เปิดตัวโครงการสนับสนุนธุรกิจสตาร์ทอัพด้านพลังงานสะอาดระดับภูมิภาค ผลักดันเอเชียตะวันออกเฉียงใต้สู่การเป็นผู้นำของโลก

องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมนี หรือ GIZ ร่วมกับ CalCEF (California Clean Energy Fund) ผสานความร่วมมือระดับภูมิภาค เปิดตัวโครงการพัฒนาระบบนิเวศด้านพลังงานที่ยั่งยืนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Nexus SEA) ซึ่งเป็นโครงการสนับสนุนธุรกิจสตาร์ทอัพด้าน “พลังงานอัจฉริยะ” ที่มุ่งลงทุนและเชื่อมต่อกับหน่วยงานผู้บ่มเพาะ (incubator) ให้เกิดธุรกิจสตาร์ทอัพด้านพลังงานอัจฉริยะทั่วทั้งภูมิภาค โดยได้รับการสนับสนุนเงินทุนจาก GIZ และมูลนิธิ The David and Lucile Packard

“ด้วยการรวบรวมความคิด ธุรกิจสตาร์ทอัพ พันธมิตรด้านการดำเนินงาน และผู้ให้ทุนสนับสนุนเข้าสู่แพลตฟอร์มหนึ่งเดียวในระดับภูมิภาค โครงการ Nexus SEA จึงกำลังก้าวสู่การสร้างระบบนิเวศด้านพลังงานอัจฉริยะให้เกิดขึ้นจริง” Hendrik Tiesinga ผู้จัดการโครงการ Nexus SEA จาก CalCEF กล่าว

จากข้อมูลขององค์กรพลังงานระหว่างประเทศ (IEA) คาดการณ์ว่าภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะมีความต้องการใช้พลังงานเพิ่มสูงขึ้นอีกสองในสามส่วนนับจากนี้ไปจนถึง พ.ศ. 2583 เมื่อความต้องการพลังงานเพิ่มขึ้น การบริโภคเชื้อเพลิงจากฟอสซิลก็จะยังคงเพิ่มขึ้นต่อไป เว้นแต่จะมีการหันมาใช้โซลูชั่นพลังงานอัจฉริยะอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งโครงการ Nexus SEA เองจะเข้ามาเร่งผลักดันให้เกิดการนำเทคโนโลยีด้านพลังงานสะอาดมาใช้และบรรเทาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ด้วยการสนับสนุนผู้ประกอบการด้านพลังงานอัจฉริยะรุ่นใหม่

พลังงานอัจฉริยะย่อมดีกว่า

แม้ว่าเทคโนโลยีด้านพลังงานอัจฉริยะจะได้รับการทดสอบและใช้งานมาแล้วทั่วโลก แต่ตลาดการใช้งานเทคโนโลยีเหล่านี้ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังคงอยู่ในช่วงเริ่มต้นเท่านั้น นวัตกรรมใหม่ที่สร้างสรรค์ อาทิ รูปแบบการตอบสนองความต้องการทางไฟฟ้า การซื้อขายพลังงานที่มีฐานข้อมูลแบบบล็อกเชน ซอฟต์แวร์การเพิ่มประสิทธิภาพพลังงานแสงอาทิตย์ สมาร์ทกริด เทคโนโลยียานพาหนะไฟฟ้าสู่ระบบกริด จะเข้ามากระตุ้นให้มีการใช้เทคโนโลยีพลังงานสะอาดและมีประสิทธิภาพในวงกว้าง

ด้วยการร่วมมือกับหน่วยงานผู้บ่มเพาะท้องถิ่นในประเทศไทย อินโดนีเซีย สิงคโปร์ เวียดนาม และฟิลิปปินส์ ประกอบกับการนำองค์ความรู้ ประโยชน์ และประสบการณ์ในการสร้างระบบนิเวศพลังงานอัจฉริยะจากเครือข่ายผู้มีบทบาทด้านพลังงานทั่วโลกมาปรับใช้ โครงการ Nexus SEA จะสามารถช่วยกระตุ้นการเติบโตของภาคธุรกิจสตาร์ทอัพด้าน “พลังงานอัจฉริยะ” ผ่านการให้บริการธุรกิจ เทคโนโลยี ความเชี่ยวชาญด้านพลังงาน และการสนับสนุนทางการเงินแก่องค์กรท้องถิ่นในทุกระดับของภาคพลังงาน

