เกษตรฯ สบช่องปีทอง หลังอาลีบาบา ซื้อลำไยกว่า 10,000 ตัน งัดเทคโนโลยี-นวัตกรรมเพิ่มมูลค่า

นายสมชาย ชาญณรงค์กุล อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า จากปัญหาราคาลำไยตกต่ำและผลผลิตไม่ได้คุณภาพ กรมฯ นำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาพัฒนากระบวนการผลิตเพื่อเพิ่มมูลค่าลำไยนอกฤดูด้วยเทคโนโลยี โดยวิจัยร่วมกับสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือสวก. แล้วนำมาส่งเสริมให้เกษตรกรภายใต้ระบบเกษตรแปลงใหญ่ลำไยในพื้นที่ จ.ลำพูนและพื้นที่ภาคเหนือ ส่งให้เกษตรกรนำความรู้ที่ได้รับไปต่อยอดปรับปรุงสวนลำไยสู่ขบวนการผลิตในรูปแบบเกษตรยุคใหม่ เพื่อการผลิตลำไยคุณภาพ เพิ่มรายได้ เพิ่มผลผลิตสามารถขายได้ราคาดี โดยนำร่องในกลุ่มแปลงใหญ่ลำไย ต.ศรีบัวบาน จ.ลำพูน จนสามารถพัฒนาประสิทธิภาพการผลิตและขายผลผลิตในราคาดี โดยปัจจุบันกำหนดราคาจำหน่ายลำไยเกรด AA ในราคา 40 บาท/ก.ก. เกรด A ราคา 30 บาท/ก.ก. เฉลี่ยกำหนดราคาอยู่ที่ 33 บาท/ก.ก. โดยมีตลาดส่งออกหลักคือ จีน อินโดนีเซีย

“การเร่งพัฒนาขบวนการผลิตลำไยให้มีคุณภาพสอดคล้องกับความต้องการของตลาด ถือเป็นโอกาสทองของเกษตรกรผู้ปลูกลำไยในพื้นที่ลำพูนและจังหวัดพื้นที่ภาคเหนือ ล่าสุดรมว.พาณิชย์ ประกาศว่า บริษัท อาลีบาบา ได้สั่งซื้อ ลำไยจากไทย เพื่อขายบน T-mall.com อีก 10,000 ตัน และคาดว่าจะโตต่อเนื่องอีก 3 ปี จึงเป็นช่องทางที่จะทำให้เกษตรกรเลือกที่จะผลิตสินค้าให้มีคุณภาพและสามารถขายได้ในราคาดี”นายสมชาย กล่าว

นายสมชาย กล่าวถึงสถานการณ์สถานการณ์การผลิตลำไย จ.ลำพูนด้วยว่า ปัจจุบันมีเกษตรกร 44,452 ราย พื้นที่ 270,245 ไร่ พื้นที่ให้ผลผลิต 269,444 ไร่ ผลผลิต (ในฤดู 125,120 + นอกฤดู 125,966 = 251,086 ตันผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่ ในฤดู 686 ตัน/ไร่ นอกฤดู 1,447 ตัน/ไร่ แผนบริหารจัดการผลผลิตลำไยในฤดู ปี 2561 จ.ลำพูน ปริมาณการผลิต 125,120 ตันการแปรรูป ปริมาณ 90,086 ตัน คิดเป็น 72.00% บริโภคสด ปริมาณ 35,034 ตัน คิดเป็น 28.00%

สำหรับการแปรรูป ส่วนใหญ่จะนำไปแปรรูปอบแห้ง ปริมาณ 87,584 ตัน คิดเป็น 97% นอกนั้นเข้าโรงงานกระป๋อง/อื่นๆ ปริมาณ 2,502 ตัน 3% (จากปริมาณการแปรรูปทั้งหมด) สำหรับการตลาดส่งออก ปริมาณ 23,773 ตัน คิดเป็น 68% สำหรับตลาดในประเทศ ปริมาณ 11,261 ตัน คิดเป็น 32% (จากปริมาณการบริโภคสดทั้งหมด)

นายสมชาย กล่าวถึงแนวทางการบริหารจัดการลำไยในปีนี้ด้วยว่า กระทรวงเกษตรฯ มีนโยบายในการให้เกษตรกรทำแปลงใหญ่เพื่อบริหารจัดการสินค้า ทั้งการลดต้นทุนการผลิต และเพิ่มผลผลิตให้มีประสิทธิภาพ รวมทั้งบริหารจัดการกลุ่มให้เข้มแข็ง จึงนับว่ากลุ่มแปลงใหญ่ลำไย ของ จ.ลำพูน เป็นตัวอย่างของความสำเร็จที่ให้เกิดความเข้มแข็งได้

สำหรับแนวทางการใช้ตลาดนำการผลิต รมว.เกษตรฯ ได้ตั้ง Chief of Operation (COO) และ Operation team (OT) โดยเป็นทีมเกษตร เกษตรจังหวัดและ เกษตรอำเภอ ในการกำกับดูแล ปัญหาสินค้าเกษตร และมีการตั้งอนุกรรมการพัฒนาการเกษตรและสหกรณ์จังหวัด ซึ่งมีสำนักงานเกษตรจังหวัดเป็นเลขานุการ เพื่อกำหนดขั้นตอนการทำงานตามหลักการตลาดนำการผลิต สำนักงานเกษตรจังหวัดและอำเภอ รวมทั้งสำนักงานสหกรณ์จังหวัด และประสาน ธ.ก.ส. พื้นที่ด้วย เพื่อร่วมกัน คัดเลือกผลผลิตการเกษตรในพื้นที่จากโครงการตามนโยบายสำคัญของกระทรวงเกษตรฯ

“กระทรวงเกษตรฯ ยังมีแผนที่จะจัดทำเว็บไซต์และข้อมูลสำคัญ (big data) เกี่ยวกับผลผลิตการเกษตรมาจัดทำให้เป็นข้อมูลที่เป็นปัจจุบัน เพื่อเป็นช่องทางให้ผู้สนใจสามารถติดต่อแหล่งซื้อ ขายสินค้าการเกษตร โดยตรงจากพื้นที่ต่างๆ รวมทั้งการจัดทำระบบซื้อขายผ่านระบบ E-commerce ด้วย โดยให้ประสานเพื่อขอเชื่อมโยงเว็บไซต์ของหน่วยงานรัฐและเอกชนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการซื้อขายผลผลิตการเกษตร เพื่อสะดวกในการค้นหาหรือติดต่อช่องทางค้าขายสินค้า ซึ่งขณะนี้กรมฯ ดำเนินการแล้ว โดยร่วมกับ ไปรษณีย์ไทย ซึ่ง ปณ. ได้มีการจัดทำ website Thailand Post mart ปัจจุบันเริ่มดำเนินการไปแล้ว โดยมีกลุ่มวิสาหกิจชุมชนที่มีความเข้มแข็ง เช่น วิสาหกิจชุมชนบ้านน้ำเกี๋ยน จ.น่านเข้าร่วมโครงการ ทั้งนี้ วางเป้าสินค้าเกษตรอื่นๆ โดยเฉพาะลำไยต่อไป” นายสมชาย กล่าว

 

ที่มา : ข่าวสดออนไลน์