สถาบันเกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ ประจำปี พ.ศ. 2561 กลุ่มยุวเกษตรกร

กลุ่มยุวเกษตรกรโรงเรียนเพียงหลวง ๑๒ ในทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี

จัดตั้งขึ้นเมื่อ      11 มีนาคม 2551

สมาชิกแรกตั้ง    15 คน

สมาชิกปัจจุบัน   20 คน

ประธานกลุ่ม      เด็กหญิงวิลาวัณย์ คำมั่น

ที่ทำการกลุ่ม     โรงเรียนเพียงหลวง ๑๒ บ้านท่าล้ง หมู่ที่ 5 ตำบลห้วยไผ่ อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี

โทรศัพท์           (081) 071-2581

 

ผลงานดีเด่น ความคิดริเริ่ม

โรงเรียนเพียงหลวง ๑๒ ในทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี เดิมชื่อโรงเรียนบ้านท่าล้ง ตั้งอยู่หมู่ที่ 5 ตำบลห้วยไผ่ อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาอุบลราชธานี เขต 3 สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ อยู่ห่างจากตัวอำเภอโขงเจียม ประมาณ 25 กิโลเมตร สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาอุบลราชธานี เขต 3 ประมาณ 65 กิโลเมตร และห่างจากตัวอำเภอเมืองอุบลราชธานี ประมาณ 120 กิโลเมตร เปิดทำการสอน ในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-6 เขตพื้นที่บริการของโรงเรียนคือ ชุมชนบ้านท่าล้ง ตำบลห้วยไผ่ อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี มีประชากร จำนวน 35 คน 75 ครัวเรือน

โรงเรียนและชุมชนตั้งอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติผาแต้ม ติดริมฝั่งแม่น้ำโขงแนวชายแดนประเทศลาวชุมชนบ้านท่าล้งเป็นชนเผ่า เรียกตนเองว่าไทบรู มีภาษา มีวัฒนธรรมเฉพาะเป็นของตนเอง ภาษาที่ใช้คือ ภาษาบรู ภาษาอีสาน และภาษาไทยกลาง มีความเชื่อเกี่ยวกับผี นับถือผีปู่ตา ปัจจุบันนับถือศาสนาพุทธ ประกอบอาชีพแบบผสมผสาน ได้แก่ การประมง จักสาน ทำนา ทำสวนตามริมลำห้วย และตามริมฝั่งแม่น้ำโขง รวมทั้งการเก็บของป่า แต่การทำมาหาเลี้ยงชีพของชุมชนเป็นไปด้วยความยากลำบาก เนื่องจากสภาพทางภูมิศาสตร์ของชุมชนเป็นพื้นที่ลาดเชิงเขา พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นหิน พื้นที่ทำกินมีจำกัด และชาวบ้านไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่ดิน พื้นที่ไม่เหมาะสำหรับทำอาชีพการเกษตร แต่ในความจำเป็นด้านความเป็นอยู่ของเด็กๆ และชุมชนในอนาคต ทั้งด้านอาหารการกิน รายได้ที่เพียงพอในการใช้จ่าย คนในชุมชนละทิ้งถิ่นฐานเข้าไปหางานทำในเมือง โรงเรียนและชุมชนจึงริเริ่มจัดตั้งกลุ่มยุวเกษตรกรขึ้น เมื่อปี 2551 โดยได้รับการแนะนำจากสำนักงานเกษตรอำเภอโขงเจียม โดยจัดตั้งกลุ่มขึ้นครั้งแรก เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2551 สมาชิกเริ่มแรก จำนวน 15 ราย พื้นที่ดำเนินกิจกรรม ประมาณ 15 ไร่

สมาชิกกลุ่มยุวเกษตรกรโรงเรียนเพียงหลวง ๑๒ และคณะที่ปรึกษา มีความเชื่อมั่นในการที่จะแก้ไขปัญหา โดยพัฒนาดินให้มีความอุดมสมบูรณ์ ให้เหมาะสำหรับการเพาะปลูก พัฒนาแหล่งน้ำให้เพียงพอสำหรับการเกษตร พัฒนาความรู้วิธีการใหม่ๆ ที่สามารถทำการเกษตรในพื้นที่จำกัดให้ได้ทั้งปริมาณและคุณภาพโดยไม่ใช้สารเคมี และเริ่มดำเนินกิจกรรมทางการเกษตรและเคหกิจ เพื่อให้สมาชิกได้ฝึกปฏิบัติและเรียนรู้จากการปฏิบัติจริง และเป็นต้นแบบของการพัฒนาตามกระบวนการพัฒนา 4 ก เกตุ กมล กร กาย จนเกิดเป็นแหล่งเรียนรู้ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงให้กับนักเรียนและคนในชุมชน

