ดาวเรือง เหลืองสวย ช่วยปกป้องตา

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Tagetes erecta L.

ชื่อวงศ์ : ASTERACEAE (COMPOSITAE)

ชื่ออื่น : คำปูจู้หลวง คำปูจู้น้อย พอทู โพชีโทงซะ ยี่สุ่น African marigold

ลักษณะทั่วไป : ไม้ล้มลุก สูง 15-60 เซนติเมตร เป็นใบประกอบแบบขนนกปลายคี่ เรียงตรงข้าม ขอบใบจักซี่ฟัน ดอกช่อออกที่ปลายยอด สีเหลืองเข้ม ผลแห้งไม่แตก สีดำ

การขยายพันธุ์ : เพาะเมล็ด

         

ดาวเรือง หายห่วงเรื่องตา

ดาวเรืองมีถิ่นกำเนิดอยู่ในอเมริกา ถูกนำเข้ามาเมืองไทยตั้งแต่เมื่อไรไม่มีใครทราบได้ แต่น่าจะนานมาแล้วเพราะสมัยยายก็มีอยู่แล้ว ตอนเด็กๆ จำได้ว่าในหมู่บ้านนิยมปลูกไว้หน้าบ้านคู่กับบานชื่นเอาไว้บูชาพระ แต่ก่อนดาวเรืองมีแต่ดอกเล็กๆ ไม่มีดอกใหญ่อย่างในปัจจุบัน ไม่เคยรู้มาก่อนว่าเป็นยาสมุนไพร แต่มีข้อมูลที่อ้างอิงมาจากตำรายาจีนว่า ดอกและราก มีรสขม เผ็ดเล็กน้อย ใช้ขับลม ดับพิษร้อนในตับ แก้วิงเวียนศีรษะ ตาบวม ตาเจ็บ ไอเรื้อรัง หลอดลมอักเสบ ขับเสมหะ แก้คอและปากอักเสบ แก้คางทูม

ครูหมอยาปราจีนบุรีและอีสานไม่มีการใช้ดาวเรืองทางยา แต่เมื่อมีโอกาสไปเก็บความรู้กับหมอยาไทใหญ่เมื่อสิบกว่าปีก่อน จึงได้รู้ว่าดาวเรืองใช้ต้มกินบำรุงตา การวิจัยทางวิทยาศาสตร์ก็พบว่าดาวเรืองมีสารลูทีน (lutein) ที่ช่วยปกป้องสายตา ปัจจุบันในตลาดต่างประเทศมีสารสกัดจากดาวเรืองและชาดาวเรืองจำหน่ายเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารบำรุงสายตา ช่างน่าอัศจรรย์ใจที่ตรงกับการใช้ของพ่อหมอเหล่านั้น

ปัจจุบันเป็นที่ทราบกันดีว่าสารลูทีน และซีแซนทีน (zeaxanthin) เป็นสารไอโซเมอร์กัน (มีสูตรโมเลกุลเหมือนกัน แต่สูตรโครงสร้างต่างกัน) เป็นสารสีเหลืองที่มีอยู่มากบริเวณจุดโฟกัสของจอประสาทตา เชื่อว่าสารทั้งสองช่วยดูดซับแสงสีฟ้าและแสงยูวีซึ่งมีพลังงานสูง และเป็นสารต้านออกซิเดชันช่วยป้องกันเซลล์รับแสงของตาไม่ให้ได้รับอันตรายจากอนุมูลอิสระ จากงานวิจัยพบว่า ผู้ที่มีสารลูทีนและซีแซนทีนสะสมอยู่ที่จอประสาทตามาก จะมีความเสี่ยงต่ำที่จะเกิดต้อกระจกและโรคจอประสาทตาเสื่อม (Age-related macular degeneration : AMD) อันมีสาเหตุมาจากอายุที่เพิ่มขึ้น

