บุญเรือง ธิวงค์ษา ผลิตทุเรียนหมอนทองคุณภาพ ปลอดสาร ตลาดรับซื้อไม่อั้น ที่ศรีสัชนาลัย สุโขทัย

“ศรีสัชนาลัย” เป็นอำเภอหนึ่งของจังหวัดสุโขทัย นอกจากมีเกษตรกรผลิตส้มเขียวหวานสีทองที่มีคุณภาพ สร้างชื่อเสียงให้กับจังหวัด ยังมีเกษตรกรปลูกทุเรียนพื้นบ้านมาหลายชั่วอายุคน ไม่น้อยกว่า 80 ปี และเริ่มมีการพัฒนาผลิตทุเรียนคุณภาพดี เปลี่ยนยอดเป็นทุเรียนหมอนทอง ลงแปลงปลูกอย่างเป็นระบบ ปลูกกันมาเมื่อเกือบ 40 ปี มาแล้ว จุดประกายความคิดมาจากทุเรียนพื้นบ้าน เรียกกันว่า ทุเรียนจระเข้ ที่มีอายุของต้น 220 ปี หลายท่านคงเคยได้ยินชื่อทุเรียนนี้กันมาบ้าง นิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน เคยนำมาตีพิมพ์ครั้งหนึ่ง เมื่อปี พ.ศ. 2553 จากต้นทุเรียนจระเข้ได้ก่อเกิดแนวคิดให้แก่เกษตรกรหันมาปลูกทุเรียนพันธุ์ดี จนเป็นอาชีพหลักที่สร้างรายได้ให้แก่ครอบครัวและมีเงินไหลเข้าชุมชน จาก 1 แปลง ขยายพื้นที่เป็นวงกว้าง มาถึง ปี พ.ศ. 2561 มีการปลูกทุเรียนกันทั้งหมู่บ้าน ทั้งตำบล มากกว่า 500 ครัวเรือน

กล่าวโดยภาพรวมแล้ว ในปัจจุบัน ทุเรียน ได้กลายมาเป็นผลไม้ที่ให้ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจสูงทีเดียว และมีแนวโน้มที่จะขยายการส่งออกมากขึ้น ทั้งยังถูกกำหนดให้เป็นพืชที่ต้องเพิ่มคุณภาพการผลิตเพื่อการส่งออก

นิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้านฉบับนี้ ได้นำสาระดีๆ เกี่ยวกับการผลิตทุเรียนคุณภาพ จากอำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย มาให้ท่านผู้อ่านได้รู้จัก และอาจติดต่อพูดคุยกับเกษตรกร ซึ่งเป็นแปลงปลูกของเกษตรกรที่ผมไปดูและสัมภาษณ์มาครับ

คุญบุญเรือง ธิวงค์ษา อายุ 50 ปี อยู่บ้านเลขที่ 135 หมู่ที่ 7 บ้านห้วยตม ตำบลบ้านตึก อำเภอศรีสัชนาลัย  จังหวัดสุโขทัย โทรศัพท์ (098) 556-5829 มีตำแหน่งเป็นสมาชิกเครือข่ายสภาเกษตรกร ตำบลบ้านตึก เขตอำเภอศรีสัชนาลัย ภรรยาชื่อ คุณมนฤทัย ธิวงค์ษา

คุณบุญเรือง ธิวงค์ษา

 

