กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จับมือ 10 หน่วยงาน บริหารจัดการทรัพยากรเพื่อการผลิตอย่างยั่งยืน ตาม“ศาสตร์แห่งพระราชา”

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการบริหารจัดการทรัพยากรเพื่อการผลิตอย่างยั่งยืน กับ 10 หน่วยงาน ประกอบด้วย กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงกลาโหม กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงการคลัง กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยแม่โจ้ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา

นายวิวัฒน์ ศัลยกำธร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า การลงนามความร่วมมือในครั้งนี้ เกิดจากทั้ง 11 หน่วยงาน ตระหนักถึงทรัพยากรเพื่อการผลิตทางการเกษตร ประกอบด้วย น้ำ ดิน อากาศ และป่าไม้ที่เสื่อมโทรมลง อันเนื่องมาจากหลายปัจจัย ทั้งการเปลี่ยนแปลงโดยธรรมชาติ เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการกระทำของมนุษย์ ส่งผลต่อความเป็นอยู่ของสิ่งมีชีวิต ทั้งยังเกี่ยวโยงถึงสภาพเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ

โดยเฉพาะภาคการเกษตรที่ต้องพึ่งพาการผลิตจากทรัพยากรดังกล่าวเป็นหลัก การแก้ไขปัญหาดังกล่าวจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือของหน่วยงานทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคเกษตรกร และภาคประชาชน ในการบริหารจัดการทรัพยากรเพื่อการผลิตทางการเกษตร โดยคำนึงถึงแนวทางตาม “ศาสตร์แห่งพระราชา” เพื่อให้สามารถใช้ประโยชน์จากทรัพยากรเพื่อการผลิตอย่างคุ้มค่า มีประสิทธิภาพและยั่งยืน ตลอดจนเป็นการสืบสานพระราชปณิธานพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลเดช บรมนาถบพิตร โดยมุ่งหวังให้คนไทยมีคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดี และเป็นการดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาลในการพัฒนาสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนของประเทศ

ทั้งนี้ ภายหลังจากการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือดังกล่าว ทั้ง 11 หน่วยงาน จะร่วมกันจัดทำ และร่วมดำเนินการโครงการต่างๆ เพื่อบริหารจัดการทรัพยากรเพื่อการผลิตอย่างยั่งยืนตามวัตถุประสงค์ของความร่วมมือ นอกจากนี้ หน่วยงานร่วมดำเนินการจะร่วมกันจัดหา พัฒนา และสนับสนุนด้านบุคลากร งบประมาณ วัสดุอุปกรณ์ รวมถึงสิ่งจำเป็นอื่นสำหรับใช้ในการบริหารจัดการทรัพยากรเพื่อการผลิตอย่างยั่งยืน ตลอดจนสนับสนุน แลกเปลี่ยนและเสริมสร้างองค์ความรู้ ประสบการณ์ และข้อมูลทางวิชาการระหว่างกันเพื่อการบริหารจัดการทรัพยากรเพื่อการผลิตอย่างยั่งยืนต่อไป

สำหรับ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมฝนหลวงและการบินเกษตรได้จัดเตรียมโครงการภายใต้บันทึกข้อตกลงความร่วมมือดังกล่าว จำนวน 3 โครงการ ได้แก่ 1. โครงการความร่วมมือ R3+ เพื่อการบริหารจัดการทรัพยากร และการผลิตทางการเกษตรอย่างยั่งยืน พื้นที่ลุ่มน้ำเพชรบุรี โดยกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ร่วมกับกรมชลประทาน กรมป่าไม้ บูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างครบวงจร ตั้งแต่ต้นน้ำ-กลางน้ำ-ปลายน้ำ ดำเนินงานในพื้นที่โครงการเขื่อนแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี เพื่อสืบสานพระราชปณิธาน ด้านการบริหารจัดการน้ำอย่างบูรณาการตั้งแต่พื้นที่ป่าต้นน้ำ การบริหารจัดการน้ำในชั้นบรรยากาศ การบริหารจัดการอ่างเก็บน้ำ การจัดการน้ำเพื่อการเกษตรและการอุปโภคบริโภค รวมทั้งเสริมสร้างความเข้มแข็งให้เกษตรกรในพื้นที่ลุ่มน้ำเพชรบุรี ทั้งการทำการเกษตรอย่างยั่งยืน

