รองอธิบดีกรมชลติดตามการบริหารจัดการน้ำพ.ท.ลุ่มต่ำ เขตชลประทานที่ 10 ลพบุรี

เมื่อวันที่ 19 เมษายน ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทานและคณะลงพื้นที่ติดตามผลการดำเนินงานในพื้นที่ลุ่มต่ำ เขตสำนักงานชลประทานที่10 จังหวัดลพบุรี โดยมีนายสุขาติ เจริญศรี ผู้อำนวยการสำนักชลประทานที่ 10 และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องร่วมบรรยายสรุปผลการดำเนินงาน

ทั้งนี้ โครงการชลประทานที่ 10 ได้มีการดำเนินการในการบริหารจัดการพื้นที่ลุ่มต่ำ โดยทำการศึกษาและสำรวจการใช้พื้นที่ในการทำการเกษตร ตลอดจนส่งเสริมการมีส่วนร่วมและทำความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่ พร้อมทั้งติดตามปริมาณน้ำให้เป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนดก่อนนำน้ำเข้าและออกจากพื้นที่

ซึ่งในเขตพื้นที่ชลประทานที่10 มีพื้นที่ลุ่มต่ำในความรับผิดชอบจำนวน 6 แห่ง ได้แก่ ทุ่งเชียงราก ทุ่งบางกุ้ง ทุ่งบางบาล ทุ่งฝั่งซ้ายคลองชัยนาท-ป่าสัก ทุ่งท่าวุ้ง ทุ่งบางกุ่ม รวมพื้นที่ 290,130 ไร่ สามารถเก็บกักน้ำได้ 544ล้าน ลบ.ม. ลดปัญหาน้ำท่วมพื้นที่ในฤดูน้ำหลาก และพร้อมเริ่มส่งน้ำไปยังพื้นที่การเกษตร 2.01ล้านไร่ ในพื้นที่ลุ่มต่ำได้ในวันที่ 1 พ.ค. 61และในเขตพื้นที่ดอน สามารถส่งน้ำได้เมื่อประกาศเข้าฤดูฝน ส่วนการเตรียมความพร้อมในการป้องกันน้ำท่วมได้มีการสร้างคั้นกันน้ำจำนวน 9 แห่ง ครอบคลุมพื้นที่ที่ประสบภัย พร้อมเฝ้าระวังและติดตามสภาพภูมิอากาศ ปริมาณน้ำฝนและน้ำท่า เตรียมความพร้อมเครื่องมือ เครื่องจักร เพื่อพร้อมแก้ปัญหาน้ำท่วมได้อย่างทันท่วงที

ส่วนการดำเนินงานในโครงการไทยนิยมยั่งยืนของสำนักชลประทานที่ 10 ได้เน้นหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในการดำเนินงานเพื่อให้ประชาชนในพื้นที่สามารถทำอยู่ทำกินสร้างความมั่นคงได้อย่างยืน

และได้ทำการลงพื้นที่เพื่อสำรวจความต้องการของประชาชนพบว่า มีรายการงานที่ขอเพิ่มรวมจำนวน 92 รายการ เป็นการจ้างแรงงาน 6 รายการ ส่งเสริมการใช้ยางพารา จำนวน 12 รายการ พัฒนาแหล่งน้ำโครงการพระราชดำริ จำนวน 1 รายการ ฟิ้นฟูแหล่งน้ำเพื่องป้องกันอุทกภัยและภัยแล้ง จำนวน 73 รายการ รวมวงเงิน 612.992 ล้านบาท

ทั้งนี้ รองอธิบดีกรมชลประทาน ร่วมรับฟังปัญหาการดำเนินงานและให้ข้อเสนอแนะในการดำเนินการโครงการ เพื่อวางแผนขับเคลื่อนให้โครงการฯ สามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพพร้อมให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ในการปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่

จากนั้นเดินทางต่อไปยัง ที่ทำการกลุ่มผู้ใช้น้ำทุ่งบางกุ่ม ต.บ้านหลวง อ.ดอนพุด จ.สระบุรี เพื่อร่วมรับฟังเสียงสะท้อนจาก เกษตรกรและชาวบ้านถึงปัญหาและความต้องการการใช้น้ำของชุมชน

เดิมพื้นที่บางกุ่มเป็นพื้นที่ประสบปัญหาภัยแล้งซ้ำซากแต่จากการบริหารการจัดการน้ำของกรมชลประทานและได้รับความร่วมมือจากชาวบ้านในพื้นที่เป็นอย่างดีในการเปลี่ยนปฏิทินการทำนาเป็นสองครั้งคือเดือนพฤษภาคม-กันยายน และเดือนธันวาคม-มีนาคม ทำให้การทำนาได้ผลเป็นที่น่าพอใจ

และกรมชลฯยังได้สนับสนุนการปล่อยน้ำลงในพื้นที่ เพื่อเป็นแหล่งท่องเที่ยว ร่องเรือ ดูนก ยกย่อ สามารถสร้างรายได้เพิ่มให้แก่ชุมชนจากการท่องเที่ยว และยังสามารถใช้เป็นพื้นที่แก้มลิงธรรมชาติเก็บกักน้ำลดความเสียหายจากน้ำท่วมในฤดูน้ำหลากได้อีกด้วย

ซึ่งจากการดำเนินการที่ผ่านมาทำให้ชาวบ้านในพื้นที่มีความพึงพอใจเป็นอย่างมาก ในส่วนความต้องการเพิ่มเติมนั้น ชาวบ้านในพื้นที่ต้องการประตูระบายน้ำเพิ่มอีกหนึ่งประตูจากเดิมที่มีแค่ประตูเดียวเพื่อทำการระบายน้ำได้มากขึ้น

ทั้งนี้พื้นที่ลุ่มต่ำทุ่งบางกุ่มเป็นพื้นที่ขนาดใหญ่ที่สุดในพื้นที่ลุ่มต่ำจำนวน 6 แห่ง รับน้ำจากคลองชัยนาท-ป่าสัก ทางคลองระบาย 4 ซ้ายและรับน้ำจากแม่น้ำป่าสักในช่วงน้ำทะเลหนุนเข้าทางคลองระบายน้ำบางพระครูเข้าสู่พื้นที่ทุ่งบางกุ่ม