เบื้องหลังการทำสวนทุเรียน เคยล้มลุกคลุกคลานมาก่อน

คุณบุญเรือง เล่าให้ฟังว่า ตนเองมีสวนทุเรียน 3 แปลง รวมเนื้อที่ 29 ไร่ ทุเรียนที่ปลูกมีอายุต่างกัน จำนวน 750 ต้น ร้อยละ 99 เป็นสายพันธุ์หมอนทอง ร้อยละ 1 เป็นหลง-หลิน ลับแล เริ่มปลูกทุเรียนอย่างจริงจัง ก็ช่วงปี พ.ศ. 2546 แต่ก่อนหน้านั้นราวๆ ปี พ.ศ. 2522 มีเกษตรกรในชุมชนปลูกทุเรียนกันมาก่อน เป็นต้นทุเรียนจากการเพาะเมล็ดทุเรียนพื้นบ้าน เพราะเขาเห็นว่าเกษตรกรที่อำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์ ปลูกกันแล้วได้ผลดี ก็ทดลองปลูกกันต่อมาก็เริ่มมีการนำยอดทุเรียนหมอนทองมาเปลี่ยนยอด เห็นว่าเจริญงอกงามดีได้ผลผลิต ตนจึงมั่นใจว่าพื้นที่ดินบริเวณนี้ปลูกทุเรียนได้ จึงตัดสินใจลงทุนซื้อกล้าพันธุ์ทุเรียนหมอนทองจากจังหวัดจันทบุรี จำนวน 100 ต้น นำมาปลูกในพื้นที่ของตน แต่ไม่ได้ผล ต้นทุเรียนอยู่รอดปลอดภัยมาได้เพียง 4 ต้น และการเติบโตก็ช้า จึงมีข้อสันนิษฐานถึงความไม่เหมาะสมว่า ปัญหานั้นไม่เป็นที่พื้นที่ ก็เป็นที่กล้าพันธุ์ หรือเป็นที่วิธีการปลูกไม่ถูกต้อง

“เหลือ 4 ต้น ก็ 4 ต้น…ก็ยังดี คิดใหม่ ทำตามเขาทีนี้ก็ใช้วิธีนำเมล็ดทุเรียนพื้นบ้านฝังลงในดิน พอแตกต้นอ่อนออกมา หนูก็กัดกินใบจนหมด แต่…ก็ไม่ท้อ ไปถามเพื่อนบ้านก็แนะนำว่า เพาะเมล็ดในถุงชำ เพื่อใช้เป็นต้นตอ ก็ทำตาม จนเมื่อต้นทุเรียนมีอายุได้ 1 ปีเศษ ต้นจะสูงประมาณ 80 เซนติเมตร จึงนำไปปลูกลงในแปลงปลูก จนอายุได้ 2 ปี หรือลำต้นมีเส้นผ่านศูนย์กลาง 1 นิ้ว ถึง 1 นิ้วครึ่ง จึงเปลี่ยนยอดด้วยการเสียบยอด ใช้ยอดทุเรียนหมอนทอง” คุณบุญเรือง กล่าว

คุณบุญเรือง กล่าวเพิ่มเติมว่า การนำยอดกิ่งพันธุ์ทุเรียนหมอนทองมาเสียบยอดกับต้นตอทุเรียนพื้นบ้าน ก็ต้องมีความรู้และประสบการณ์ในการดูว่ายอดเช่นไรจึงนำมาใช้ได้ ก็ให้ดูว่าที่ปลายยอดต้องมีใบแก่ แต่ยังไม่แตกยอดอ่อน และระหว่างกิ่งกับก้านใบมียอดแหลมๆ ประมาณว่าเป็นเม็ดข้าวสารที่ยังไม่แตกยอด

ส่วนวิธีการเสียบยอดนั้น คุณบุญเรือง อธิบายว่าให้ดูลำต้นของต้นตอว่ามีขนาดพอเหมาะหรือยัง ถ้าต้นตอพอเปิดแผลเป็นรูปตัว T ได้ ก็ลงมือทำ เมื่อเสียบแล้วก็ใช้เทปพลาสติกใสพันรอบรอยแผลและพันขึ้นไปถึงยอดกิ่งพันธุ์หมอนทอง เพื่อป้องกันการสูญเสียน้ำ และรอเวลา 20 วัน ถ้ามีการแตกยอดออกมา อย่างนี้แผลติดกันแน่ๆ ก็แกะพลาสติกที่พันยอดพันธุ์หมอนทองอยู่ แต่ให้รักษาบริเวณที่พันรอยแผลไว้ ถ้าพ้นเวลาแล้ว ยังไม่มีการพัฒนาก็รอถึง 30 วัน ถ้าไม่แตกยอดแสดงว่าไม่เป็นผลสำเร็จ

 

