พฤกษาพุทธบูชา วิสาขปุณณมี วันต้นไม้ประจำปีแห่งชาติ

“บนเส้นทางอันร่มเย็นด้วยเงาไม้ คือวิถีทางที่ให้ความสงบสุขแก่ชีวิตมนุษย์แต่ละคน”

“ธรรมชาติได้ให้ทั้งคนและต้นไม้ มาเป็นมิตรร่วมโลก โดยมุ่งให้คนก่อนอื่นว่าได้รับโอกาสให้มีวิวัฒนาการ บนพื้นฐานตนเองมาไกลกว่าต้นไม้ จึงควรเป็นฝ่ายที่แสดงความรับผิดชอบต่อต้นไม้อย่างเต็มที่”

“ธรรมชาติเป็นผู้ปลูกต้นไม้ให้เจริญงอกงามอย่างได้สัดส่วน ดังนั้นคนจะปลูกต้นไม้ได้ดี จำเป็นต้องมีความรู้ความเข้าใจธรรมชาติอย่างลึกซึ้ง”

“มนุษย์แต่ละคนที่เกิดมาต่างก็ปรารถนาความสุข จึงควรเป็นความสุขที่ไม่ทำให้เพื่อนมนุษย์และชีวิตอื่นๆ รวมถึงต้นไม้ต้องได้รับความเดือดร้อนด้วย”

เป็นส่วนหนึ่งของแต่ละช่วง คำปรารภในบทความภายใต้หัวข้อเรื่อง “จากต้นไม้ถึงคุณภาพชีวิตของมนุษย์” โดย ศาสตราจารย์ ระพี สาคริก เขียนไว้ในหนังสือ วันต้นไม้ประจำปีแห่งชาติ พ.ศ. 2539 จัดพิมพ์โดย กองสวนสาธารณะ สำนักสวัสดิการสังคม กรุงเทพมหานคร

ทุกๆ ปี เมื่อถึงวันเพ็ญเดือน 6 หรือวันเพ็ญกลางเดือน 6 ซึ่งเป็นวันพุทธบูชาของเหล่าพุทธศาสนิกชน พึงรำลึกถึงปฏิบัติบูชาในวัน “วิสาขบูชา” เป็นประเพณีสืบเนื่องกันมา จนเชื่อมโยงกับการที่ทางราชการเห็นความสำคัญในวันนี้ให้เป็น “วันต้นไม้ประจำปีแห่งชาติ” อีกวันหนึ่ง ซึ่งประชาชนรู้จักกันมาหลายปีถึงปัจจุบัน

วันต้นไม้ประจำปีแห่งชาติ ตามความที่เป็นมา ด้านงานในความรับผิดชอบของกองสวนสาธารณะ ถ้าหากย้อนหลังถึงที่มาก็พบว่า ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2503 กำหนดให้วันเข้าพรรษาของทุกปีเป็นวันต้นไม้ประจำปีแห่งชาติ ตามมติทางราชการ โดยในบางปีบางช่วงเวลา ได้เชื่อมโยงกับวันสำคัญในพุทธศาสนา และเป็นวันต้นไม้ประจำปีแห่งชาติ โดยกองสวนสาธารณะและผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ในแต่ละช่วงปี ได้เผยแพร่เอกสารวันต้นไม้ทุกปี พอจะเป็นตัวอย่างดังนี้

วันที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2529 วันเข้าพรรษา พลตรีจำลอง ศรีเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร

วันที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2531 พลตรีจำลอง ศรีเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร

วันที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2532 วันวิสาขบูชา พลตรีจำลอง ศรีเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร

วันที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2534 พลตรีจำลอง ศรีเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร

วันที่ 4 มิถุนายน พ.ศ. 2536 วันวิสาขบูชา ร.อ. กฤษฎา อรุณวงษ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร

วันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2539 วันวิสาขบูชา ร.ต.ต. เกรียงศักดิ์ โลหะชาละ รองปลัดกรุงเทพมหานคร (ปฏิบัติราชการแทน)

วันที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2540 วันวิสาขบูชา นายพิจิตต รัตนกุล ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร

วันที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2542 วันวิสาขบูชา นายพิจิตต รัตนกุล ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร

ต่อมากองสวนสาธารณะ พัฒนาการบริหารเปลี่ยนแปลงขยายขอบเขตมีหน่วยงานในความรับผิดชอบมากขึ้น จัดตั้งเป็นสำนักงานสวนสาธารณะ สำนักสิ่งแวดล้อม แต่สำหรับเอกสารเผยแพร่ความรู้ในรูปแบบหนังสือ “วันต้นไม้ประจำปีแห่งชาติ” เปลี่ยนเป็นหนังสือ “สวนและต้นไม้ ประจำปี พ.ศ….” ก็ยังเผยแพร่ความรู้ให้ผู้สนใจ หน่วยงานต่างๆ ขอรับเอกสารดังกล่าวโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายทุกๆ ปี ตลอดมาจนถึงปัจจุบัน

สำหรับ “วันต้นไม้ประจำปีแห่งชาติ” ตรงกับวันวิสาขบูชาของทุกปี โดยมีความเป็นมาจากวันต้นไม้ประจำปีของโลกมีในประเทศไทย ปี พ.ศ. 2481 ต่อมากรมป่าไม้ ได้เชิญชวนหน่วยงานและประชาชนร่วมกันปลูกต้นไม้ในวันที่ 24 มิถุนายน 2484 และถือว่าเป็นวันต้นไม้ประจำปีอย่างเป็นทางการครั้งแรก ซึ่งเป็นวันชาติของทุกปี ในปี พ.ศ. 2503 ได้เปลี่ยนแปลงมาเป็นวันเข้าพรรษา และในปี พ.ศ. 2532 คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติให้วันวิสาขบูชาซึ่งอยู่ในช่วงเดือนพฤษภาคม เป็นวันต้นไม้ประจำปีของชาติจนถึงปัจจุบัน

ในปี พ.ศ. 2561 วันวิสาขบูชา ตรงกับวันอังคารที่ 29 พฤษภาคม เป็นวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 7 ตามปีปฏิทิน ซึ่งถือเป็นวันสำคัญที่สุดทางพระพุทธศาสนา เป็นวันสำคัญสากลของสหประชาชาติ เนื่องจากล้วนมีเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับการถือกำเนิดของพระพุทธเจ้า คือเป็นวันที่พระศาสดา คือพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพาน ดังนั้น พุทธศาสนิกชนทั่วโลกจึงให้ความสำคัญในวันวิสาขบูชานี้

วิสาขบูชา ย่อมาจากคำว่า “วิสาขปุรณมีบูชา” แปลว่าการบูชาพระในวันเพ็ญเดือนวิสาขะ (คือเดือน 6) ซึ่งมีเหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้น 3 ประการ ดังที่กล่าวมา สำหรับองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อทรงพระเยาว์ ก็คือเจ้าชายสิทธัตถะ แปลว่า สมปรารถนา

วันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2542 องค์การสหประชาชาติได้ยอมรับญัตติที่ประชุม กำหนดให้วันวิสาขบูชาเป็นวันสำคัญของโลก โดยเรียกว่า Vesak Day ตามคำเรียกของชาวศรีลังกา ผู้ที่ยื่นเรื่องให้สหประชาชาติพิจารณาและได้กำหนดให้วันวิสาขบูชานี้ ถือเป็นวันหยุดวันหนึ่งของสหประชาชาติอีกด้วย เพราะเป็นวันให้กำเนิดอารยธรรมมนุษย์ที่ยิ่งใจ และเรียกกันว่า “วันพระพุทธเจ้า”

จากที่ได้กล่าวถึงหน่วยงาน กองสวนสาธารณะ สำนักสวัสดิการสังคม กรุงเทพมหานคร ซึ่งปัจจุบันนี้พัฒนางานและชื่อหน่วยงานใหม่ เรียกว่า สำนักงานสวนสาธารณะ สำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร ที่ได้จัดพิมพ์เอกสารเผยแพร่วิชาการด้านการเกษตร การปลูกดูแลรักษาต้นไม้ ไม้ดอกไม้ประดับ โดยแต่ละปี แต่ละเล่ม จะรวบรวมข้อเขียนงานวิชาการ งานวิจัย จากนักวิชาการหลายด้าน โดยเหล่าคณาจารย์จากสถาบันการศึกษาหลายหน่วยงานให้การสนับสนุนเผยแพร่ความรู้ทางวิชาการหลากหลายแขนง เผยแพร่เป็นประโยชน์ต่อผู้สนใจทุกระดับการศึกษา ทำให้มีกิจกรรมในวันมงคลวันวิสาขบูชา เชื่อมโยงกับ “วันต้นไม้ประจำปีแห่งชาติ” โดยมีหน่วยงานซึ่งรับผิดชอบโดยตรงเกี่ยวกับการปลูกป่ารักน้ำ รักษาทรัพยากรป่าไม้ของชาติ คือ หน่วยงาน “กรมป่าไม้” ซึ่งโอนจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มาเป็น กรมป่าไม้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตั้งแต่พ.ศ. 2546 และกรมป่าไม้ได้จัดวันสำคัญที่เป็นกิจกรรมเกี่ยวกับการเชิญชวนปลูกป่า รักษาต้นไม้ ได้แก่

วันอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ของชาติ (วันที่ 14 มกราคม ทุกปี)

วันป่าไม้โลก (วันที่ 21 มีนาคม ทุกปี)

วันต้นไม้ประจำปีของชาติ (วันวิสาขบูชา ทุกปี)

วันคล้ายวันสถาปนากรมป่าไม้ (วันที่ 18 กันยายน ทุกปี)

วันรักต้นไม้ประจำปีของชาติ (วันที่ 21 ตุลาคม ทุกปี)

มีโครงการปลูกป่าวันวิสาขบูชา เนื่องในวันต้นไม้ประจำปีของชาติจากหน่วยงานต่างๆ มากมาย แต่ละภูมิภาคภายใต้การสนับสนุนจากกรมป่าไม้ ซึ่งที่ผ่านมาแต่ละปีก็มีการแจกกล้าไม้ เพื่อนำไปปลูกตามโครงการต่างๆ มากมาย

จากการปฏิบัติบูชาเนื่องในวันวิสาขบูชา ทางพุทธธรรม และเชื่อมโยงกับวันต้นไม้ประจำปีของชาติ ถ้าหากศึกษาตามพุทธประวัติ หรือศึกษาจากข้อเขียนนักวิชาการต่างๆ ที่ได้กล่าวถึงบริบทของพระพุทธองค์ที่ใช้ผืนป่าพนาสี เป็นที่ค้นหาอริยะสัจปฏิบัติธรรมมาตลอดนั้น จะเห็นว่าอยู่ในป่าตลอดมา ดังได้ศึกษาจากหนังสือ “พระพุทธศาสนากับสิ่งแวดล้อม” เรียบเรียงโดย รองศาสตราจารย์ ดร. ประเวศ อินทองปาน ภาควิชาปรัชญาและศาสนา คณะมนุษย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เขียนไว้ในหนังสือ “พระพุทธศาสนากับป่าไม้” พอจะสรุปได้ดังนี้

ความสำคัญของป่า และการอนุรักษ์ป่าจากแง่มุมพระพุทธศาสนา ซึ่งปรากฏในพระไตรปิฎก โดยสามารถศึกษาได้จาก

  1. 1. พุทธประวัติ หรือพุทธจริยวัตร ซึ่งเกี่ยวข้องกับป่าไม้ ต้นไม้ เรื่องราวที่พระพุทธองค์ตรัสเทศนาแก่บุคคล ส่วนมากจะเป็นสวนป่า หรือใต้โคนต้นไม้
  2. 2. พระสงฆ์พุทธสาวก ที่ถือธุดงค์ปฏิบัติธรรมในป่าหรือใต้โคนต้นไม้ พระพุทธองค์ยกย่องเป็นภิกษุตัวอย่าง
  3. พระวินัย ทรงบัญญัติสิกขาบทให้เป็นศีล ห้ามพระสงฆ์ทำลายต้นไม้ หรือพรากของเขียว (ภูตคาม) ทุกชนิด ว่าด้วยพืชพันธุ์ไม้ “ภิกษุใดขุดเองก็ดี ให้ผู้อื่นขุดก็ดี ซึ่งแผ่นดินเป็นอาบัติปาจิตตีย์”

ในสิกขาบทนี้ ทรงบัญญัติตามสมัยว่า แผ่นดินเป็นของมีอินทรีย์ คือมีชีวิต ภิกษุใดพรากภูตคาม (คือ ต้นไม้ ต้นหญ้า เถาวัลย์ เป็นต้น) อันเป็นของเขียว และคำว่า พราก ได้แก่ ขุด ถอน หรือตัดฟัน เป็นต้น คำภาษาในพุทธศาสนามีคำเรียก เช่น รุกฺข (ต้นไม้) ภูตคาม (พืช) ฉะนั้น พืชทุกชนิดจึงรวมอยู่ในคำว่า “ภูตคาม” ซึ่งมีความหมายกว้างครอบคลุมพืชถึง 5 ชนิด ได้แก่

