ที่มา | ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ |
---|---|
เผยแพร่ |
คอลัมน์ Smart SMEs โดย พัชร สมะลาภา ผู้บริหารสายงานธุรกิจลูกค้าผู้ประกอบการ ธนาคารกสิกรไทย
ช่วงนี้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ทำธุรกิจค้ายางพารา คงได้รับผลกระทบจากราคายางพาราของไทยที่ปรับตัวลดลงต่อเนื่องตลอด 4-5 ปีที่ผ่านมา สาเหตุจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนซึ่งเป็นคู่ค้าหลัก ปริมาณผลผลิตในตลาดยังอยู่ในระดับสูง ทำให้ความต้องการใช้ยางพารายังมีไม่มากนัก รวมถึงราคาน้ำมันในตลาดโลกยังไม่ฟื้นตัว ซึ่งล้วนส่งผลให้ราคาส่งออกยางพาราลดลงเหลือ 54.70 บาทต่อกิโลกรัม จากที่เคยสูงถึง 190.30 บาทต่อกิโลกรัม และคาดว่าน่าจะยังเป็นเช่นนี้ต่อไปอีก 3 ปีข้างหน้า
แม้ว่าปัจจุบันไทยรั้งอันดับผู้ส่งออกยางพาราอันดับ 1 ของโลก แต่ก็มีกลุ่มประเทศ CLMV จีนและอินเดียที่เร่งตีตื้นส่งผลผลิตออกสู่ตลาด เอสเอ็มอีไทยจึงต้องปรับการบริหารจัดการสต๊อกสินค้ายางพาราที่รับซื้อมาจากเกษตรกร ซึ่งอาจมีการสั่งซื้อในปริมาณครั้งละไม่มาก และไม่ควรสั่งซื้อล่วงหน้าเป็นระยะเวลานาน เพื่อป้องกันความผันผวนของราคายางพารา และลดความเสี่ยงจากปัญหาการขาดทุนสต๊อก (Stock Loss) นอกจากนี้ ควรขยายตลาดไปยังคู่ค้าที่มีสัญญาณการเติบโตดี
ท่ามกลางภาวะที่ตลาดหลักอย่างจีนชะลอตัวลง เอสเอ็มอีต้องขยายการส่งออกไปตลาดประเทศอื่นที่อนาคตยังสดใส เช่น มาเลเซีย สหรัฐอเมริกา และอินเดีย ต้องรักษาคุณภาพของสินค้าที่ส่งออกให้ได้มาตรฐานอย่างต่อเนื่อง เพื่อรักษาฐานลูกค้าเดิม และรักษาส่วนแบ่งตลาดยางพาราของไทยในตลาดโลกเอาไว้ ในภาวะที่ตลาดส่งออกยางพาราแปรรูปขั้นต้นของไทยยังคงมีความเปราะบาง โดยหากพิจารณาจากการส่งออกยางพาราแยกตามผลิตภัณฑ์ พบว่าในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2559 เราส่งออกยางแท่งมากที่สุดคิดเป็น 45.25% เนื่องจากสามารถนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อื่นได้หลากหลาย โดยเฉพาะยางล้อที่เป็นส่วนหนึ่งของอุตสาหกรรมรถยนต์ที่มีแนวโน้มเติบโตดีในสหรัฐอเมริกา รองลงมาคือ น้ำยางข้น ยางแผ่นรมควัน ยางคอมพาวนด์ และยางอื่น ๆ
นอกจากนี้ อาจมุ่งเน้นไปที่การส่งออกยางพาราเพื่อใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตผลิตภัณฑ์ยางโดยเฉพาะยางล้อรถยนต์ และถุงมือยางทางการแพทย์ โดยมีตลาดหลักอย่างสหรัฐอเมริกาซึ่งเริ่มมีทิศทางเศรษฐกิจที่สดใสขึ้น ทั้งนี้ ประเทศไทยส่งออกยางพาราสำหรับใช้ในการผลิตยางล้อคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 56% แบ่งเป็นยางล้อรถยนต์ 49.5% และยางล้อรถจักรยานยนต์อีก 6.8%
สำหรับตลาดในประเทศนั้นก็ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ ที่ให้การส่งเสริมและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เพื่อช่วยเหลือเอสเอ็มอี ด้วยการหาทางสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับยางพารา เช่น การนำยางพาราไปทำเป็นพื้นถนน ปูพื้นสนามเด็กเล่น/สนามกีฬา และสันขอบเขื่อน ก็อาจเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่เอสเอ็มอีจะสามารถขยายตลาดและบรรเทาความเดือดร้อนลงได้บ้าง
ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่าผู้ประกอบการเอสเอ็มอีทุกท่านจะสามารถปรับกลยุทธ์รับมือแนวโน้มราคายางพาราที่คงยังไม่กระเตื้องขึ้นต่อไปอีกระยะหนึ่งการมองหาคู่ค้าที่มีศักยภาพใหม่ๆเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่จะช่วยให้เอสเอ็มอีสามารถรักษาตลาดและประคับประคองธุรกิจต่อไปได้ขอเป็นกำลังใจให้ทุกท่านครับ