Advertisement

เตรียมเดินหน้าเต็มกำลัง            

“หลังจากสำรวจพื้นที่และวิเคราะห์ธุรกิจมาตลอด 3 เดือน เรามีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่จะผนึกกำลังความร่วมมือกับหน่วยงานผู้บ่มเพาะชั้นนำ 2 ราย ในประเทศไทยและอินโดนีเซียที่กำลังดำเนินโครงการสตาร์ทอัพอยู่ ณ ขณะนี้ และมีวิสัยทัศน์ร่วมกันในการสร้างธุรกิจสตาร์ทอัพด้านพลังงานอัจฉริยะ” Thomas Chrometzka ผู้อำนวยการด้านพลังงานทดแทนจาก GIZ ประเทศไทยกล่าว

Advertisement

ในประเทศไทย องค์กร KX Made ได้รับเลือกให้เป็นหน่วยงานพันธมิตรผู้บ่มเพาะของโครงการ Nexus SEA เนื่องจากเป็นองค์กรที่มีแนวทางการดำเนินงานที่มุ่งผลักดันผู้ประกอบการ รัฐบาล ผู้นำธุรกิจ และมหาวิทยาลัยให้ก้าวสู่การเป็นผู้นำด้านนวัตกรรม  KX Made ตั้งอยู่ที่อาคารเคเอกซ์ (Knowledge Exchange for Innovation Center) สูง 20 ชั้นในกรุงเทพฯ มีพื้นที่ทำงานและสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่กว่า 28,000 ตารางเมตร โดยได้รับเงินสนับสนุนจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.)

“การเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยี นโยบาย และรูปแบบธุรกิจถือเป็นโอกาสอันยิ่งใหญ่สำหรับผู้ประกอบการ ธุรกิจสตาร์ทอัพ และนักลงทุนในสาขาพลังงานอัจฉริยะและเทคโนโลยีสะอาด โครงการ Nexus SEA จะกระตุ้นการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวและเริ่มปฏิวัติพลังงานนี้ในประเทศไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ “- Kris Chinosorn ประธานบริหารของ KX Made

ในอินโดนีเซีย Digitaraya ได้รับเลือกให้เป็นหน่วยงานพันธมิตรผู้บ่มเพาะของโครงการ Nexus SEA เนื่องจากเป็นองค์กรที่มีโปรแกรมสตาร์ทอัพและประสบการณ์ในการสร้างระบบนิเวศที่หลากหลาย  Digitaraya เป็นผู้ดำเนินโครงการต่างๆ เช่น 1000 Digital Startups Google Development Group (GDG) และ FemaleDev ทั้งยังทำงานใกล้ชิดกับ Google มหาวิทยาลัย Gadjah Mada ธนาคาร Bukopin Telkomsel และกระทรวงสารสนเทศและเทคโนโลยี

“Digitaraya มุ่งเน้นการสนับสนุนผู้ประกอบการรุ่นใหม่ของอินโดนีเซีย ผู้หลงใหลในการสร้างโซลูชั่นที่เป็นนวัตกรรมใหม่เพื่อตอบสนองความท้าทายเร่งด่วนที่สุดของอินโดนีเซีย ในฐานะที่เป็นแหล่งตลาดพลังงานที่ใหญ่ที่สุดและมีความหลากหลายมากที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อินโดนีเซียอยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสมสำหรับการเป็นผู้นำด้านโซลูชั่นพลังงานอัจฉริยะในระดับภูมิภาค” – Nicole Yap รองประธานฝ่ายยุทธศาสตร์และการพัฒนาธุรกิจของ Digitaraya

หน่วยงานพันธมิตรผู้บ่มเพาะของโครงการ Nexus SEA จะดำเนินการตามแนวทางที่มี 3 ระยะ โดยรวบรวมผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลักจากชุมชนธุรกิจสตาร์ทอัพ ผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงาน ผู้สนับสนุนองค์กร และรัฐบาล มาสร้างธุรกิจสตาร์ทอัพด้านพลังงานอัจฉริยะที่จะแก้ไขปัญหาด้านพลังงานในภูมิภาคร่วมกัน

ก้าวต่อไป

โครงการ Nexus SEA เป็นโครงการที่มีระยะเวลาดำเนินการ 4 ปี ถูกออกแบบมาเพื่อให้หน่วยงานพันธมิตรผู้บ่มเพาะในภูมิภาคสามารถสร้างและปรับขนาดของธุรกิจสตาร์ทอัพด้านพลังงานอัจฉริยะได้  ใน พ.ศ. 2563 โครงการ Nexus SEA มีเป้าหมายสร้างเครือข่ายกับผู้ประกอบการ จำนวน 1,000 ราย บ่มเพาะทีมผู้ประกอบการ 100 ทีม เป็นพันธมิตรกับหน่วยงานผู้บ่มเพาะ 10 ราย และทำให้ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นภูมิภาคผู้นำของโลก ผู้ประกอบการและหน่วยงานผู้บ่มเพาะที่สนใจสามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.nexusea.co

