รู้ไปโม้ด : การะเกด

??????????????????

 

การะเกด ชื่อวิทยาศาสตร์ Pandanus tectorius จัดอยู่ในวงศ์เตยทะเล (Panda naceae) ชื่อภาษาอังกฤษคือ Screw Pine เพราะรูปร่างใบวนเป็นเกลียว ชื่ออื่นๆ เรียก ลำเจียกหนู ปะหนัน ปะแนะ เตยเล Hala (ฮาวาย) Bacua (สเปน) และ Vacquois (ฝรั่งเศส) 

มีเขตกระจายพันธุ์แถบหมู่เกาะในมหาสมุทรแปซิฟิกเขตร้อน ไทย มาเลเซีย ออสเตรเลียตะวันออก และตามชายหาดหรือพื้นที่ใกล้ชายฝั่งทะเล ด้วยชอบขึ้นในที่ชื้นแฉะริมน้ำ ดินทรายชายทะเล ริมลำธาร ลำห้วย

สำหรับเมืองไทย รู้จักคุ้นเคย การะเกด กันมาแต่โบราณ เห็นได้จากวรรณคดีไทยแทบทุกเรื่อง ตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนต้นลงมา เช่น ลิลิตพระลอ จนถึงกรุงรัตนโกสินทร์ ต่างมีบทชมสวนชมป่าบรรยายถึงต้นการะเกดกันทั้งสิ้น นอกจากนั้น ยังนิยมนำมาตั้งชื่ออีกด้วย ในหนังสืออักขราภิธานศรับท์ของหมอบรัดเล พ.ศ.2416 ก็มีบรรยายไว้ว่า

“การะเกด : ดอกไม้สีเหลือง กลิ่นหอมดี ดูงาม ต้นเท่าด้ามพาย ใบเป็นหนาม ขึ้นอยู่ที่ดินเปียกริมน้ำ” แสดงว่าดอกการะเกดเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง และยังมีเพลงขับ “เจ้าการะเกด เจ้าขี่ม้าเทศ จะไปท้ายวัง ชักกริชออกแกว่ง ว่าจะแทงฝรั่ง เมียห้ามไม่ฟัง เจ้าการะเกดเอย” ในหนังสือบทกลอนกล่อมเด็ก (ฉบับสอน) ของหอพระ สมุดวชิรญาณ รวบรวมโดย หลวงธรรมาภิมณฑ์ (ถึก จิตรกถึก) เมื่อ พ.ศ. 2463 เป็นบทเพลงกล่อมเด็กยอดนิยม

การะเกด จัดเป็นพรรณไม้พุ่มกึ่งไม้ยืนต้น ลำต้นแตกกิ่งก้านสาขามาก มีรูปทรงคล้ายต้นเตย สูงได้ประมาณ 3-7 เมตร มีหนามสั้นๆ ทู่ๆ ที่ผิวของลำต้น ที่โคนต้นมีรากค้ำจุน เป็นรากอากาศค่อนข้างยาวและใหญ่ งอกจากลำต้นส่วนบนหยั่งลงถึงพื้นดิน

ใบเดี่ยวเป็นรูปรางน้ำ แผ่นใบค่อยๆ เรียวแหลมไปหา ปลายใบ คล้ายสกรู ขอบใบมีหนามแข็ง ยาวประมาณ 1 เซนติเมตร ผิวใบเรียบเป็นมัน

ดอกเป็นดอกช่อ กลิ่นหอมเย็น ออกที่ปลายยอดและมีจำนวนมาก แยกเพศแยกต้น ดอกตัวผู้เป็นช่อดอกยาว มีใบประดับที่ช่อดอกย่อย สีขาว ดอกตัวเมียเป็นช่อออกที่ปลาย เกาะกันคล้ายผล เกือบกลม ลักษณะของผลจะเบียดกันแน่นเป็นก้อนกลม มองเหมือนผลเดี่ยว มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 10-20 เซนติเมตร แต่ละผลมีขนาดกว้าง 2-6.5 เซนติเมตร และยาว 4-7.5 เซนติเมตร เมื่อสุกจะมีกลิ่นหอม โคนสีเหลือง ตรงกลางเป็นสีแดง ส่วนตรงปลายยอดเป็นสีน้ำตาลอมเหลือง ผลที่สุกแล้วจะมีโพรงอากาศจำนวนมาก

ตำราสรรพคุณสมุนไพรของไทยระบุสรรพคุณทางยาของการะเกดเอาไว้ว่า ดอกรสสุขุม (ขมหอม) ใช้ปรุงเป็นยาหอม ทำให้ชุ่มชื่นหัวใจ ใช้เป็นยาแก้โรคในอก เจ็บอก เจ็บคอ แก้เสมหะ บำรุงหัวใจ และบำรุงธาตุ, รากเป็นยาแก้ไข้ ขับปัสสาวะ, รากอากาศเป็นยาแก้หนองในและนิ่ว ส่วนยอดใช้ต้มกับน้ำให้สตรีดื่มตอนหลังคลอดบุตรใหม่

ประโยชน์ของการะเกด ผลแก่จัด (ผิวผลเป็นสีแดง) รับประทานได้ รสชาติคล้ายสับปะรด ดอกหอมก็กินได้ แต่รสขม และความหอมของดอกยังใช้อบกลิ่นเสื้อผ้าหรือใช้ดอกเคี่ยวกับน้ำมันมะพร้าวหรือมันหมู ทำเป็นน้ำมันใส่ผม ขณะที่ใบการะเกดนำมาเป็นเครื่องจักสานได้ดี เช่น กระสอบ เสื่อ หมวก กระเป๋า ฯลฯ เป็นวัตถุดิบของงานหัตถกรรมที่ดีและหาได้ง่าย

นอกจากดอกที่มีกลิ่นหอมแล้ว การะเกดยังเป็นไม้ประดับได้ดี เพราะมีรูปทรงเฉพาะตัวงามแปลกตา เหมาะสำหรับปลูกตามที่ชื้นแฉะหรือริมฝั่งน้ำ ปลูกง่าย ทนทาน อายุยืนยาว หาพันธุ์ได้ไม่ยาก

ทั้งนี้ ปัจจุบันมีการะเกดอีกชนิดหนึ่งได้รับความนิยมนำมาปลูกเป็นไม้ประดับ คือ การะเกดด่าง เป็นการะเกดที่มีใบสีเหลืองเป็นทางยาว แลดูงดงามกว่าการะเกดที่มีใบสีเขียว การะเกดด่างเป็นพันธุ์ไม้จากต่างประเทศที่มีผู้นำเข้ามาปลูกไม่นานนัก มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Pandanus variegatus Miq. มีใบสวยงาม แต่ไม่มีดอกหอมเหมือนการะเกดไทย

ที่มา ข่าวสดออนไลน์