การปลูกและการดูแล ต้นทุเรียน ช่วงอายุ 1-5 ปี

ความรู้เรื่องการปลูก ดูแล ต้นทุเรียนแต่ละช่วงอายุสามารถศึกษาค้นคว้าได้จากหลายแหล่ง จากสื่อต่างๆ หนังสือเกษตร แต่ที่สวนของคุณบุญเรือง เป็นพื้นที่เฉพาะเป็นที่ลาดเชิงเขา ไม่ได้ดำเนินการตามหลักวิชาการเกษตรมากนัก แต่ก็เห็นการเติบโตของต้นทุเรียนเป็นไปด้วยดี รูปทรงหรือทรงพุ่มสวยงามดี

คุณบุญเรือง ได้เล่าย้อนหลังไปถึงการปลูกต้นทุเรียนว่า พื้นที่ที่ปลูกไม่ได้เป็นพื้นที่ราบ แต่เป็นพื้นที่ลาดเชิงเขา ตอนที่ลงมือปลูกไม่ได้กะระยะห่างระหว่างต้นตามหลักวิชาการ จึงต้องคิดต่างจากเกษตรกรคนอื่นๆ โดยปลูกสลับกันคล้ายรูป X ตามแนวลาดเอียงของพื้นที่ เพื่อไม่ให้ต้นบังกัน แสงแดดส่องถึงทั่วทุกต้น ตัดปัญหาเรื่องต้นทุเรียนแข่งกันสูงเพื่อแย่งกันรับแสงแดด และให้อยู่ร่วมกันกับป่าไม้ตามธรรมชาติได้

แปลงเพาะกล้าทุเรียนหมอนทอง

คุณบุญเรือง กล่าวเพิ่มเติมว่า พื้นที่แปลงปลูกทุเรียนของตนเป็นดินภูเขา เป็นพื้นที่เฉพาะจริงๆ เนื้อดินออกไปทางสีน้ำตาลแดง เนื้อดินเก็บความชื้นได้ดี การระบายน้ำดี เมื่อนำเครื่องมือตรวจหาค่า pH ดิน ได้ค่า 6.2 ซึ่งดินที่เหมาะสมกับการปลูกทุเรียนจะมีความเป็นกรดเป็นด่าง (pH), (pH ย่อมาจาก Positive potential of the Hydrogen ions) ประมาณ 5.5-6.5 หน่วย pH โดยที่ยังไม่ได้มีการปรับสภาพดินแต่อย่างใด ถ้าเป็นสภาพอากาศอุณหภูมิจะอยู่ระหว่าง 25-30 องศาเซลเซียส จึงน่าจะมีความเหมาะสมกับการปลูกทุเรียน

สภาพทั่วไปของสวน

ส่วนการดูแลปฏิบัติการกับสวนทุเรียนนั้น คุณบุญเรือง เล่าว่า ต้องใช้ความขยันหมั่นเพียร อดทนกับสภาพพื้นที่ต้องดูแลทุเรียนแต่ละต้นว่า ต้น ใบ กิ่ง ก้าน ดูสดใส ก็แสดงว่าต้นทุเรียนมีสุขภาพดีอยู่ ก็ไม่ต้องใส่ปัจจัยการผลิตใดๆ มากนัก หรือสังเกตว่าหลังการใส่ปัจจัยการผลิตลงไปแล้วสักระยะหนึ่ง การตอบสนอง การเจริญเติบโตเป็นเช่นไร กล่าวถึงการใส่ปัจจัยการผลิต ขณะที่ต้นทุเรียนยังมีอายุไม่มาก ก็จะใส่ปุ๋ย สูตร 46-0-0 สลับกับ สูตร 15-15-15 ทยอยใส่ครั้งละ 2-3 ช้อนโต๊ะ ต่อต้น ใส่ทุก 2-3 เดือน และใส่ปุ๋ยคอกจากขี้วัว กับใช้น้ำหมักชีวภาพจากจาวปลวกและฮอร์โมนสังเคราะห์แสง ฉีดพ่นเพื่อเป็นตัวช่วยอีกทางหนึ่ง

