เกษตรกร ต.หัวเขา ตอบรับ โครงการจัดรูปที่ดินฯ เจ๋งจริง ต้นทุนลด มีน้ำใช้ทั่วถึงทุกแปลง

สศก. ติดตามโครงการจัดรูปที่ดินและจัดระบบน้ำเพื่อเกษตรกรรม ณ บ้านหัวเขา อ.เดิมบางนางบวช จ.สุพรรณบุรี เผยผลสำเร็จโครงการ เกษตรกรสามารถลดค่าน้ำมันเพื่อสูบน้ำถึงไร่ละ 447 บาท ก่อเกิดโครงสร้างพื้นฐานที่สมบูรณ์ ได้รับน้ำทั่วถึงทุกแปลง เกษตรกรมีการใช้ประโยชน์ที่ดินมากขึ้น ผลผลิตเพิ่ม เสริมรายได้ แถมก่อเกิดความสามัคคีร่วมกันในพื้นที่

นายวิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงผลการติดตามโครงการจัดรูปที่ดินและจัดระบบน้ำเพื่อเกษตรกรรมว่า จากที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ดำเนินโครงการจัดรูปที่ดิน และจัดระบบน้ำเพื่อเกษตรกรรม ปี 2560 โดยกรมชลประทาน จำนวน 58 โครงการ พื้นที่รวม 95,490 ไร่ เพื่อปรับพื้นที่นาของเกษตรกร สามารถวางแผนการส่งน้ำ เพิ่มประสิทธิภาพการส่งน้ำจากคลองส่งน้ำชลประทาน ให้สามารถแพร่กระจายน้ำได้ถึงทุกแปลงเพาะปลูกอย่างรวดเร็ว เกษตรกรได้น้ำตามปริมาณและช่วงเวลาที่พืชต้องการ และมีโครงสร้างพื้นฐานที่เหมาะสมในการทำการผลิต

จาก การติดตามประเมินผลโครงการ ของ สศก. ช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมา ในพื้นที่จัดรูปที่ดิน ณ บ้านหัวเขา ต. หัวเขา อ. เดิมบางนางบวช จ. สุพรรณบุรี พบว่า มีพื้นที่โครงการ 1,390 ไร่ เกษตรกร 100 ราย มีการจัดรูปที่ดินแบบสมบูรณ์แบบ (Intensive) โดยนำพื้นที่ทั้งหมดมารวมกัน แล้วแบ่งพื้นที่ออกเป็นรูปแปลงสี่เหลี่ยมที่มีแนวถนน ทางลำเลียง คูส่งน้ำ คูระบายน้ำ มีการปรับระดับแปลงนาให้สม่ำเสมอ และออกโฉนดฉบับใหม่ให้แก่เกษตรกร ส่งผลให้เกษตรกรที่ปลูกข้าวนาปี สามารถลดค่าใช้จ่ายในการซื้อน้ำมันเพื่อการสูบน้ำ เหลือไร่ละ 77 บาท ลดลง ไร่ละ 210 บาท (เดิมจ่าย ไร่ละ 287 บาท) เกษตรกรที่ปลูกข้าวนาปรังสามารถลดค่าน้ำมันเพื่อการสูบน้ำ เหลือไร่ละ 71 บาท ลดลง ไร่ละ 237 บาท (เดิมจ่าย ไร่ละ 308 บาท) ซึ่งจะช่วยให้เกษตรกรสามารถเพาะปลูกได้ตลอดทั้งปี โดยลดค่าน้ำมันเพื่อสูบน้ำ ถึงไร่ละ 447 บาท

จะเห็นได้ว่า โครงการช่วยให้เกษตรกรลดต้นทุน โดยเฉพาะค่าน้ำมันเพื่อการสูบน้ำได้เป็นอย่างดี โดยภาพรวม พบว่า ต้นทุนเงินสดของเกษตรกรพื้นที่จัดรูปที่ดิน ณ บ้านหัวเขา ในการผลิตข้าวนาปี อยู่ที่ 3,813 บาท ลดลง ไร่ละ 177 บาท (ก่อนมีการจัดรูปที่ดิน ต้นทุนเงินสด อยู่ที่ไร่ละ 3,990 บาท) และต้นทุนเงินสดของเกษตรกรในการผลิตข้าวนาปรัง อยู่ที่ไร่ละ 3,963 บาท ลดลง ไร่ละ 163 บาท (ก่อนการจัดรูปที่ดินมีต้นทุนเงินสด ไร่ละ 4,126 บาท)

นอกจากนี้ หลังจากมีโครงการ เกษตรกรมีการใช้ประโยชน์จากที่ดินเพิ่มขึ้น และเกษตรกรมีความพึงพอใจต่อโครงการในระดับมากที่สุด เพราะเห็นว่ามีโครงสร้างพื้นฐานที่สมบูรณ์ มีน้ำใช้ มีการระบายน้ำที่ดี และการสัญจรเข้าออกแปลงนาสะดวก เกษตรกรจะได้รับน้ำทั่วถึงทุกแปลงตามปริมาณและช่วงเวลาที่พืชต้องการใช้น้ำ ทำให้สามารถวางแผนการเพาะปลูกได้ใกล้เคียงความเป็นจริง ช่วยเพิ่มผลผลิตต่อไร่ ประหยัดน้ำต้นทุน มีน้ำเหลือเพียงพอสำหรับการปลูกพืชฤดูแล้ง เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น อีกทั้งยังก่อให้เกิดความรักความสามัคคีรักถิ่นฐาน ซึ่งเป็นการช่วยลดปัญหาต่างๆ ของสังคมได้ อย่างไรก็ตาม เพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน เกษตรกรในพื้นที่ควรมีการจัดตั้งกลุ่มผู้ใช้น้ำเพื่อการบริหารจัดการน้ำอย่างจริงจังและต่อเนื่อง รวมทั้งการรวมกลุ่มบริหารจัดการด้านการผลิตและเชื่อมโยงการตลาดเพื่อรองรับผลผลิต เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่เกษตรกรต่อไป