มะตาด มะตูมมีกาวติดกระดาษ มะตาดมียางเป็น “บอดี้การ์ด” หวงเมล็ด

ชื่อวิทยาศาสตร์ Dillenia indica L.

ชื่อวงศ์ Dilleniaceae

ชื่ออื่นๆ ส้านป้าว กะปรุ ส้านท่า สัมปรุ มะส้าน แส้น แอปเปิ้ลมอญ หะเปร้า ปะฮะพร้าว (แกงมะตาดชาวเกาะเกร็ด)

ฉันสะดุ้งทุกครั้งเมื่อใครเรียก มะตาด เพราะฉันเองไปนึกถึง “คัสตาร์ด” ที่มีคาราเมล หนืด นุ่ม อยู่บนก้อนเนื้อนิ่มๆ ไข่ไก่อิ่มนมสด ชื่อของฉันถูกนำไปสอบถามคนทั่วไปว่าเคยได้ยินชื่อหรือไม่ แหม! แต่ละคนตอบว่าไม่เคยได้ยิน มีเพียง 20 เปอร์เซ็นต์ ที่รู้จัก ยิ่งหนุ่มสาววัยรุ่นสมัยนี้แล้วเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ไม่รู้จักเลยว่ามะตาดคืออะไร แต่พอถามซื้อคัสตาร์ด ทุกคนตอบว่าชอบกิน….

เรื่องของฉันกลายเป็นพรรณไม้ที่ต้องศึกษาวิจัยเพื่อการรณรงค์อนุรักษ์ไปแล้ว แต่ก็ถือเป็นเกียรติแก่ตัวฉันเองเป็นอย่างยิ่ง  เพราะทั้งสถานศึกษาและสถานที่ต้องการปลูกไม้ประดับตกแต่งก็ใช้ฉันเป็นหนึ่งพรรณไม้นั้น เอ่ยถึงแต่ละสถานที่ก็ฟังแล้วเหมือนฉันถูกจัดอยู่ในพิพิธภัณฑ์กระนั้นเลย เช่นเล่ากันว่า ถ้าใครไปที่ “วิทยาลัยบ้านสมเด็จเจ้าพระยา” เมื่อ 40 กว่าปีที่แล้ว จะพบฉันเป็นต้นไม้ใหญ่อยู่ข้างอาคารวิเศษศราวัฒน์ แต่ปัจจุบันไม่มีแล้ว แม้แต่ชื่อ “วิทยาลัยครู” ก็กลายเป็นสถาบันราชภัฏ ถ้าสนใจอยากเจอฉันจริงๆ ก็ลองไปที่จังหวัดสมุทรสงคราม ไปที่อุทยาน ร.2 ก็พบฉันได้ แต่อย่าไปเพลินกับอัมพวาจนลืมฉันก็แล้วกันนะ อยากจะเห็นฉันยืนเรียงแถวมากกว่า 10 ต้น ก็เชิญที่โรงแรมรามาการ์เดนส์ ถนนวิภาวดี-รังสิต ใกล้มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ แต่ถ้าไปที่นั้นแล้วก็แวะไปที่โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ดู ใบ ดอก ผล ได้  เขาปลูกฉันไว้ในสวนมิตรสัมพันธ์สวนต้นไม้ของโรงเรียน หรือไปพบฉันที่เกาะเกร็ด จังหวัดปทุมธานี ฉันอยู่ในชุมชนชาวมอญ ที่นั้นเขาอนุรักษ์ฉันไว้

ตัวฉันเองเป็นไม้ยืนต้นสูงได้ถึง 20 เมตร เปลือกหนา ดอกสีขาว กลิ่นหอม ผลขนาดใหญ่เท่าไข่ไก่ กลมแป้น ผลสดเจริญภายในมีเมือกเหนียวที่เขาพูดถึง ใช้เป็นกาว แต่กินได้ ชาวมอญชุมชนเกาะเกร็ดนิยมนำไปแปรรูปทำมะตาดผง น้ำมะตาด ชามะตาด มะตาดกวน แช่อิ่มหรือเชื่อม รวมทั้งมะตาดสามรส แต่สำหรับชาวมอญพื้นบ้านทั่วไปนิยมนำมาแกงส้ม แกงคั่วกุ้งสดประจำบ้าน

 

ฉันมีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยา คือลดระดับน้ำตาลในเลือด ต้านการชัก ต้านเชื้อโรค ผลดิบมีรสเปรี้ยว แก้ไข้ เป็นยาขับเสมหะ ฉันเป็นสินค้า OTOP ประจำเกาะเกร็ดเชียวนะ ภายในผลมียางเป็นกาวเหนียวใช้ทำกาวติดโครงกระดาษว่าว ติดธงทิวในงานวัด และยางในผลนี้แหละที่เป็น “บอดี้การ์ด” คุมเมล็ดไม่ให้หลุดกระจายออก ฉันจึงกลายเป็นพันธุ์ไม้ที่มีลูกยาก เรียกว่าเป็นพันธุ์ไม้ขยายพันธุ์ยากไปแล้ว

แม้ในผลมียางเหนียว แต่ถ้าเคี้ยวผลอ่อนรสเปรี้ยวฝาด ไม่ต้องกลัวยาง “มะตาด” ติดปากจนพูดไม่ออก ขอบอกนะ…ขรัวเจ้า!