มก.เสนอแนะการใช้เทคโนโลยี “ปุ๋ยสั่งตัด”อย่างถูกต้อง พร้อมขับเคลื่อนเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรลดต้นทุนการผลิต

วันนี้ (3 พ.ค.61)ที่ ห้องประชุมกำพล อดุลวิทย์ อาคารสารนิเทศ 50 ปี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน จัดงานแถลงข่าวข้อเท็จจริง เรื่อง เทคโนโลยี “ปุ๋ยสั่งตัด” เพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องในการใช้เทคโนโลยีปุ๋ยสั่งตัดเพื่อลดต้นทุนการผลิต และเสนอแนะแนวทางขับเคลื่อนโครงการปุ๋ยสั่งตัดของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์อย่างเป็นรูปธรรม โดยมี ดร.จงรัก วัชรินทร์รัตน์ รักษาการแทนอธิการดีมหาวิทยาลัย เกษตรศาสตร์ เป็นประธานการแถลงข่าว พร้อมด้วย ศาสตราจารย์ ดร.ทัศนีย์ อัตตะนันทน์ นักวิจัยเจ้าของผลงาน “ปุ๋ยสั่งตัด” งานวิจัยครั้งแรกของประเทศไทยที่นำหลักคิด “การเกษตรแม่นยำ”และ “ระบบสารสนเทศ” มาใช้ ดร.รุ่งโรจน์ พิทักษ์ด่านธรรม อาจารย์ประจำภาควิชาปฐพีวิทยา คณะเกษตร มหาวิทยาลัย เกษตรศาสตร์  ผู้ลงพื้นที่ขยายผลปุ๋ยสั่งตัด ผู้ใหญ่ร่ม วรรณประเสริฐ และ คุณศิริพร สุปัญญาพาณิชย์ เกษตรกรผู้ใช้เทคโนโลยีปุ๋ยสั่งตัด ร่วมแถลงข่าว

ดร.จงรัก วัชรินทร์รัตน์ รักษาการแทนอธิการดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า “ ปุ๋ยสั่งตัด เป็นเทคโนโลยีคำแนะนำปุ๋ยที่แม่นยำ เป็นงานวิจัยครั้งแรกของประเทศไทยที่นำหลักคิด“การเกษตรแม่นยำ”        มาปรับใช้ในการวิจัยและพัฒนา โดยคณะนักวิจัยของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ร่วมกับหน่วยงานต่างๆของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนันสนุนการวิจัย (สกว.) ในช่วงปี 2540-2551 ดังนั้น ปุ๋ยสั่งตัด จึงเป็นเทคโนโลยีที่สามารถเพิ่มการแข่งขันทางการตลาดภาคเกษตร ซึ่งไม่ใช่ยี่ห้อปุ๋ยสั่งตัด หรือเป็นปุ๋ยสำเร็จรูปแต่อย่างใด”

“ ผมขอแสดงความชื่นชมในนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่จะช่วยให้เกษตรกรลดต้นทุนการผลิตโดยใช้ปุ๋ยสั่งตัด แต่มีความคลาดเคลื่อนในการใช้เทคโนโลยีนี้ โดยระบุให้สถาบันเกษตรกรผลิตหรือจัดหาปุ๋ยสั่งตัด ซึ่งไม่ใช่เทคโนโลยีปุ๋ยสั่งตัด ”

“ ปัจจุบัน เกษตรกรมีต้นทุนในการผลิตพืชสูงมาก ถ้ารัฐบาลนำเทคโนโลยีปุ๋ยสั่งตัดให้เกษตรกรใช้อย่างกว้างขวาง ก็จะเป็นประโยชน์ในการลดต้นทุนการผลิตของเกษตรกร ผลผลิตมีคุณภาพ สามารถแข่งขันในตลาดโลกได้ และยังช่วยลดภาวะสิ่งแวดล้อม เมื่อเกษตรกรมีการปรับปรุงบำรุงดินอย่างต่อเนื่องก็จะทำให้ดินเป็นแหล่งผลิตทางเกษตรต่อไปอย่างยั่งยืน “

มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ในฐานะเจ้าของเทคโนโลยีปุ๋ยสั่งตัด ขออาสาเข้าไปช่วยโครงการขับเคลื่อนปุ๋ยสั่งตัดของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อให้นโยบายนี้ดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยเหลือเกษตรกรในการลดต้นทุนการผลิตตามเจตนารมณ์ของกระทรวง ฯ ที่ได้ตั้งไว้ โดยมีข้อเสนอแนะดังต่อไปนี้