น้ำหมักชีวภาพ หรือจุลินทรีย์จากจาวปลวก

– ช่วยเร่งการเจริญเติบโตของรากต้นทุเรียน รากแข็งแรง

– ช่วยลดความรุนแรงของโรคในดินที่ระบบราก เช่น รากเน่า รากขาว รากปม เป็นต้น

– ช่วยย่อยสลายอินทรียวัตถุในดิน

ฮอร์โมน หรือจุลินทรีย์สังเคราะห์แสง

– ช่วยย่อยสลายอินทรียวัตถุในดิน

– กระตุ้นรากดูดซึมธาตุอาหารได้ดี

– ช่วยตรึงไนโตรเจนในดิน

นอกจากนั้นก็ต้องมีการตัดแต่งกิ่ง วัตถุประสงค์เพื่อจัดรูปทรงหรือทรงพุ่มของต้นทุเรียนที่ต้องการ โดยตัดแต่งกิ่งแขนงและกิ่งรองออกทั้งหมด เพื่อให้โคนใหญ่ กิ่งใหญ่

การใส่ปุ๋ยคอกนั้น ก็ต้องปรับพื้นที่ดินโดยขุดร่องให้อยู่เหนือโคนต้นทุเรียน ป้องกันการชะล้างหน้าดิน เวลาให้น้ำหรือฝนตกไม่ให้ไหลลงตามพื้นที่ลาดเอียง หากเมื่อได้ขุดหรือแหวกหน้าดินดู เห็นมีไส้เดือน หรือมีต้นหญ้าเล็กๆ ขึ้นเขียวขจี แสดงว่าดินบริเวณนั้นมีความสมบูรณ์ด้วยธาตุอาหารพืช เรื่องระบบน้ำบางส่วนใช้สปริงเกลอร์ ช่วงฤดูฝนไม่มีปัญหาเรื่องน้ำ มีการเก็บสำรองน้ำฝนไว้ใช้ในหน้าแล้ง ใส่แท็งก์น้ำไว้บนที่สูงแล้วระบายลงไปตามท่อ ถ้ายังไม่พอใช้ก็สูบขึ้นมาจากบ่อบาดาลบรรจุไว้ในแท็งก์น้ำ นำมาใช้ได้อย่างเพียงพอตลอดฤดูกาล ส่วนสารเคมีสำหรับพืชที่สวนแห่งนี้ไม่ได้นำมาใช้ ใช้วิธีการป้องกันกำจัดโรคและแมลงแบบธรรมชาติ เช่น การใช้กับดักแมลง น้ำหมักสมุนไพรไล่แมลง เชื้อราไตรโคเดอร์มา เชื้อราบิวเวอเรีย เป็นต้น

มีระบบสปริงเกลอร์ที่ยอด

“ปลูกทุเรียนบนพื้นที่ลาดเชิงเขา ที่อยู่สูงกว่าที่ตั้งบ้านเรือนต้องรับผิดชอบต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม จึงไม่ได้ใช้สารเคมี” คุณบุญเรือง กล่าว

 

การปฏิบัติดูแลต้นทุเรียนที่ให้ผลผลิตแล้ว

คุณบุญเรือง บอกว่า ต้นทุเรียนเมื่ออายุได้ 5 ปี ก็จะทยอยให้ผลผลิตแล้ว หลังจากเก็บผลทุเรียนจะให้ต้นได้พักตัวระยะหนึ่ง ก็จะถึงเวลาเตรียมต้นสำหรับการออกดอกในฤดูกาลต่อไป คือราวๆ เดือนพฤศจิกายนถึงเดือนมกราคม