ซึ่งกิจกรรมการดำเนินงาน ประกอบด้วย การอนุรักษ์ดิน น้ำ และป่าไม้ ส่งเสริมการผลิตทางการเกษตร และเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน หากดำเนินการแล้วเสร็จสามารถเติมน้ำต้นทุนในลุ่มน้ำเพชรบุรี และเพิ่มความชุ่มชื้นในพื้นที่ป่าไม้และพื้นที่เกษตรกรรม รวมถึงการวางแผนอนุรักษ์ป่าต้นน้ำอย่างบูรณาการ ตลอดจนเสริมสร้างความเข้มแข็งให้เกษตรกรในพื้นที่ลุ่มน้ำเพชรบุรี ทั้งการทำการเกษตรอย่างยั่งยืน และเพิ่มความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจและสังคม

2. โครงการ “ปลูกป่าและไม้ยืนต้น สร้างความชื้นสัมพัทธ์ในอากาศเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติการฝนหลวง” เพื่อสืบสาน “ศาสตร์พระราชา” ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร และเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร รวมทั้งเพื่อสร้างความชื้นสัมพัทธ์ในอากาศให้มากขึ้นในการเพิ่มโอกาสการเกิดฝนและการปฏิบัติการฝนหลวงประสบผลสัมฤทธิ์เพิ่มขึ้นโดยการฟื้นฟูสภาพป่าเสื่อมโทรมให้สามารถกลับมาอยู่ในสภาพสมบูรณ์ และสร้างผืนป่าให้เกิดความชุ่มชื้นเพื่อเป็นการเพิ่มป่าต้นน้ำ

ตลอดจนเพิ่มพื้นที่ป่าชุมชน การปลูกป่าไม้ป่าเศรษฐกิจ ป่าชุมชน และไม้ยืนต้น บริเวณหัวไร่ปลายนา อีกทั้งเพื่อเป็นแหล่งอาหารของสัตว์ป่าในการดำรงชีวิต และการใช้ประโยชน์สำหรับชุมชน สำหรับการดำเนินการในโครงการแบ่งเป็น 2 กิจกรรม คือกิจกรรมปลูกป่าและไม้ยืนต้น และโปรยเมล็ดพันธุ์พืชทางอากาศ

และ 3. แอปพลิเคชั่น Collector for ArcGIS ระบบติดตามการปลูกต้นไม้เพื่อเพิ่มความชื้นสัมพัทธ์ในอากาศ มูลค่ากว่า 2.3 ล้านล้านบาท ดังนั้นจึงต้องให้ความสำคัญกับการรักษาป่า รักษาหน้าดิน การปลูกต้นไม้ และบ่อน้ำเพื่อเก็บความชื้นเอาไว้ให้มากที่สุด วันนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ทั้ง 11 หน่วยงาน ได้มาร่วมกันลงนามในข้อตกลงดังกล่าว เพื่อวางแผนในการที่จะทำอย่างไร ให้มีความชื้นสัมพัทธ์ในอากาศให้มากที่สุด เพื่อให้กรมฝนหลวงฯ สามารถปฏิบัติการได้ทุกช่วงเวลา ทุกพื้นที่ เป็นการลดปัญหาภัยแล้งไม่ให้เกิดขึ้น โดยการทำเมฆให้เกิดเป็นฝนได้นั้นต้องอาศัยความชื้นสัมพัทธ์ไม่น้อยกว่า 60% จึงต้องขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในสังคม เพราะฉะนั้นความสมบูรณ์ของดิน น้ำ ป่า จึงเป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่ง