  1. สหกรณ์การเกษตร สนับสนุนการจัดตั้งคลินิกดินเพื่อให้บริการตรวจดิน แนะนำการใช้ปุ๋ย และขายแม่ปุ๋ย
  2. กรมพัฒนาที่ดิน ทำ application ค้นหาชุดดิน บน smart phone เพื่อให้เกษตรกรใช้ได้อย่างสะดวก
  3. มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ทำ application ค้นหาคำแนะนำปุ๋ยสั่งตัด บน smart phone เพื่อให้เกษตรกรใช้ได้อย่างสะดวก
  4. ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) ให้เกษตรกรกู้เงินดอกเบี้ยต่ำ ตั้งกองทุน ซื้อแม่ปุ๋ยจำหน่ายแก่สมาชิกที่ใช้ปุ๋ยสั่งตัด
  5. มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์และกรมส่งเสริมการเกษตร รับผิดชอบการยกระดับความรู้ดินและปุ๋ยของเกษตรกร

 

ด้าน ศาสตราจารย์ ดร.ทัศนีย์ อัตตะนันทน์ ภาควิชาปฐพีวิทยา คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ นักวิจัยเจ้าของผลงาน “ปุ๋ยสั่งตัด” งานวิจัยครั้งแรกของประเทศไทยที่นำหลักคิด “การเกษตรแม่นยำ”  “ระบบสารสนเทศ” และ “ระบบสนับสนุนการตัดสินใจ” มาใช้ กล่าวว่า “ปุ๋ยสั่งตัด” สามารถลดต้นทุนการผลิตได้อย่างเป็นรูปธรรม โดยมีขั้นตอนการใช้เทคโนโลยี “ปุ๋ยสั่งตัด” 3 ขั้นตอน คือ  ขั้นที่ 1 ตรวจสอบข้อมูลชุดดิน โดยสอบถามข้อมูลชุดดินได้ที่สถานีพัฒนาที่ดินในทุกจังหวัด หรือตรวจสอบข้อมูลชุดดินได้ที่เว็บไซต์http://oss101.ldd.go.th/web_th_soilseries/INDEX_th_series.htm ขั้นที่ 2 วิเคราะห์ N-P-K ในดิน โดยใช้ชุดตรวจสอบ N-P-K ในดินแบบรวดเร็ว ขั้นที่ 3 ใช้ปุ๋ยตามคำแนะนำ ศึกษาได้จากคู่มือคำแนะนำ “ปุ๋ยสั่งตัด” หรือโปรแกรมคำแนะนำ “ปุ๋ยสั่งตัด” ดาวน์โหลดฟรีได้ที่ www.ssnm.info หรือแอปพลิเคชั่นของ NECTEC FCS: คำนวณปุ๋ยสั่งตัด

“ ซึ่งการพัฒนาคำแนะนำปุ๋ยสั่งตัดได้นำปัจจัยหลักที่ส่งผลต่อการเจริญเติบโตและให้ผลผลิตพืช ชนิดของดิน ธาตุอาหารในดินปัจจุบันมาร่วมคำนวณคำแนะนำปุ๋ย โดยใช้โปรแกรมสำเร็จรูป ดังนั้นจึงเป็นคำแนะนำปุ๋ยที่แม่นยำ แตกต่างจากคำแนะนำการใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน ซึ่งใช้เฉพาะค่าการวิเคราะห์ดินเท่านั้น “

“ ที่ผ่านมาด้วยการสนับสนุนของหน่วยงานภาครัฐและเอกชน การขยายผลได้ทำสำเร็จอย่างชัดเจน เช่น ศูนย์ข้าวชุมชนห้วยขมิ้น อ. หนองแค จ. สระบุรี มีสมาชิกกว่า 80 ราย พื้นที่ประมาณ 2,000 ไร่ เมื่อชาวนาใช้ปุ๋ยสั่งตัด ในปี 2551 ค่าปุ๋ยเคมีลดลงมาจากที่เคยใช้ 1.7 ล้านบาท ลดลงเหลือ 7 แสนเศษ (ลดลง 54%) ในปี

2560 และผลผลิตเพิ่ม 10-20% ดังนั้น ถ้าชาวนาในเขตชลประทานภาคกลางใช้ปุ๋ยสั่งตัดในพื้นที่ 15 ล้านไร่ ชาวนาจะลดต้นทุนและมีรายได้เพิ่มขึ้น ประมาณ 15,000 ล้านบาทต่อ 1 ฤดูปลูก ส่งผลให้สุขภาพของเกษตรกรและผู้บริโภคดีขึ้น ลดการปนเปื้อนของสารพิษในผลผลิต ลดปัญหาการปนเปื้อนของธาตุอาหารในแหล่งน้ำ ลดภาวะโลกร้อน และรักษาความอุดมสมบูรณ์ของดินให้เป็นแหล่งปลูกพืชต่อไปในระยะยาว”