หลังเก็บผลผลิต จะตัดแต่งกิ่ง วัตถุประสงค์เพื่อให้ต้นทุเรียนแตกใบรุ่นใหม่ ใส่ปุ๋ย สูตร 16-16-16 ร่วมกับปุ๋ยคอก โดยหว่านปุ๋ยคอกก่อน แล้วตามด้วยปุ๋ยเคมี ช่วงเวลานี้ต้องหมั่นคอยสังเกตโรคและแมลงมีมารบกวนหรือไม่ แมลงจะมีพวกแมลงปีกแข็ง ตั๊กแตน เพลี้ยแป้ง เพลี้ยไก่แจ้ จะเริ่มเข้ารบกวนเมื่อทุเรียนเริ่มแตกใบอ่อน พวกนี้กำจัดได้โดยใช้จุลินทรีย์จาวปลวก จุลินทรีย์สังเคราะห์แสง หรือใช้ขี้เถ้าผสมน้ำ ตั้งไว้ 1 คืน แล้วกรองเอาแต่น้ำ นำไปผสมกับน้ำเปล่าในแท็งก์น้ำด้วยระบบน้ำหยด และสูบขึ้นตามท่อสายส่งของสปริงเกลอร์แบบบิ๊กกันที่ติดตั้งไว้สูงกว่ายอดต้นทุเรียนเล็กน้อยฉีดพ่น

ก่อนถึงการส่งเสริมการออกดอก ต้องทำใบให้ได้ 2-3 รุ่นใบ ในแต่ละรุ่นใบดูการพัฒนาของใบ ใบเขียวสดใส ให้มีการสะสมธาตุอาหารอย่างเพียงพอ เน้นการจัดการเรื่องน้ำ เพื่อให้มีการแทงยอดอ่อนให้เร็วที่สุด เป็นการสร้างใบใหม่ ไม่ให้มีการถ่ายใบ จากนั้นก็ต้องปฏิบัติการทำให้ต้นทุเรียนเกิดสภาวะเครียด ด้วยการงดให้น้ำ เราใช้ภาษาใบในการสื่อสารให้เห็นพฤติกรรมการแสดงออกของใบ คือใบเขียวเข้ม ใบเริ่มสลดลง ใบจะห่อเหี่ยวเข้าขอบใบ ใบเริ่มตก ต้องเริ่มให้น้ำทีละน้อยๆ เพื่อกระตุ้นตาดอกทุเรียนให้เจริญ หากต้นทุเรียนมีความสมบูรณ์ ผ่านช่วงแล้งเพียง 10-14 วัน และมีอากาศเย็นเล็กน้อย ทุเรียนก็จะออกดอก อย่างไรก็ตาม การปฏิบัติการให้ต้นทุเรียนออกดอกในแต่ละฤดูกาล ไม่มีสูตรสำเร็จตายตัว ขึ้นอยู่กับสภาพต้นว่าพร้อมสร้างตาดอกแล้วหรือยัง กับสภาพดินฟ้าอากาศ และปัจจัยการผลิตที่ใช้

ช่วงเวลาแห่งการรอคอย เมื่อทุเรียนออกดอกติดผล

เป็นช่วงเวลาที่คุณบุญเรืองต้องใช้เวลาในการดูแล สังเกต ตั้งแต่เริ่มออกดอก จนดอกบานและติดผล กับการต้องแต่งดอก แต่งผล เป็นการรักษาสมดุลให้พอเหมาะกับต้นและใบ ว่าแต่ละกิ่งก้านจะให้มีผลได้กี่ผล ซึ่งเป็นเรื่องทางเทคนิค โดยบอกว่าช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงต้นเดือนเมษายน ต้นทุเรียนจะออกดอก เป็นระยะไข่ปลา เหยียดตีนหนู กระดุม มะเขือพวง หัวกำไล ดอกบาน จนถึงช่วงหางแย้ที่มีความสดใส ต้องหยุดการให้น้ำ งดฉีดพ่นสารใดๆ งดให้ปุ๋ย ต้องรอลุ้นว่าหากปล่อยตามธรรมชาติจะมีผึ้งหรือแมลงใดๆ มาช่วยผสมเกสรบ้างหรือไม่ มากหรือน้อยในช่วงดอกบาน

พอถึงต้นเดือนเมษายน เมื่อดอกทุเรียนได้พัฒนาเข้าสู่การติดผล ก็จะเริ่มให้น้ำ ร้อยละ 20 รอบรัศมีจากโคนต้นทุเรียน ถึงตรงนี้คุณบุญเรืองอธิบายว่า หากรัศมีทรงพุ่มของต้นทุเรียนระยะ 10 เมตร จะให้น้ำจากโคนต้นออกมาประมาณ 2 เมตร ทั้งช่วงนี้จะยังไม่ให้ธาตุอาหารใดๆ ทางดิน ส่วนทางใบนั้น เมื่อเวลาผ่านไป 15-20 วัน จากช่วงหางแย้ จะฉีดพ่นแคลเซียมโบรอน ธาตุสังกะสี