กลุ่มยุวเกษตรกรได้เรียนรู้และทำกิจกรรมการเกษตรอย่างต่อเนื่องจากรุ่นหนึ่งสู่อีกรุ่นหนึ่ง จากรุ่นพี่สู่รุ่นน้อง โดยรุ่นพี่จะทำหน้าที่ในการบริหารจัดการ และรุ่นน้องจะเป็นผู้ปฏิบัติกิจกรรมต่างๆ ตามกำลัง โดยมีที่ปรึกษากลุ่มกิจกรรมคอยให้คำแนะนำ โดยให้สมาชิกได้เรียนรู้และฝึกปฏิบัติจริง และเน้นการขยายผลการนำไปใช้ในครอบครัว ขยายผลสู่หมู่บ้านชุมชน รวมทั้งหมู่บ้านใกล้เคียง โรงเรียนในกลุ่มเครือข่ายทั้งเครือข่ายด้านวิชาการและเครือข่ายกลุ่มยุวเกษตรกร โดยยึดการดำเนินการตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง

นวัตกรรมหรือภูมิปัญญาที่นำมาใช้ในการดำเนินการในกลุ่มยุวเกษตรกรคือ การเริ่มเรียนรู้วิถีการทำการเกษตรตามวิถีชาวไทบรูบ้านท่าล้ง ที่ประสบผลสำเร็จนำมาพัฒนาต่อยอด ประกอบกับการนำนวัตกรรมเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาใช้ในการทำการเกษตร ได้แก่ ระบบการให้น้ำพืชผักโดยอัตโนมัติ TIMER ซึ่งตั้งเวลารดน้ำได้ตามต้องการ และพัฒนานำระบบ Smart Farm ที่สามารถสั่งงานการรดน้ำ การให้ปุ๋ย ผ่านแอปพลิเคชั่นบนสมาร์ทโฟน พร้อมทั้งระบบการแจ้งเตือนผ่านระบบ LINE Notify ที่ช่วยให้ทราบค่าความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่มีความแม่นยำ ระบบ Smart Farm เหมาะสำหรับพื้นที่การเกษตรของชุมชนบ้านท่าล้ง ที่กันดาร เป็นระบบที่ช่วยประหยัดแรงงาน การให้น้ำ ให้ปุ๋ย ได้มาตรฐานตามความต้องการของพืชที่ปลูก ประหยัดน้ำ ประหยัดปุ๋ย ลดเวลาการทำงาน และผลผลิตทางการเกษตรมีคุณภาพ จำหน่ายได้ราคาสูง เพื่อให้สมาชิกกลุ่มยุวเกษตรกรได้เรียนรู้และฝึกปฏิบัติเป็นแนวทางในอนาคต สามารถที่จะเป็นผู้นำด้านการเกษตรสมัยใหม่ได้

 

ความสามารถในการบริหารและการจัดการสถาบัน

กลุ่มยุวเกษตรกรโรงเรียนเพียงหลวง ๑๒ มีการบริหารจัดการและการดำเนินงานโดยคณะกรรมการสภายุวเกษตรกร ร่วมกับสมาชิกกลุ่มยุวเกษตรกร ที่ปรึกษายุวเกษตรกร และชุมชนเป็นหลัก ซึ่งมีเป้าหมายและวัตถุประสงค์อย่างชัดเจน เพื่อการเพิ่มพูนความรู้ ทักษะและความชำนาญให้แก่สมาชิกกลุ่มยุวเกษตรกร โดยเรียนรู้จากการปฏิบัติงานด้วยตนเองและใช้เป็นแนวทางในการประกอบอาชีพในอนาคต ซึ่งกลุ่มยุวเกษตรกรจะดำเนินกิจกรรมการเกษตร ผลผลิตที่ได้ใช้ในโครงการอาหารกลางวัน ส่วนผลผลิตที่เกินความต้องการจะแจกจ่ายให้สมาชิกนำกลับไปรับประทานที่บ้าน แจกจ่ายนักเรียน ครู และผู้ปกครอง แจกจ่ายคนในชุมชนใกล้โรงเรียน หรือจำหน่ายให้กับสหกรณ์โรงเรียน

 

