ผงะ! เด็กวัยรุ่น 1.5 แสนคน เป็นโรคพฤติกรรมก้าวร้าว

เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน น.ต.นพ. บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่าปัญหาใหญ่ที่พบได้บ่อยในเด็กวัยเรียนและวัยรุ่นขณะนี้คือ ความก้าวร้าว เกเรรุนแรง ซึ่งจัดเป็นโรคทางพฤติกรรมชนิดหนึ่งของเด็กเรียกว่าโรคพฤติกรรมเกเรก้าวร้าว (conduct disorder) ต้องได้รับการกล่อมเกลาบำบัดรักษาอย่างถูกต้องตั้งแต่ยังเล็กจะช่วยให้ดีขึ้น แต่ที่ผ่านมาพ่อแม่ยังมีความเข้าใจคลาดเคลื่อนว่าความก้าวร้าวเป็นการพัฒนาความกล้าแสดงออกของเด็กปกติทั่วๆ ไปจึงไม่ห้ามปรามโรคนี้หากปล่อยไปเรื่อยๆ เมื่อเด็กโตขึ้นกว่า ร้อยละ 40 อาจทำให้เป็นนักเลงอันธพาลได้ และนำมาสู่ปัญหาอื่นๆ ตามมา เช่น เกิดความขัดแย้งในครอบครัว ปัญหาการเรียน ปัญหายาเสพติด และพฤติกรรมทางเพศก่อนวัยอันควร

“ผลสำรวจของกรมสุขภาพจิตในปี 2559 ในกลุ่มเด็กและเยาวชนอายุ 13-17 ปี ที่มีประมาณ 4 ล้านกว่าคน พบเป็นโรคพฤติกรรมเกเรก้าวร้าว ร้อยละ 3.8 คาดว่ามีประมาณ 1.5 แสนคนทั่วประเทศ ส่วนใหญ่เป็นชาย สาเหตุที่ทำให้เด็กก้าวร้าวมีหลายปัจจัย ส่วนหนึ่งมาจากพื้นฐานของเด็กที่เป็นเด็กเลี้ยงยาก    เจ้าอารมณ์ ซึ่งมีประมาณ ร้อยละ 15 หรืออาจเกิดจากความผิดปกติของสารเคมีในสมอง เช่น เด็กที่เป็นโรคสมาธิสั้น โรคออทิสติก โรคซึมเศร้า และสมองพิการหรือมาจากสภาพสังคมสิ่งแวดล้อมซึ่งพบว่าเด็กที่ดูหนัง เล่นเกมที่มีเนื้อหาต่อสู้รุนแรงบ่อยๆ จะมีผลให้เด็กมีจิตใจฮึกเหิม อยากเลียนแบบแต่ปัจจัยที่เป็นสาเหตุสำคัญที่สุดก็คือครอบครัวและการเลี้ยงดู” น.ต.นพ. บุญเรือง กล่าว

อธิบดีกรมสุขภาพจิตกล่าวต่อว่าการเลี้ยงดูที่ทำให้เด็กมีพฤติกรรมก้าวร้าวมี 7 รูปแบบ ได้แก่ 1. เลี้ยงแบบทอดทิ้งไม่เอาใจใส่ดูแล 2. ใช้วิธีลงโทษเด็กรุนแรง 3. เลี้ยงแบบตามใจเด็ก เพราะกลัวเด็กไม่รัก 4. ครอบครัวมีการทะเลาะวิวาท ด่าทอ ตบตีกันให้เด็กเห็นบ่อยๆ 5. ชอบแหย่เด็กหรือยั่วยุอารมณ์ให้เด็กโมโห 6. การเลี้ยงดูเด็กที่ขาดการจัดระเบียบวินัยความเป็นอยู่ในชีวิตประจำวัน และ 7. การให้ท้ายเด็กเมื่อทำผิด ทำให้เด็กคิดว่าเรื่องผิดเป็นเรื่องถูกต้อง

พญ. กุสุมาวดี คำเกลี้ยง ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จังหวัดขอนแก่น กล่าวว่าพฤติกรรมก้าวร้าวเช่นการโต้เถียงผู้ใหญ่พบในเด็กทั่วไปได้ เมื่อโตขึ้นพฤติกรรมจะลดลงเรื่อยๆ แต่หากเด็กมีพฤติกรรมดังต่อไปนี้จะเข้าข่ายว่ามีพฤติกรรมเกเรก้าวร้าวรุนแรง ได้แก่ ทำร้ายคนอื่น ทำลายทรัพย์สิน ทำร้ายหรือทรมานสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ฉ้อโกงหรือขโมย ละเมิดกฎอย่างรุนแรง เช่น หนีออกจากบ้าน หนีโรงเรียน ซึ่งในเด็กผู้ชายมักเป็นในช่วงอายุ 10-12 ปี ผู้หญิงจะเป็นในช่วงอายุ 14-16 ปี การแก้ไขและป้องกันปัญหาเด็กก้าวร้าวจะต้องเริ่มตั้งแต่ในวัยเด็ก มีข้อแนะนำ อาทิ ผู้ใหญ่ควรควบคุมให้เด็กหยุดความก้าวร้าวด้วยความสงบ เช่น ใช้การกอดหรือจับให้เด็กหยุด หลังจากที่เด็กอารมณ์สงบแล้ว ควรพูดคุยถึงสาเหตุที่ทำให้เด็กไม่พอใจจนแสดงความก้าวร้าวั้เพื่อให้เด็กได้ระบายออกเป็นคำพูด ต้องไม่ใช้ความรุนแรงเข้าไปเสริมั้การลงโทษอย่างรุนแรงในเด็กที่ก้าวร้าวไม่ช่วยให้ความก้าวร้าวดีขึ้น เด็กอาจหยุดพฤติกรรมชั่วครู่ แต่สุดท้ายก็จะกลับมาแสดงพฤติกรรมนั้นอีก อาจเรื้อรังไปจนโตเป็นผู้ใหญ่ได้ และไม่ควรมีข้อต่อรองกันขณะเด็กมีพฤติกรรมก้าวร้าว

ที่มา : ขอบคุณข้อมูลจากมติชนรายวัน