แคลเซียม เป็นธาตุอาหารรอง ช่วยเคลื่อนย้ายโปรตีน การทำงานของเอนไซม์ที่เกี่ยวข้องกับการสร้างผลและเมล็ด

โบรอน เป็นธาตุอาหารเสริม ช่วยในกระบวนการสังเคราะห์แสง ช่วยให้พืชดูดและใช้ประโยชน์ธาตุแคลเซียมได้มากขึ้น

สังกะสี เป็นธาตุอาหารเสริม สร้างฮอร์โมนที่ควบคุมการเจริญเติบโต ต้านทานโรคและป้องกันสภาวะเมื่ออากาศแปรปรวน

“เมื่อผลทุเรียนขนาดเท่าไข่ไก่ จะให้ปุ๋ย สูตร 16-16-16 เข้าไปช่วยเสริม และให้แคลเซียมเม็ดทางดิน น้ำก็ยังให้ที่ร้อยละ 20 เช่นเดิม แต่จะเพิ่มปริมาณน้ำมากขึ้นเรื่อยๆ การให้น้ำกี่มากน้อยและการให้ธาตุอาหารก็จะเริ่มมีผลต่อรูปทรงของผลทุเรียน ว่าผลจะออกมาลักษณะกลมหรือยาว เรื่องนี้ก็เป็นเทคนิค ทั้งนี้จะใช้ประสบการณ์ในการดูแลพัฒนาการของผลทุเรียน มีการตัดแต่งผล 2 ครั้ง เพราะหากไว้ผลบนต้นมาก การสุกแก่ก็จะเปลี่ยนไป ซึ่งก็เป็นเรื่องทางเทคนิคอีกเช่นกัน แต่ผมไม่ได้ยึดตามหลักวิชาการเกษตรเสียทั้งหมด” คุณบุญเรือง กล่าว

 

การดูแลช่วงเก็บผลทุเรียน

คุณบุญเรือง กล่าวว่า จะอยู่ช่วงเดือนสิงหาคมถึงเดือนพฤศจิกายน เป็นช่วงที่เกษตรกรชาวสวนทุเรียนในอำเภอศรีสัชนาลัย จะทยอยตัดทุเรียนขาย เมื่อนับอายุของผลทุเรียนก็ราวๆ 125-130 วัน นับจากระยะหางแย้ ทางวิทยาการสมัยใหม่อาจใช้เครื่องตรวจคุณภาพความสุกแก่หรือเปอร์เซ็นต์การสุกแก่ของผลทุเรียน หรือทางราชการใช้เปอร์เซ็นต์ของน้ำหนักแห้ง ซึ่งเป็นเปอร์เซ็นต์ของเนื้อแป้ง แต่ที่สวนของตนดูว่าผลทุเรียนสุกแก่ดูได้จากภายนอก เสียงเคาะที่ผล เป็นประสบการณ์และเทคนิค จะไม่ตัดผลทุเรียนอ่อนออกขายอย่างเด็ดขาด โดยจากประสบการณ์จะดูจาก

  1. สังเกตที่ร่องหนาม เห็นเป็นจุดสีน้ำตาลระหว่างร่องหนาม (ภาษาถิ่น เรียกว่า จับหมัด คำว่า “หมัด” หมายถึง จุดสีน้ำตาลที่อยู่ในร่องหนาม) แสดงว่าผลแก่จัด ราวๆ ร้อยละ 80 เช่นนี้ตัดได้
  2. สังเกตที่ปลายหนามแห้ง ถ้าใช้มือหักที่ปลายหนาม หนามจะกรอบ
  3. ใช้ไม้เคาะที่ปลายหนาม ปลายหนามจะหัก แต่ฐานหนามไม่แตก
  4. ดูที่ปลิงหรือจับปลิง จะเป็นปมใหญ่ ถ้าจับที่ขั้วจะรู้สึกสากมือหรือเพื่อให้เกิดความมั่นใจ ก็ใช้มีดพับ (อุปกรณ์การตัดทุเรียนของท้องถิ่น) แทงเข้าไปในปลิง จะมีน้ำใสๆ ซึมออกมา ลองชิมจะมีรสหวาน

