่ซึ่งบรรพบุรุษสร้างมาได้ตกเป็นทรัพย์สมบัติของคนยุคปัจจุบัน โดยเฉพาะเป็นของชาวบ้านในพื้นที่ได้ปลูกข้าวทำนา ไม่ใช่กลายเป็นรีสอร์ต สนามกอล์ฟ หรือกลายเป็นที่เช่าสัญญาเกือบร้อยปีของนายทุนต่างชาติ

แผ่นดินบารายโบราณยังหอมกลิ่นเดิมอยู่