การสร้างข้อตกลงและระเบียบข้อบังคับในการทำกิจกรรมของกลุ่ม

การบริหารจัดการกลุ่มยุวเกษตรกรโรงเรียนเพียงหลวง ๑๒ มีการกำหนดข้อตกลงและกฎระเบียบของกลุ่ม มีการประชุมสภายุวเกษตรกรอย่างเป็นทางการเดือนละ 1 ครั้ง เพื่อร่วมกันพิจารณาแผนการดำเนินงาน ทบทวนกิจกรรมการดำเนินงาน รวมทั้งเพื่อเสนอผลการดำเนินงานของกลุ่มในภาพรวมให้ที่ประชุมรับทราบ นอกจากนี้ ยังมีการประชุมปรึกษาหารืออย่างไม่เป็นทางการเป็นระยะเพื่อการพัฒนางานของกลุ่มได้อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งประชุมเพื่อพิจารณาเลือกตั้งคณะกรรมการชุดใหม่เมื่อดำเนินงานครบวาระ 1 ปี การติดตามและรายงานผลการจัดทำสมุดบันทึกประจำกลุ่ม ทั้งงานรวม งานกลุ่มย่อย และงานส่วนบุคคล ฝึกปฏิบัติกิจกรรม ด้วยความถูกต้องเรียบร้อย และใช้เป็นข้อมูลสำคัญในการประกอบการวางแผนการดำเนินกิจกรรม และการปรับปรุงพัฒนากิจกรรมอย่างต่อเนื่อง

 

การกำหนดบทบาทหน้าที่ของกลุ่ม

มีการจัดโครงสร้างและกำหนดบทบาทหน้าที่ของคณะกรรมการกลุ่มอย่างชัดเจน มีคณะกรรมการสภายุวเกษตรกร จำนวน 5 คน ประกอบด้วย ประธาน รองประธาน เลขานุการ เหรัญญิก และปฏิคม และที่ปรึกษา ได้รับการคัดเลือกจากสมาชิกสภายุวเกษตรกร ซึ่งคณะกรรมการชุดนี้จะเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการที่จะบริหารจัดการกลุ่ม ได้โอกาสเรียนรู้งาน ฝึกปฏิบัติงานตามบทบาทหน้าที่ ได้รับคำปรึกษาแนะนำภาวะความเป็นผู้นำจากที่ปรึกษากลุ่ม จึงถือได้ว่าคณะกรรมการชุดนี้ได้รับโอกาสสำคัญในการฝึกฝนความเป็นผู้นำ กล้าคิด กล้าทำ กล้าแสดงออกตามระบอบประชาธิปไตย

นอกจากจัดให้มีโครงสร้างการบริหารกลุ่มโดยมีคณะกรรมการสภายุวเกษตรกรโรงเรียนเพียงหลวง ๑๒ แล้ว ยังจัดให้มีโครงสร้างการบริหารลำดับรองลงมา คือ โครงสร้างการบริหารงานกลุ่มย่อย ซึ่งประกอบไปด้วย กลุ่มเพาะปลูกพืชผักสวนครัว กลุ่มปศุสัตว์ กลุ่มประมง กลุ่มเคหกิจเกษตร และกลุ่มธุรกิจการเกษตรซึ่งจัดในรูปกิจกรรมสหกรณ์ โดยมีหัวกลุ่มเป็นผู้นำ ทำหน้าที่ในการนำสมาชิกในกลุ่มย่อยดำเนินกิจกรรมของกลุ่ม ได้แก่ การออกแบบวางแผนกิจกรรม การกำกับดูแลการปฏิบัติกิจกรรมของสมาชิกในกลุ่มย่อย เสนอความคิดเห็นการดำเนินงานในการประชุมสมาชิกกลุ่มยุวเกษตรกรโรงเรียนเพียงหลวง ๑๒ ดังนั้น หัวหน้ากลุ่มงานย่อยจึงได้รับโอกาสในการฝึกฝนความเป็นผู้นำ ซึ่งสามารถจะพัฒนาตนเองไปเป็นผู้นำในสภายุวเกษตรได้ในโอกาสต่อไป

การดำเนินกิจกรรมทางการเกษตรที่สำคัญของกลุ่ม โดยกลุ่มยุวเกษตรกรโรงเรียนเพียงหลวง ๑๒ มีการวางแผนการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ที่สอดคล้องกับศักยภาพของกลุ่มและสอดคล้องกับบริบทของพื้นที่ดำเนินกิจกรรม ซึ่งในแต่ละปีจะมีการพัฒนาต่อยอดกิจกรรมดำเนินการที่ผ่านมา และมีการพัฒนากิจกรรมเพิ่มเติมอย่างต่อเนื่องทุกๆ ปี แบ่งได้ดังนี้

  1. งานรวม ที่ใช้พื้นที่ในบริเวณโรงเรียนและพื้นป่าชุมชน เป็นพื้นที่ดำเนินกิจกรรมหลัก และบูรณาการเข้ากับการเรียนรู้สาระการเรียนรู้ ดังนี้