มีเทคนิคอีกอย่างหนึ่งที่คุณบุญเรืองว่า คือ จะยอมตัดผลทุเรียนมา 1 ผล ใช้มือจับขั้วแล้วแกว่งผลทุเรียน ถ้าทุเรียนผลแก่ขั้วจะแข็งตรึง

 

ทุเรียนศรีสัชนาลัย คุณภาพดี มีตลาดรองรับ

เมื่อถามถึงผลผลิตทุเรียนที่สวนของคุณบุญเรือง ได้ผลผลิตมากน้อยเพียงใด จะออกสู่ตลาดในช่วงเวลาใด ขณะที่ทุเรียนจากภาคตะวันออก จะออกสู่ตลาดช่วงเดือนเมษายน-เดือนมิถุนายน และภาคใต้เดือนมิถุนายน-เดือนสิงหาคม “ทุเรียนที่สวนของผมตามฤดูกาลจะตัดขายช่วงกลางเมษายนไปจนถึงเดือนสิงหาคม แต่ปีนี้สภาพอากาศแปรปรวน เกิดฝนตกหลายครั้งในช่วงหน้าแล้ง บางช่วงก็มีอากาศเย็น คาดว่าผลผลิตจะเคลื่อนออกไป ส่วนจำนวนผลที่ได้นั้นไม่แน่นอน ในบางปี และต้นทุเรียนมีอายุแตกต่างกัน แต่เท่าที่เคยบันทึกตัวเลข ต้นที่มีอายุ 10-12 ปี จะได้ผลที่ 120-300 กิโลกรัม ต่อต้น”

อีกคำถาม ถามว่า ลักษณะเด่นและสิ่งที่น่าจะพัฒนาต่อไปในเรื่องทุเรียน มีอะไรบ้าง “ทุเรียนที่สวนผมถ้าแกะผลออก จะเห็นทุเรียนออกสีเหลือง ไม่เข้มมาก รสมัน ไม่หวานจัด แต่นุ่มลิ้น กลิ่นไม่ฉุน เนื้อแห้งหนา ละเอียด เมล็ดจะลีบ และเปลือกยังค่อนข้างหนาอยู่ (เนื่องจากอายุของต้นทุเรียนยังเล็กอยู่) ที่สำคัญเป็นทุเรียนปลอดสาร ปัญหาที่ต้องพัฒนาต่อไปคือ การมุ่งมั่นที่จะผลิตทุเรียนอินทรีย์ให้ได้ครับ” คุณบุญเรือง ตอบ

ส่วนเรื่องการตลาดรับซื้อนั้น คุณบุญเรือง บอกว่า เมื่อปีที่แล้วขายให้กับผู้ซื้อในท้องถิ่น ไม่มีปัญหา ถ้าเป็นทุเรียนหลง-หลิน ลับแล ผู้ซื้อจะขอจองทั้งหมด ราคาขายปีที่แล้วหมอนทอง ขายได้กิโลกรัมละ 90 บาท แต่ปีนี้ผลผลิตหลายแหล่งประสบปัญหาภัยธรรมชาติ คาดว่าราคาอาจจะแกว่งตัว

ในช่วงท้าย คุณบุญเรือง กล่าวว่า จากเดิมที่ปลูกทุเรียนอย่างเดียว ปัจจุบันได้เริ่มปลูกไม้ผลชนิดอื่นๆ ให้หลากหลายมากขึ้น อาทิ เงาะ มังคุด ลองกอง มะไฟ พริกไทย กาแฟ ทั้งนี้ ก็เพื่อให้มีผลผลิตออกสู่ตลาดหลากหลาย และออกตลอดทั้งฤดูกาล

