น.ศ. “บางมด” เรียนรู้คู่สังคม สร้างกลไกงานวิจัยตอบโจทย์ชุมชน

หนึ่งในวิสัยทัศน์ของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) คือ “มุ่งธำรง ปณิธานในการสร้างบัณฑิตที่เก่งและดี” ซึ่งนอกจากจะให้ความสำคัญกับการเรียนรู้ด้านวิชาการอย่างเข้มข้น ยังผนวกด้วยการส่งเสริมให้นักศึกษาทำงานร่วมกับสังคมและชุมชน ผ่านการจัดกิจกรรม และพื้นที่ดำเนินการเป็นสถานปฏิบัติการเชิงพื้นที่ ภายใต้ชื่อ Social Lab

การดำเนินงานดังกล่าวมุ่งเป้าไปยังการทำงานในพื้นที่โครงการหลวง โดย มจธ. ได้จัดตั้งศูนย์ส่งเสริมและสนับสนุนมูลนิธิโครงการหลวง และโครงการพระราชดำริขึ้นมาโดยเฉพาะ เพื่อให้เกิดความชัดเจนทั้งการวางแผนงาน การติดตามความก้าวหน้า การประเมินผล และการพัฒนาคุณภาพ

“รศ.ดร. ศักรินทร์ ภูมิรัตน” อธิการบดี มจธ. กล่าวว่า การทำงานกับโครงการหลวง เริ่มตั้งแต่ ปี 2545 ซึ่งเข้ามาช่วยพัฒนาพื้นที่ ชุมชน และสิ่งแวดล้อม ด้วยเล็งเห็นว่า มหาวิทยาลัยมีหน้าที่พัฒนาบัณฑิตให้มีคุณภาพ และในฐานะสถาบันอุดมศึกษาที่มีพันธกิจในการให้บริการด้านวิชาการ ดังนั้น จึงนำองค์ความรู้ และความสามารถที่มีมาช่วยทำให้สังคมเข้มแข็ง และทำให้เศรษฐกิจของประเทศดีขึ้น

“กิจกรรมของโครงการหลวงเป็นกลไกหนึ่งที่ร่วมสร้างบัณฑิตให้มีคุณภาพ เพราะสามารถดึงความสามารถของพวกเขามาพัฒนาสังคมให้ดีขึ้น ขณะเดียวกันยังเป็นการเปิดประสบการณ์ให้นักศึกษาเข้าใจบริบทของประเทศไทย เพราะเขามาเห็นความยากลำบากของคนจำนวนหนึ่ง จึงทำให้พวกเขาเข้าใจปัญหาสังคมมากกว่าเดิม”

“ในอีกมิติหนึ่ง เมื่อเขาลงพื้นที่มาเจอโจทย์จริง ได้เรียนรู้ และปฏิบัติงานจริง รวมถึงมีโอกาสแลกเปลี่ยนความคิดกับชุมชน จะทำให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ที่ต่อยอดออกไป สิ่งที่ตามมาคือ การมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหานั้นๆ และเมื่อพวกเขาเรียนจบออกไปทำงาน จะเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างสรรค์สังคมให้เข้มแข็งขึ้น”

สำหรับพื้นที่การทำงานของ มจธ. ครอบคลุม 39 ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงใน 6 จังหวัด ลักษณะการเข้าไปช่วยเหลือขึ้นอยู่กับบริบทของพื้นที่ ซึ่งมีทั้งการเข้าไปสนับสนุนงานด้านวิชาการ หรือให้การอบรมเรื่องต่างๆ รวมถึงการทำโปรเจ็กต์ระยะยาว โดยมีทีมทำงาน 10 กว่าคนประจำอยู่ที่ จ.เชียงใหม่ และทำงานร่วมกับ ม. เทคโนโลยีราชมงคลล้านนา

“บวรศักดิ์ เพชรานนท์” นักวิจัย ศูนย์ส่งเสริมและสนับสนุนมูลนิธิโครงการหลวงและโครงการตามพระราชดำริ มจธ. ให้รายละเอียดว่า บทบาทของศูนย์ส่งเสริมฯ จะเป็นตัวประสานในการนำโจทย์สำคัญหรือยากๆ กลับไปยัง มจธ. ที่กรุงเทพฯ แล้วดึงอาจารย์กับนักศึกษามาทำงานในพื้นที่ ส่วนโจทย์ที่ไม่มีความซับซ้อน ทีมงานของศูนย์ส่งเสริมฯ ที่ส่วนใหญ่มาจากสาขาวิศวกรรมศาสตร์จะแก้ปัญหาให้ได้ทันที

“ในแต่ละปีมีนักศึกษาประมาณ 10 กว่าคนเข้ามาทำงานในพื้นที่ ส่วนใหญ่จะมาในลักษณะของการฝึกงาน เนื่องจากเรามีประกาศว่าขณะนั้นมีโจทย์อะไรบนพื้นที่โครงการหลวงบ้าง หากใครสนใจก็มาทำงานร่วมกัน โดยนักศึกษาส่วนใหญ่จะมาจากสาขาวิทยาศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ และสถาปัตยกรรมศาสตร์”

“โจทย์ที่ให้เขาทำจะเป็นโจทย์เดียวกับที่เราทำให้โครงการหลวง เหมือนเราทำโครงการใหญ่ 1 โครงการ แล้วตัดพาร์ตหนึ่งให้นักศึกษาทำ ดังนั้น ผลงานที่เด็กได้จึงตอบโจทย์ใหญ่ของเราด้วย ขณะเดียวกัน เด็กจะได้ฝึกกระบวนการเรียนรู้ ไม่ว่าจะเป็นการประยุกต์ใช้จากเนื้อหาวิชาการที่เขาเรียนมา หรือบางเรื่องที่ไม่เคยเรียนมาก่อน เขาจะได้มาเรียนรู้เรื่องใหม่ๆ เพื่อฝึกการแก้ปัญหาไปในตัวด้วย”