ในสภาวะโลกร้อนซึ่งทำให้คนเราได้รับรังสียูวีเพิ่มขึ้น ดาวเรืองจึงเป็นทางเลือกหนึ่งในการดูแลสุขภาพตา เพราะเป็นพืชดอกที่ปลูกง่ายในบ้านเรา ซึ่งก็คุ้นเคยกับการนำดาวเรืองมาบูชาพระหรือทำเป็นพวงมาลัยอยู่แล้ว แต่การกินเป็นอาหารหรือเป็นสมุนไพรยังมีน้อย ยกเว้นในบางพื้นที่ เช่น แม่ๆ ชุมชนมุสลิมสามจังหวัดภาคใต้เล่าว่า สมัยก่อนชาวบ้านก็นำยอดอ่อน ใบอ่อน ดอกอ่อนที่ยังตูม (ไม่กินดอกแก่เพราะฉุน) มาจิ้มน้ำบูดูหรือน้ำพริกกินเป็นประจำเชื่อว่าเป็นยาบำรุงร่างกาย ทำให้เจริญอาหาร ทุกวันนี้ในลังกาวีก็ยังกินกันอยู่ แต่คนไทยกินกันน้อยลงอาจเป็นเพราะมีผักอื่นๆ มากมาย

อย่างไรก็ตาม การนำดาวเรืองไปปรุงให้สุกก่อนบริโภคจะช่วยเพิ่มการออกฤทธิ์ของลูทีน ดังที่พ่อหมอยาไทใหญ่แนะนำให้นำมาต้มกิน ชงกิน จึงเป็นวิธีที่ถูกต้องกว่า ในด้านความปลอดภัยก็ไม่น่ากังวล เนื่องจากมีการศึกษาพิษเฉียบพลันและพิษกึ่งเรื้อรังโดยให้หนูได้รับสารสกัดลูทีนจากดาวเรือง ผลปรากฏว่าไม่พบความผิดปกติใดๆ

 

ตำรับยา

บำรุงสายตา : นำกลีบดอกดาวเรืองไปต้มน้ำกิน หรือชงในน้ำร้อนจัดกิน สามารถกินได้ทั้งน้ำและเนื้อ หรือจะนำมาปรุงกับตับไก่กินเป็นอาหารก็ได้

คางทูมปวดบวมเต้านมและส่วนต่างๆ ตามร่างกาย : นำดอกมาตำผสมกับขมิ้น และข้าวสารที่ได้ทำการแช่จนพองตัว ให้ละเอียด แล้วนำมาพอกบริเวณที่มีอาการ

รักษาแผลฝี มีน้ำหนอง แผลอักเสบต่างๆ : นำรากและใบของต้นดาวเรืองมาตำผสมกับใบฟ้าทลายโจรให้ละเอียดแล้วนำมาพอกแผลบริเวณที่มีอาการ

แก้อาการปวดฟัน รักษาแผลในช่องปาก ปากเปื่อย : นำดอกและรากแห้ง ประมาณ 1 กำมือ ต่อน้ำ 1 ลิตร ต้มให้เดือดประมาณ 15 นาที แล้วนำมาดื่ม ครั้งละ 1/2 แก้วชา วันละ 2 เวลา เช้า-เย็น อมบ่อยๆ เมื่อมีอาการปวด หรือนำดอกดาวเรืองแห้งประมาณ 5 ดอก กระเทียม 2 กลีบ ต่อน้ำ 1 ลิตร ต้มให้เดือด โดยให้น้ำเหลือ 1/2 ส่วน ดื่มอุ่นๆ เมื่อมีอาการ

 

น่ารู้

ดาวเรืองเป็นสัญลักษณ์ของความเจริญรุ่งเรือง ความเป็นสิริมงคล ในบางประเทศกินดอกดาวเรืองเป็นเครื่องเทศชนิดหนึ่ง ปลูกดาวเรืองร่วมกับผักจะช่วยไล่แมลงในแปลงผัก ดอกที่แก่จัดฉุนมากๆ สามารถนำมาขยำกับน้ำ ใช้น้ำรดผักและต้นไม้เพื่อไล่แมลง นำมาสกัดสี ทำสีผสมอาหารได้ นำมาสกัดน้ำมันหอมระเหยทำเป็นน้ำหอมและใช้ไล่แมลงได้

ดอกดาวเรืองยิ่งสีเหลืองจัดยิ่งมีสารลูทีนมาก นำไปเป็นส่วนผสมในอาหารไก่ไข่ จะทำให้ไข่แดงมีสีแดงสวยตามธรรมชาติ และมีประโยชน์มากขึ้น