คุณสาธิต วิสุทธิพันธุ์ (ซ้าย) เกษตรอำเภอศรีสัชนาลัย

คุณสาธิต วิสุทธิพันธุ์ เกษตรอำเภอศรีสัชนาลัย ได้ให้ข้อมูลการปลูกทุเรียนในอำเภอศรีสัชนาลัย มีจำนวน 3,500 ไร่ จำนวนเกษตรกร 500 ครัวเรือน พื้นที่ปลูกอยู่ในตำบลบ้านตึก ซึ่งเป็นเขตติดต่ออำเภอลับแล และตำบลแม่สิน บางส่วนเท่านั้น และกล่าวอีกว่า พื้นที่ปลูกทุเรียนที่อำเภอศรีสัชนาลัยมีลักษณะภูมิประเทศแตกต่างจากพื้นที่อื่นๆ เช่น ภาคตะวันออก ที่นี่เป็นพื้นที่ลาดเชิงเขา จึงส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกไม้ผลที่ปลอดภัย ไม่ส่งเสริมการใช้สารเคมี หรือแม้แต่ปุ๋ยเคมีก็มีการใช้กันค่อนข้างน้อย ให้ใช้วิธีอาศัยปัจจัยจากธรรมชาติเป็นหลัก ทางสำนักงานเกษตรอำเภอได้ดำเนินการฝึกอบรมการผลิตและการใช้สารชีวภัณฑ์ ได้แก่ เชื้อราไตรโคเดอร์มา เชื้อบิวเวอเรีย และการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ไว้ใช้ภายในสวน

คุณสาธิต ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า ผลผลิตทุเรียนของเกษตรกรที่ตำบลบ้านตึก อำเภอศรีสัชนาลัย จะเริ่มตัดผลผลิตโดยแบ่งออกเป็น 2 รุ่น ด้วยกัน รุ่นที่ 1 เก็บผลผลิตประมาณเดือนพฤษภาคม-เดือนมิถุนายน ซึ่งมีผลผลิตไม่มากนัก รุ่นที่ 2 ช่วงเดือนสิงหาคม-เดือนกันยายน ผลผลิตจะออกสู่ตลาดเป็นจำนวนมาก เกษตรกรที่นี่เขาให้ความร่วมมือดีมากในการเก็บผลผลิตทุเรียนที่แก่จัด ไม่มีการตัดทุเรียนอ่อนออกจากสวน เป็นทุเรียนที่มีคุณภาพ ได้รับข้อมูลจากผู้บริโภคว่า ทุเรียนศรีสัชนาลัย มีรสชาติดี เนื้อแห้ง เมล็ดลีบ เปลือกบาง

การส่งเสริมเกษตรกรผู้ปลูกทุเรียนศรีสัชนาลัยอีกประการหนึ่ง คุณสาธิต กล่าวว่า ขณะนี้ได้เข้าไปส่งเสริมจัดระบบการผลิตเป็นกลุ่มผู้ผลิตทุเรียนอยู่ 2 กลุ่ม มีจำนวนสมาชิกกว่า 200 ครัวเรือน มีคณะกรรมการบริหารดูแลจัดการกันเอง จนให้พึ่งพาตนเองได้ ช่วยเหลือในการถ่ายทอดความรู้ประสบการณ์ให้กับสมาชิกกลุ่ม ทางสำนักงานก็ได้เข้าไปติดตามส่งเสริมเพื่อให้กลุ่มขับเคลื่อนไปได้ด้วยดี มีความเข้มแข็งพึ่งพาตนเองได้ และที่สำคัญกำลังส่งเสริมให้เกษตรกรได้มีการบริหารจัดการน้ำด้วยการวางระบบน้ำเพื่อใช้ในสวนทุเรียนของเกษตรกรให้มีน้ำเพียงพอต่อการเพาะปลูกทุเรียน

หากท่านมีข้อสงสัย หรือประสงค์จะแลกเปลี่ยนความคิดเห็น โปรดติดต่อ คุณบุญเรือง ธิวงค์ษา หมายเลขโทรศัพท์ (098) 556-5829 หรือติดต่อ คุณสาธิต วิสุทธิพันธุ์ เกษตรอำเภอศรีสัชนาลัย โทรศัพท์ (081) 785-4043, (055) 671-036