1.1 กิจกรรมการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม โดยดำเนินกิจกรรมร่วมกันในการปลูกป่าทุกๆ ปี และการทำฝายชะลอน้ำ การเดินท่อส่งน้ำให้กับป่าในฤดูแล้ง โดยร่วมกับชุมชนและภาคีเครือข่ายต่างๆ

1.2 กิจกรรมการปลูกข้าวในบ่อซีเมนต์

1.3 กิจกรรมการปลูกแก่นตะวัน

1.4 กิจกรรมการปลูกถั่วดาวอินคา

1.5 กิจกรรมการปลูกแกลดิโอลัส

1.6 กิจกรรมการปลูกทานตะวัน

1.7 กิจกรรมการปลูกงา

1.8 กิจกรรมการปลูกถั่วลิสง

1.9 กิจกรรมการปลูกมันเทศ

  1. งานกลุ่มย่อย ใช้พื้นที่ในบริเวณโรงเรียนเป็นพื้นที่ในการดำเนินกิจกรรม ประกอบด้วย

2.1 กิจกรรมการเพาะปลูกพืชผักสวนครัวและพืชผักขึ้นร้านชนิดต่างๆ

2.2 กิจกรรมการประมง ได้แก่ การเลี้ยงกบ ปลาดุก ปลาหมอ กุ้งก้ามกราม

2.3 กิจกรรมการปศุสัตว์ ได้แก่ การเลี้ยงหมู เป็ดไข่ ไก่

2.4 กิจกรรมกลุ่มสหกรณ์

2.5 กิจกรรมด้านเคหกิจเกษตร

  1. งานส่วนบุคคล สมาชิกกลุ่มยุวเกษตรกรนำความรู้ที่ได้รับและฝึกปฏิบัติไปดำเนินกิจกรรมการเกษตรร่วมกับครอบครัวและชุมชน โดยเลือกกิจกรรมจากความสนใจและความถนัด โดยสมาชิกกลุ่มยุวเกษตรกรทุกคนมีการทำแปลงผักสวนครัวในบริเวณบ้านของตนเอง

 

บทบาทและการมีส่วนร่วมของสมาชิกต่อสถาบัน

สมาชิกกลุ่มยุวเกษตรกรมีบทบาทและมีส่วนร่วมในการดำเนินกิจกรรมของกลุ่มยุวเกษตรกร ดังนี้

  1. การเลือกตั้งคณะกรรมการสภายุวเกษตรกรเป็นไปตามข้อบังคับกลุ่ม และคณะกรรมการสภายุวเกษตรกร/สมาชิกกลุ่มยุวเกษตร มีความรู้ความเข้าใจในบทบาทและทำหน้าที่ตามบทบาทอย่างครบถ้วน
  2. สมาชิกกลุ่มยุวเกษตรกรต้องเข้าร่วมประชุมกลุ่มยุวเกษตรกร ตามที่กำหนดเพื่อรายงานผลการดำเนินงานของแต่ละกิจกรรม ปัญหาและอุปสรรคในการทำงาน และจะรับผิดชอบกิจกรรมต่างๆ และแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทำกิจกรรมต่างๆ ที่มีอยู่ในโรงเรียนหรือกลุ่มยุวเกษตรกรทั้งหมด รวมทั้งสมาชิกกลุ่มยุวเกษตรกรต้องร่วมกันจัดทำสมุดบันทึกประจำกลุ่มทั้งงานรวม งานกลุ่มย่อย และงานส่วนบุคคลในการฝึกปฏิบัติ เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการวางแผนการดำเนินงานและกิจกรรมต่อไป
  3. สมาชิกกลุ่มยุวเกษตรกรร่วมวางแผนงาน/โครงการ/กิจกรรม ของกลุ่มยุวเกษตรกร และร่วมรับผลประโยชน์
  4. สมาชิกกลุ่มยุวเกษตรกรเข้าร่วมศึกษา เรียนรู้ ฝึกปฏิบัติจริงด้านเทคโนโลยีการเกษตร เคหกิจเกษตร ธุรกิจเกษตร และการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม โดยนำความรู้ ทักษะ ประสบการณ์ ขยายผลไปใช้ต่อที่บ้าน และเผยแพร่สู่ชุมชน และมีการมอบหมายหน้าที่ในการดำเนินงานกลุ่มยุวเกษตรกรอย่างชัดเจน
  5. สมาชิกกลุ่มยุวเกษตรกรให้ความช่วยเหลือ สนับสนุน การปฏิบัติงานของสมาชิกในกลุ่มยุวเกษตรกร และเครือข่ายการดำเนินงานของกลุ่มยุวเกษตรกร