วช. จัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ในการขยายผลธนาคารปูม้า เพื่อ “คืนปูม้าสู่ทะเลไทย” ในพื้นที่จังหวัดตรังและจังหวัดใกล้เคียง

ปูม้า และผลิตภัณฑ์จากปูม้า เป็นที่นิยมบริโภค สามารถทำรายได้ให้กับประเทศเป็นมูลค่าหลายพันล้านบาทต่อปี แต่เนื่องจากมีการทำประมงในปริมาณที่เกินกำลังผลิตของธรรมชาติ จึงทำให้ประชากรของปูม้าในธรรมชาติลดลง การฟื้นฟูทรัพยากรปูม้าจากการทำธนาคารปูม้า เกิดจากการประยุกต์องค์ความรู้และภูมิปัญญาท้องถิ่นและการวิจัย ที่หลายหน่วยงานเข้ามามีบทบาทในการช่วยฟื้นฟูทรัพยากรปูม้า และพัฒนา แก้ไขความเสื่อมโทรมของทรัพยากรในท้องทะเล ทำให้ชาวบ้านมีรายได้เพิ่มมากขึ้น และเป็นการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติอีกด้วย

ศาสตราจารย์ นายแพทย์สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า เมื่อ วันที่ 6 มีนาคม 2561 คณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบตามที่สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เสนอขยายผลธนาคารปูม้า เพื่อ “คืนปูม้าสู่ทะเลไทย” ไปสู่ชุมชนบริเวณชายฝั่ง และได้มอบหมายให้เป็นหน่วยงานบูรณาการหลักร่วมกับหลายหน่วยงานในการดำเนินการนำองค์ความรู้จากผลการวิจัยและนวัตกรรมเดิมมาต่อยอดหรือวิจัยเพิ่มอัตราการรอดของลูกปูม้าก่อนปล่อยคืนสู่ทะเล และขยายผลสำเร็จของธนาคารปูม้าที่มีไปสู่ชุมชนอื่น ๆอย่างเหมาะสม ตลอดจนการสนับสนุนการตลาดในทุกรูปแบบเพื่อเพิ่มโอกาสทางการค้าอันจะนำมาซึ่งการสร้างรายได้และคุณภาพชีวิตที่ดีของคนในชุมชน

ดังนั้น เพื่อเป็นการขยายผลธนาคารปูม้า ในระดับพื้นที่ให้มีการดำเนินงานไปในทิศทางเดียวกันมีการบูรณาการความร่วมมือและให้เกิดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในการขยายผล ธนาคารปูม้า และเพื่อประชาสัมพันธ์ สร้างการรับรู้ และกระตุ้นความสนใจในการขยายผลธนาคารปูม้า สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ในฐานะเลขานุการสภานโยบายวิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ จึงได้ร่วมกับ เครือข่ายความร่วมมือในพื้นที่ จัดการประชุมเครือข่ายขยายผลธนาคารปูม้าเพื่อ “คืนปูม้าสู่ทะเลไทย” ในพื้นที่จังหวัดตรังและจังหวัดใกล้เคียง

ในวันที่ 29 พฤษภาคม 2561 ณ อาคารเรียนรู้ชุมชนบ้านน้ำราบ หมู่ที่ 4 ตำบลบางสัก อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง โดยได้รับเกียรติจาก ดร. กอบศักดิ์ ภูตระกูล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดงานพร้อมมอบนโยบาย และมอบป้ายธนาคารปูม้าแก่เครือข่ายธนาคารปูม้า ในเวลา 09.30 น. การจัดประชุมเครือข่ายขยายผลธนาคารปูม้าฯ ในครั้งนี้ ได้มีการระดมความคิด เรื่อง “ปัจจัยต่อความสำเร็จของการเพิ่มปริมาณปูม้า และการสร้างธนาคารปูม้าชุมชน ในมุมมองกลุ่มประมง” รวมถึงการแบ่งกลุ่มระดมความคิด “บทเรียนความสำเร็จ ข้อเสนอแนะ และแนวทางการขยายผลธนาคารปูม้าชุมชน”

เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นอันเป็นประโยชน์ต่อการขยายผลเพื่อคืนปูม้าสู่ทะเลไทย และเพื่อให้ประชาชนทั่วไปเกิดการรับรู้และตระหนักถึงความสำคัญของธนาคารปูม้าจนเกิดการนำไปขยายผลในพื้นที่ต่างๆ ต่อไป