วสท.ห่วง “อัคคีภัย” อาคารเก่า ชี้รพ.รัฐเสี่ยงกว่าศูนย์การค้า เร่งปีนี้ออกมาตรฐานคุมเข้ม

วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยเผยอาคารเก่าเกลื่อนเมือง หวั่นเกิดเพลิงไหม้ได้ทุกเวลา ชี้          โรงพยาบาลรัฐโอกาสเสี่ยงกว่าศูนย์การค้า เตรียมล้อมคอกบังคับใช้มาตรฐานโรงพยาบาลในปีนี้

นายธเนศ วีระศิริ นายกวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย (วสท.) เปิดเผยภายในงานสัมมนาเรื่อง      “บทเรียนเพลิงไหม้อาคารสูง ซอยเพชรบุรี 18 และแนวทางการป้องกันอัคคีภัยในอาคารเก่า” ที่วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย เขตวังทองหลาง กรุงเทพฯ ว่า ในกรุงเทพฯ มีอาคารเก่าจำนวนมาก   จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่เจ้าของอาคาร ผู้บริหารจัดการอาคาร และผู้อาศัยต้องตระหนักถึงการสร้างความปลอดภัย และการปฏิบัติตนให้ปลอดภัยจากอัคคีภัย โดยเฉพาะเจ้าของอาคารที่ต้องเลือกอุปกรณ์หรือระบบป้องกันอัคคีภัยที่จำเป็นสำหรับอาคารแต่ละประเภท โดยตระหนักถึงช่องผนังในอาคาร วัสดุกันไฟ เส้นทางหนีไฟ และระบบป้องกันอัคคีภัย อีกทั้งภาครัฐควรร่างกฎหมายให้เหมาะสม จัดอบรมผู้เชี่ยวชาญมากขึ้น รวมถึงการลดภาษีสำหรับเจ้าของอาคารที่จะลงทุนปรับปรุงระบบป้องกันอัคคีภัย หรือให้รางวัลอาคารที่มีระบบป้องกันอัคคีภัยดีเด่น จะช่วยกระตุ้นให้เกิดการตระหนักอีกทางหนึ่ง

นายพิชญะ จันทรานุวัฒน์ เลขาธิการและที่ปรึกษาคณะกรรมการสาขาวิศวกรรมป้องกันอัคคีภัย วสท. กล่าวว่า อาคารแต่ละประเภทมีความเสี่ยงจากอัคคีภัยแตกต่างกัน อาทิ หอพัก โรงแรม หรืออาคารที่อยู่อาศัยรวม จะมีความเสี่ยงของผู้เสียชีวิตสูงสุดจากความแออัด ยิ่งในเวลากลางคืนที่ผู้อยู่อาศัยหลับก็จะรับรู้เหตุได้ช้า โรงพยาบาลก็มีความเสี่ยง เช่นกัน เนื่องจากมีผู้ป่วยที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ แต่โรงพยาบาลมีการทำงาน 24 ชั่วโมง จึงมีการระแวดระวังภัยอยู่เสมอ หรือในอาคารศูนย์การค้าที่เป็นพื้นที่เปิดโล่ง จึงไม่มีความเสี่ยงในการเสียชีวิตมากนัก ดังนั้น ควรมีมาตรการการป้องกันอัคคีภัยที่แตกต่างและสอดคล้องกับความเสี่ยงอย่างเหมาะสม

นางสาวบุษกร แสนสุข ประธานคณะกรรมการวิศวกรรมความปลอดภัยด้านอัคคีภัย วสท. กล่าวว่า อาคารเก่ามักมีอุปกรณ์ป้องกันอัคคีภัยที่เสื่อมตามอายุการใช้งาน จึงต้องจัดให้มีการตรวจสอบ เพื่อประเมินความเสี่ยง อย่างน้อยต้องมีระบบป้องกันอัคคีภัยตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคารเก่า กฎกระทรวง ฉบับที่ 47 พ.ศ. 2540 ซึ่งเป็นกฎหมายย้อนหลังให้ทั้งอาคารขนาดเล็ก ขนาดใหญ่ ขนาดใหญ่พิเศษ อาคารสูง ต้องมีระเบียบ ดังนี้ 1. อาคารที่มีความสูงตั้งแต่ 4 ชั้น ขึ้นไป ให้ติดตั้งบันไดหนีไฟที่ไม่ใช่ในแนวดิ่งเพิ่มจากบันไดหลัก 2. ติดตั้งระบบแจ้งเหตุเพลิงไหม้ ประกอบด้วย อุปกรณ์ตรวจจับอัตโนมัติ อุปกรณ์แจ้งเหตุด้วยมือ และอุปกรณ์ส่งสัญญาณแจ้งเตือนภัยให้ได้ยินทั่วถึงทั้งอาคาร 3. ติดตั้งไฟแสงสว่างฉุกเฉินและมีป้ายบอกชั้นและทางหนีไฟ 4. ติดตั้งเครื่องดับเพลิงมือถือ 5. ติดตั้งแผนผังอาคารแต่ละชั้นให้แสดงตำแหน่งห้องทางออก อุปกรณ์ดับเพลิง และมีแผนผังของอาคารทุกชั้นเก็บไว้ที่ชั้นล่างของอาคาร 6. ติดตั้งระบบป้องกันฟ้าผ่า ซึ่งบุคลากรทางวิศวกรรมป้องกันอัคคีภัยยังมีไม่มาก แต่ก็มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น วสท.จึงมีการตั้งคณะกรรมการรวบรวมผู้เชี่ยวชาญให้ได้มากที่สุด

“สิ่งที่กลัวที่สุดคือการเกิดเพลิงไหม้ในโรงพยาบาลของรัฐที่เป็นอาคารเก่า และมีผู้ป่วยช่วยเหลือตัวเองไม่ได้จำนวนมาก อีกทั้งลักษณะอาคารยังคล้ายคลึงกับอาคารสูง ซอยเพชรบุรี 18 ที่เพิ่งเกิดเหตุเพลิงไหม้ เนื่องจากทางหนีไฟไม่พอ ช่องเปิดต่างๆ ในตัวอาคารมีมากทำให้ควันแพร่กระจายได้รวดเร็ว หากเกิดเหตุเพลิงไหม้ คาดว่าจะมีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตสูง ซึ่ง วสท.จะเร่งขับเคลื่อนวางมาตรฐานโรงพยาบาลให้เสร็จสิ้นภายในปีนี้” นางสาวบุษกร กล่าว

ที่มา : ขอบคุณข้อมูลจากมติชนรายวัน