ข้อมูลเพิ่มเติม

ผู้ดำเนินการในระดับภูมิภาค:

องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ)

GIZ เป็นองค์กรของรัฐบาลกลางที่สนับสนุนรัฐบาลเยอรมนีในการบรรลุวัตถุประสงค์ด้านความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน การสร้างระบบนิเวศพลังงานอัจฉริยะในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านพลังงานควบคู่ไปกับการสร้างคุณค่าท้องถิ่นในภูมิภาค เป็นสิ่งที่สอดคล้องกับจุดมุ่งหมายของ GIZ

GIZ ริเริ่มให้ทุนสนับสนุนโครงการเชิงกลยุทธ์นี้ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างโอกาสแก่องค์กรที่มีเป้าหมายร่วมกันในการเข้าเป็นพันธมิตรด้านเงินทุนและขยายโครงการต่อไป สามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมที่ www.giz.de/en

California Clean Energy Fund (CalCEF)

CalCEF ได้ลงทุนและเร่งรัดให้เกิดนวัตกรรมด้านพลังงานสะอาดและระบบนิเวศของธุรกิจสตาร์อัพมานานกว่า 1 ทศวรรษ  CalCEF เป็นองค์กรไม่แสวงผลกำไรซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายของสถาบันวิจัยพลังงานสะอาด ผู้เร่งรัดธุรกิจสตาร์ทอัพ (startup accelerator) และนักลงทุน  องค์กร CalCEF ทำหน้าที่เป็นผู้จัดการการลงทุนในพลังงานสะอาดปัจจุบันกว่า 30 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในรัฐแคลิฟอร์เนีย และเข้าร่วมกับโครงการ New Energy Nexus เมื่อ พ.ศ. 2559 ในฐานะเครือข่ายหน่วยงานผู้บ่มเพาะและเร่งรัดธุรกิจระดับสากล เครือข่ายมีสมาชิก 74 ราย ทั่วโลก และมีองค์กรในสังกัดอีกมากมาย มุ่งเน้นด้านความรู้และการแบ่งปันแนวปฏิบัติที่ดีที่สุดระหว่างหน่วยงานผู้เร่งรัด นักลงทุน และธุรกิจสตาร์ทอัพผู้ร่วมสร้างระบบพลังงานแห่งอนาคต สามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมที่ www.calcef.org

ผู้สนับสนุนเงินทุน:

GIZ (โปรดดูรายละเอียดด้านบน)

มูลนิธิ The David and Lucile Packard

มูลนิธิ The David and Lucile Packard ก่อตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2507 ทำงานร่วมกับพันธมิตรทั่วโลกเพื่อปรับปรุงคุณภาพชีวิตเด็ก ครอบครัว และชุมชนต่างๆ และเพื่อฟื้นฟูและปกป้องโลกของเรา สามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมที่ www.packard.org

หน่วยงานพันธมิตรผู้บ่มเพาะ:

KX Made (ประเทศไทย)

KX Knowledge Exchange for Innovation เป็นศูนย์นวัตกรรมที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จัดตั้งขึ้นสำหรับอำนวยการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ เทคโนโลยี และความสามารถด้านนวัตกรรมระหว่างพันธมิตรทางวิชาการ ธุรกิจสตาร์ทอัพ นักลงทุน ธุรกิจ SME และองค์กรภาครัฐ เพื่อยกระดับศักยภาพด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมของไทย สามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมที่ www.ismade.org

 

Digitaraya (ประเทศอินโดนีเซีย)

Digitaraya เป็นศูนย์กลางเชื่อมต่อผู้คน สถานที่ และโครงการเข้าด้วยกัน โดยมีพันธกิจที่จะทำให้อินโดนีเซียเป็นผู้นำในระบบนิเวศเทคโนโลยีระดับโลก  Digitaraya พัฒนาความรู้เพื่ออำนวยความสะดวกและผลักดันให้เกิดความร่วมมือระหว่างการเคลื่อนไหวด้านเทคโนโลยีเพื่อการเปลี่ยนแปลงที่ดีต่างๆ ในประเทศอินโดนีเซีย Digitaraya ฟูมฟักผู้มีความสามารถด้านสารสนเทศที่มีคุณภาพให้เป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีของอินโดนีเซีย ตลอดจนช่วยผู้ประกอบการอินโดนีเซียสร้างแนวความคิดขึ้นมาให้เป็นจริงในธุรกิจต่างๆ ได้มากขึ้น สามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมที่ www.digitaraya.com