  1. 1. พืชพันธุ์ที่เกิดจากเหง้า (หัว) คือพืชที่ใช้เหง้าขยายพันธุ์ ได้แก่ ขมิ้น ขิง ข้าว แฝก
  2. 2. พืชพันธุ์ที่เกิดจากลำต้นคือ พืชที่ขยายพันธุ์ได้ด้วยการตอน ได้แก่ ต้นโพธิ์ ต้นไทร
  3. 3. พืชพันธุ์ที่เกิดจากข้อ (ปล้อง) คือพืชที่ใช้ข้อปลูก ได้แก่ อ้อย ไม้ไผ่ ไม้อ้อ
  4. พืชพันธุ์ที่เกิดจากยอด คือ พืชที่ใช้ยอดปักก็งอก ได้แก่ แมงลัก ผักบุ้งล้อม เถาหญ้านาง
  5. พืชพันธุ์ที่เกิดจากเมล็ด คือพืชที่ใช้เมล็ดเพาะ ได้แก่ ข้าว ถั่ว งา ฯลฯ

นอกจากคำว่า ภูตคาม ยังมีคำว่า พืชคาม ที่ใช้ร่วมกับคำว่าภูตคาม ซึ่งหมายถึงพืชหรือของเขียวที่ถูกพรากออกจากที่ แล้วยังสามารถงอกได้อีก เช่น ผักบุ้ง

พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ให้กำเนิดพระพุทธศาสนา มีประวัติเกี่ยวข้องกับป่าตั้งแต่วาระแรก จนถึงวาระสุดท้าย ทั้งๆ ที่พระชนก พระชนนี เป็นกษัตริย์อยู่ในพระราชวังอันมโหฬาร แต่เหตุการณ์ก็ชักนำให้พระชนนีไปประสูติในป่า ภายใต้ต้นสาละใหญ่ในสวนลุมพินี พระพุทธเจ้าทรงประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพาน ในป่า แม้แต่กิจกรรมการบำเพ็ญเพียรและการเผยแพร่พระพุทธศาสนามักจะเกิดในป่าแทบทั้งสิ้น พุทธศาสนิกชนรักป่า ป่าคือที่สงบจิตใจ ร่างกายผ่อนคลาย สถานที่เอาชนะตัณหา เมื่อพระอาศัยอยู่ในป่าท่านจะสอนคนให้เข้าใจ รู้คุณค่าของป่า ช่วยดูแลรักษาป่า ทำให้ปรากฏเป็นป่าชุมชน ป่าสาธารณะ ป่าวัฒนธรรม

พระพุทธเจ้าทรงสรรเสริญการปฏิบัติธรรมอันสงบในป่า ส่งเสริมการปฏิบัติธรรมของพระสงฆ์ พระสงฆ์ดูแลรักษาป่า ความใกล้ชิดสัมพันธ์ระหว่างพระสงฆ์กับธรรมชาติ ป่าเป็นที่อยู่ตามธรรมชาติที่บริสุทธิ์ และสงบ เหมาะแก่ผู้แสวงหาความวิเวก พระพุทธองค์ทรงใช้พระชนม์ชีพส่วนใหญ่กับธรรมชาติในป่าแสวงหาโมกขธรรม แม้วัดในพระพุทธศาสนาตั้งแต่สมัยพุทธกาล ถึงปัจจุบัน นิยมใช้คำว่า “อาราม” ต่อท้าย เช่น เวฬุวนาราม (เวฬุวน+อาราม) เชตวนาราม (เชตวน+อาราม) นิโครธาราม (นิโครธ+อาราม) ปทุมวนาราม (ปทุมวน+อาราม) คำว่า “อาราม” แปลว่า เป็นที่รื่นรมย์ หรือสวนเป็นที่รื่นรมย์ ปัจจุบัน หมายถึง “วัด” ดังนั้น การตัดไม้ทำลายป่าอันเป็นที่รักของพระพุทธองค์นั้น ท่านพุทธทาสภิกขุเคยกล่าวว่ามิใช่การกระทำของชาวพุทธ ท่านได้ชี้ให้เห็นว่า เมื่อมนุษย์ทำลายชาติ ในที่สุดธรรมชาติก็จะทำลายมนุษย์