 ดร.รุ่งโรจน์ พิทักษ์ด่านธรรม อาจารย์ประจำภาควิชาปฐพีวิทยา คณะเกษตร มหาวิทยาลัย เกษตรศาสตร์  ผู้ลงพื้นที่ขยายผลปุ๋ยสั่งตัด กล่าวว่า การทดสอบการใช้เทคโนโลยีปุ๋ยสั่งตัดเปรียบเทียบกับการใช้ปุ๋ยแบบเกษตรกรในข้าวนาปรังในทุ่งรังสิตในปี 2559-2560 พบว่า การใช้เทคโนโลยีปุ๋ยสั่งตัดให้ผลผลิตข้าวเฉลี่ย 927 กิโลกรัมต่อไร่ และมีต้นทุนค่าปุ๋ยเคมีเฉลี่ย 307 บาทต่อไร่ ในขณะที่การใช้ปุ๋ยแบบเกษตรกรให้ผลผลิตข้าวเฉลี่ย 826 กิโลกรัมต่อไร่ และมีต้นทุนค่าปุ๋ยเคมีเฉลี่ย 642 บาทต่อไร่ การใช้เทคโนโลยีเพิ่มกำไรในการผลิตข้าว ทำให้ต้นข้าวแข็งแรง ไม่ล้มเมื่อใกล้วันเก็บเกี่ยว มีโรคทางใบน้อย ข้าวเปลือกมีความชื้นต่ำ และมีเมล็ดลีบน้อย เมื่อเกษตรกรผู้นำขยายผลการใช้เทคโนโลยีในช่วงเวลาต่อมา พบว่า เกษตรกรมีความพอใจในเทคโนโลยีที่ช่วยเพิ่มผลผลิตทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพ ช่วยลดต้นทุนได้จริงและสามารถทำได้ด้วยตนเอง แต่เกษตรกรต้องการให้มีการตรวจวิเคราะห์ดินใกล้บ้าน มีเจ้าหน้าที่คอยติดตาม ทบทวนและเพิ่มพูนความรู้ เกษตรกรที่มีจิตอาสาช่วยกันให้ความรู้เพื่อนบ้านและร่วมกันจัดตั้งเป็นคลินิกดินให้บริการตรวจวิเคราะห์ดิน และให้คำแนะนำปุ๋ยที่ถูกต้องแก่กลุ่มเกษตรกรในพื้นที่ใกล้เคียง เกษตรกรบางรายอาจจำเป็นต้องเพิ่มค่าปุ๋ยเนื่องจากดินมีความอุดมสมบูรณ์ต่ำหรือธาตุอาหารหลักในดินขาดความสมดุลเพราะมีการใช้ปุ๋ยไม่ถูกต้องมาก่อน บางแปลงแม้เป็นที่นาเจ้าของเดียว ชุดดินเดียวกัน มีการจัดการปุ๋ยเหมือนกันมาก่อน แต่ละแปลงย่อยอาจได้รับคำแนะนำการใช้ปุ๋ยที่แตกต่างกันได้

ทั้งนี้  ดร.รุ่งโรจน์ พิทักษ์ด่านธรรม ทิ้งท้ายให้ข้อคิดว่า การใช้ปุ๋ยเคมีตามคำแนะนำ “ปุ๋ยสั่งตัด” แทนคำแนะนำทั่วไปที่ใส่ปุ๋ยโดยไม่ต้องวิเคราะห์ดินนั้น ควรให้เจ้าหน้าที่ระดับพื้นที่ได้ฝึกฝนเรียนรู้วิธีการ จากนั้นจึงถ่ายทอดความรู้ให้เกษตรกร และควรแก้ปัญหาการจัดหาแม่ปุ๋ยได้ยาก ส่วนการเพิ่มอินทรียวัตถุในดินควรเน้นการปลูกพืชตระกูลถั่วหมุนเวียน และลดการเผาเศษซากพืชโดยใช้การไถกลบเศษพืชลงดิน ซึ่งจะช่วยลดปริมาณการใช้ปุ๋ยเคมีตามคำแนะนำ “ปุ๋ยสั่งตัด” ได้ด้วย

 

 

ผกามาศ ธนพัฒนพงศ์ / รายงาน