เผยแพร่ |
---|
โครงการประชารัฐ รับซื้อกุ้งขาว ในราคานำตลาด 1 หมื่นตัน ชะงัก เหตุห้องเย็นขอหักค่าขนส่งกุ้งที่รับซื้อหน้าฟาร์ม กก.ละ 8-10 บาท กรมประมง เรียกประชุมเกษตรกร-ห้องเย็นแก้ปัญหา ผลสรุป หากห้องเย็นยอมไปรับซื้อหน้าฟาร์ม ห้ามหักค่าขนส่ง พร้อมประชุม 3 ฝ่าย อีกครั้ง 6 มิ.ย.นี้ แก้ปัญหากุ้งทั้งระบบ หลังเกษตรกรลงเลี้ยงกุ้งวูบกว่า 50% คาดห้องเย็นขอนำเข้ากุ้งอีกรอบ
นายสมชาย ฤกษ์โภคี อุปนายกสมาคมกุ้งไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ถึงโครงการประชารัฐรักษาเสถียรภาพกุ้งขาวแวนนาไม ปี 2561 ที่กรมประมง ดึงห้องเย็นและโรงงานแปรรูปเข้ามารับซื้อกุ้ง 1 หมื่นตัน ในเดือนมิถุนายน-กรกฎาคมนี้ ในราคานำตลาด ล่าสุดจนถึง วันที่ 31 พฤษภาคม ที่ผ่านมา ฝ่ายเกษตรกรและห้องเย็นยังตกลงเรื่องค่าใช้จ่ายในการขนส่งไม่ได้ หากมารับซื้อหน้าฟาร์ม ซึ่งปกติรถบรรทุกห้องเย็นรับภาระค่าใช้จ่ายขนส่งอยู่แล้ว ยกตัวอย่าง กุ้งขาว ขนาด 50 ตัว/กก. ห้องเย็นจะรับซื้อ กก.ละ 160 บาท ที่หน้าฟาร์ม แต่จะขอหักค่าขนส่ง กก.ละ 8-10 บาท เท่ากับเกษตรกรผู้เลี้ยงจะขายได้ในราคาสูงกว่าตลาดเพียงเล็กน้อย จากราคาตลาดล่าสุดขยับเข้าใกล้ กก.ละ 150 บาทแล้ว หลังปริมาณกุ้งที่ออกสู่ตลาดจำนวนมากเริ่มลดลง
“ห้องเย็นและผู้ส่งออกบอกว่าประกันราคารับซื้อสูง ต้องขาดทุน กก.ละ 30 บาท ไม่มีออเดอร์ส่งออก ถ้าจะให้รับผิดชอบค่าขนส่งอีก กก.ละ 8-10 บาท คงไม่ไหว นอกจากนี้ ระยะเวลาการจ่ายเงินยังไม่ชัดเจน เกษตรกรกลัวว่าจะจ่ายล่าช้านาน 1-2 เดือน ตัวแทนเกษตรกร ห้องเย็น และกรมประมง จะหารือกันอีกครั้ง”
ทั้งนี้ จ. สุราษฎร์ธานี เป็นแหล่งเลี้ยงกุ้งขาวขนาดใหญ่ของประเทศ ปกติเดือนเมษายนของทุกปีจะลงลูกกุ้ง 350 ล้านตัว แต่ปีนี้มีการลงลูกกุ้ง 150 ล้านตัว เดือนพฤษภาคมนี้ 180 ล้านตัว และคาดว่าเดือนมิถุนายนนี้จะลงเลี้ยงกุ้งไม่เกิน 200 ล้านตัว ดังนั้น ในอีก 2 เดือน ข้างหน้า คือเดือนสิงหาคม-ตุลาคม กุ้งภายในประเทศที่จะส่งเข้าห้องเย็นจะขาดแคลน มีเพียงพอในการป้อนตลาดภายในประเทศและส่งออกไปจีนเท่านั้น
นายบรรจง นิสภวาณิชย์ ประธานสมาพันธ์เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ถึงผลการประชุมแก้ปัญหาที่ทางห้องเย็นจะขอหักค่าขนส่งกุ้งที่รับซื้อหน้าฟาร์ม กก.ละ 8-10 บาท ตามโครงการประชารัฐประกันราคารับซื้อ 1 หมื่นตัน ที่ประชุม 3 ฝ่าย ทั้งกรมประมง เกษตรกร และห้องเย็น ลงมติว่า หากห้องเย็นไปรับซื้อกุ้งถึงหน้าฟาร์ม ห้ามหักค่าขนส่งจากราคากุ้งที่รับซื้อ เท่ากับว่าต้องมีการตกลงกันก่อนระหว่างเกษตรกรกับห้องเย็น กรณีที่เกษตรกรนำกุ้งไปขายที่ห้องเย็นโดยตรง ห้ามมีหักค่าขนส่งจากราคากุ้งที่ขายเช่นกัน
ส่วนวันที่ 6 มิ.ย.นี้ จะมีการประชุม 3 ฝ่าย ทั้งกรมประมง สมาคมแช่เยือกแข็งไทย และตัวแทนเกษตรกร เพื่อแก้ปัญหาอุตสาหกรรมกุ้งทั้งระบบอีกครั้ง เนื่องจากเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ทั้งประเทศมีการลงเลี้ยงกุ้งเพียง 2,000 กว่าล้านตัว จากปกติที่จะลงเลี้ยง 4,000 กว่าล้านตัว ลดลงกว่า 50% จะส่งผลให้ห้องเย็นและโรงงานแปรรูปกุ้งส่งออกขาดแคลนวัตถุดิบในอีก 2 เดือน ข้างหน้า รวมทั้งหารือเรื่องการลดปัจจัยการผลิตต่อเนื่อง เช่น ราคาลูกพันธุ์กุ้ง
ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า การหารือ 3 ฝ่าย ในวันที่ 6 มิ.ย.นี้ คาดว่าทางกลุ่มห้องเย็นจะเสนอขอนำเข้ากุ้งขาวแวนนาไมแบบเด็ดหัว ปริมาณ 5 หมื่นตัน จากต่างประเทศอีกครั้งหนึ่ง หลังจากสมาชิกสมาคมแช่เยือกแข็งไทยหลายรายหวั่นวิตกว่า ปริมาณการเลี้ยงกุ้งของไทยมีแนวโน้มที่จะต่ำกว่าที่คาดไว้ช่วงต้นปีว่า จะมีประมาณ 3 แสนตัน บวกลบลงไปอีก จากปัญหากุ้งขาวล้นตลาดในช่วงปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมา ทำให้ราคาตกต่ำกว่าต้นทุนการผลิต ผลผลิตล้นทั่วโลก
ที่มา ประชาชาติธุรกิจออนไลน์