มีสารจากรองผู้อำนวยการสำนักสวัสดิการสังคม เรืออากาศตรี รักษา โภคาสถิตย์ เขียนไว้ในหนังสือ วันต้นไม้ประจำปีแห่งชาติ ตั้งแต่ พ.ศ. 2534 เป็นข้อชวนคิดไว้ว่า

ต้นไม้มีความรัก          ให้ทุกคนบนโลกนี้

ต้นไม้ให้อากาศดีดี           ให้ปอดเรานี้ได้หายใจ

ต้นไม้ให้เราได้ร่มรื่น          ได้สดชื่นสบายใจ

เรามาช่วยกันรักต้นไม้       ถนอมรักษาไว้ให้เขียวขจี

 

เพลง วันวิสาขบูชา

(Youtube, post by Neeranuch Aonsroiy 7-6-2016)

วิสาขบูชาวันรวมศรัทธาชาวโลก วันดับทุกข์โศกสิ้นทุกข์พระชินสีห์ วันประสูติ ตรัสรู้ นิพพานพระมุนี พระผู้ทำดีสร้างโลกสงบสดใส

วันอาสาฬหะกำเนิดพระสงฆ์ พระพุทธองค์รู้ธรรม ตรัสธรรมด้วยใจ เราชาวพุทธ หยุดชั่ว ทำดีสืบไป พระสงฆ์ท่านให้หลักชัยนำทาง

มาถึงวันนี้เป็นวันที่รู้ทั่วกัน เป็นวันสำคัญ ที่ท่านสอนธรรมเป็นกลาง วันนี้มาฆะละชั่วปล่อยวาง เป็นวันนำทาง สร้างชีวิตให้มั่นคง

วิสาขบูชาคือวันพระพุทธ อาสาฬหะพิสุทธิ์ คือวันพระสงฆ์ มาฆบูชานำพาปฏิบัติมั่นคง อัฐมีพระองค์ดับขันธ์สลาย

ขอเชิญทุกท่านเวียนเทียนนมัสการ น้อมก้มกราบกรานพระปฏิมาด้วยตั้งใจกาย ทำบุญตักบาตรชำระใจให้สบาย ฟังธรรมผ่อนคลายทำลายทุกข์ สุขร่มเย็น

บทเพลงกล่าวถึง “วันวิสาขบูชา” มีมากมาย และแต่ละเพลง เนื้อหา และท่วงทำนองแตกต่างกันออกไป ตามแต่พรรณนา แต่ทุกบทเพลงก็มีจิตน้อมนำเจริญธรรมในพระพุทธศาสนา เจริญสติศรัทธาบูชาในธรรมะแห่งองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า

มีตัวอย่างชื่อบทเพลงวันวิสาขบูชา ซึ่งสามารถรับฟังได้จากสื่อออนไลน์ หรือสถานีวิทยุเทศกาลธรรม จากชื่อเพลง ผู้ขับร้อง ผู้ประพันธ์ ได้แก่

เพลง วิสาขบูชา คำร้อง ชาลี อินทรวิจิตร ทำนอง สมาน กาญจนผลิน ขับร้อง ชรินทร์ นันทนาคร

เพลง วิสาขบูชา คำร้อง-ทำนอง โดย ธำรง สมบูรณ์ศิลป์ ขับร้องโดยนักร้องกรมประชาสัมพันธ์ นำหมู่โดย โฉมฉาย อรุณฉาน

เพลง วิสาขบูชา เนื้อร้อง-ทำนอง ขับร้องโดยบุคลากร บริษัท ชัวร์ออดิโอ จำกัด และใน Youtube อีกมาก ได้แก่ กุ๊กกิ๊ก ประกายฟ้า, มีโชค ชมภู 2557, มือพิณฮ้างๆ, รวมทั้ง กีรนันต์ จำเริญ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 2555 เป็นต้น

เชื่อว่าบทเพลงต่างๆ ก็คงจะได้ร่วมอนุโมทนาจิต สรรเสริญคุณพระศาสนา ธำรงเรื่องราวพุทธประวัติ จะได้เป็นอานิสงส์ทั้งผู้ขับร้อง ผู้รับฟัง รวมทั้งผู้อ่านทุกท่านได้เกิดกุศลจิต นำสู่ความสงบ สุข สว่าง ดังเดือนเพ็ญโดยสาธุบุญ