“บวรศักดิ์” ยกตัวอย่างการทำงานของ มจธ. ในพื้นที่ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงม่อนเงาะ อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ โดยแรกเริ่มมีทีมจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์เข้ามาออกแบบผังการใช้พื้นที่ หลังจากนั้น มาช่วยดูเรื่องการวางสาธารณูปโภค และในช่วง 3-4 ปี ที่ผ่านมา ทางทีมงานได้รับโจทย์ใหญ่เกี่ยวกับฟักทอง ซึ่งเป็นผักที่ทางศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแห่งนี้ส่งเสริมให้ชาวบ้านทำการเพาะปลูก เพราะศูนย์รับซื้อฟักทองปีละ 6 แสนบาท เมื่อตัดแต่งแล้วจำหน่าย จะมีรายได้ที่ 1.1 ล้านบาท ซึ่งฟักทอง 1 ลูก ตัดแต่งเนื้อได้ 30% อีก 70% กลายเป็นขยะ มจธ. จึงตั้งโจทย์ว่าจะทำให้เป็น zero waste ด้วยการนำทุกส่วนของฟักทองมาใช้ประโยชน์

“ผลจากการศึกษาพบว่า ส่วนเนื้ออ่อน และเนื้อติดเปลือก สามารถนำไปแปรรูปเป็นคุกกี้ตัวหนอนไส้ฟักทอง และสเปรดฟักทอง ส่วนเมล็ดฟักทองนำไปแปรรูปเป็นน้ำมันฟักทอง ขณะที่ผลฟักทองตกเกรดจากการตัดแต่งจะนำไปแปรรูปเป็นฟักทองผง ซึ่งจากกระบวนการแปรรูปทั้งหมด สามารถเพิ่มมูลค่าได้เป็น 2 ล้านบาท ต่อปี”

ในพื้นที่ดังกล่าว มจธ. ยังเข้าไปสนับสนุนกลุ่มหัตถกรรม โดยพัฒนาความสามารถของสมาชิกให้สามารถเป็นผู้ประกอบการได้อย่างเข้มแข็ง ทำให้กลุ่มหัตถกรรมมีรายได้เฉลี่ยเพิ่มขึ้น จากคนละ 1,500 บาท ต่อเดือน เป็น 3,500 บาท ต่อเดือน

“เสาวนีย์ ผางมาลี” ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนจักสานหัตถกรรมใบค้อ บ้านก๋ายน้อย อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ เล่าว่า นักศึกษาจาก มจธ. เข้ามาช่วยวิเคราะห์ธุรกิจ และให้คำแนะนำทั้งด้านต้นทุน การจัดการ และการตลาด ส่งผลให้ราคาสินค้าถูกปรับขึ้นมาอยู่ในราคาที่เหมาะสม และขายได้กำไรมากขึ้น

“น้องๆ ยังช่วยเราออกแบบสินค้ารูปแบบใหม่ๆ จากเดิมมีสินค้า 2 แบบ คือ กระติ๊บใส่ข้าวเหนียว และถาดปากพับ ก็ขยับมาที่การทำกระเป๋าสะพาย เพราะเขามองว่าหากเป็นสินค้าแบบเก่า ราคาจะคงที่ แต่หากมีสินค้าใหม่ จะเพิ่มราคาขายได้ ซึ่งหลังจากจบโปรเจ็กต์แล้ว น้องๆ ได้กลับมาติดตามผล ทั้งยังให้ความช่วยเหลือกลุ่มของเราอย่างต่อเนื่อง”

อีกหนึ่งพื้นที่ที่มีผลการดำเนินงานโดดเด่น คือ โครงการระบบแสง เพื่อลดเวลาการผลิตผักในโรงเรือน ในสถานีเกษตรหลวงปางดะ อ.สะเมิง จ.เชียงใหม่ โดยมูลนิธิโครงการหลวงต้องการผลิตผักในโรงเรือนด้วยระบบสมาร์ทฟาร์ม มจธ. จึงทำวิจัยร่วมกับสถานีเกษตรหลวงปางดะ

ด้วยการทดลองปลูกผักในโรงเรือน และให้แสงส่องสว่างด้วยหลอด LED ในช่วงเย็นต่อเนื่องจากแสงอาทิตย์อีก 6 ชั่วโมง กับกลุ่มผักสลัด เช่น เรดโอ๊ก, กรีนโอ๊ก เป็นต้น ซึ่งสามารถลดระยะเวลาในการปลูกผักจาก 30 วัน/รอบ เหลือ 22 วัน/รอบ หรือเพิ่มกำลังการผลิตจาก 12 รอบ/ปี เป็น 15 รอบ/ปี โดยผลผลิตมีคุณภาพเทียบเท่ากับการปลูกปกติ

อันเป็นตัวอย่างชัดเจนที่แสดงให้เห็นถึงความสำเร็จจากการทำงานร่วมกันของ มจธ. กับโครงการหลวง ซึ่งเป็นผลลัพธ์ที่สร้างให้นักศึกษาได้เรียนรู้คู่สังคมอย่างแท้จริง

 

ที่มา : ประชาชาติธุรกิจออนไลน์