เกษตรต่างแดน : ใยแมงมุม นุ่มกว่าไหม แกร่งกว่าเหล็กไหล

SONY DSC

เราทุกคนต้องเคยไปพาดพันเข้ากับใยแมงมุมมาแล้ว ไม่ว่าจะเดินเข้าไปหามัน หรือมันหล่นใส่หัวโดยบังเอิญ

คงจำได้ว่ามันพันแขนขาเราหนืดเหนียวขนาดไหน

และคงจำได้ว่า วิธีเดียวที่จะเอามันออกไปคือ ค่อยๆ ลูบให้มันออกจากตัวทีละนิดละน้อย ค่อยๆ ลูบ ใจเย็นๆ เพราะยิ่งใจร้อนมันจะยิ่งพันหนักเข้าไปอีก

เวลามันติดผมเรา จำได้ไหมว่า เอามันออกยากลำบากขนาดไหน ต้องค่อยๆ ไล่เลียงลูบออกทีละเส้น บางทีต้องไปสระผม กระนั้นมันก็ติดอยู่กับผมเราไปอีกหลายวัน

เราไม่สามารถฉีกทึ้งมันได้ แม้ว่าจะพยายามขนาดไหน และแม้ว่าเส้นใยมันจะดูบอบบางขนาดไหน ลองกันมาแล้วหรือเปล่า ถ้าไม่ลองกลับไปลองได้

นักวิทยาศาสตร์บอกนานแล้วว่า ใยแมงมุม ที่บอบบางแทบจะมองด้วยตาเปล่าไม่เห็นนั้น มีความเหนียวกว่าเหล็ก 10 เท่า และทนทานกว่า Kevlar (เส้นใยประเภทหนึ่งเขาใช้ทำเกราะกันกระสุน ประกอบภายในรถยนต์ พวกคอหนังเขาว่าทำเสื้อเกราะมนุษย์ค้างคาวด้วย อันนี้เราไม่รู้ด้วยนะ) 10 เท่า เหมือนกัน หรือเรียกว่าทนทานที่สุดในโลก แต่ยืดหยุ่นกว่ามาก และยืดหยุ่นที่สุดในโลกเช่นกัน อันนี้คนผ่านประสบการณ์การถูกใยแมงมุมพันแข้งขาหน้าตามาแล้วคงไม่เถียง

เขามีข้อยุติกันแล้วว่า ใยแมงมุม มีความเหนียวทนทานหนักหนา เขาจึงพยายามจะใช้ประโยชน์จากใยแมงมุมอย่างจริงจัง นี่เขาก็พยายามคิดค้นทดลองกันมาเกิน 20 ปี และพบว่ามันนำมาใช้ประโยชน์ได้มหาศาลจากความเหนียวทนทานทายาดของมัน

สิ่งของที่จำเป็นต้องมีความเหนียวหนาทนทาน อย่างเสื้อเกราะกันกระสุน สายเบ็ด เส้นใยสำหรับมัดพันสิ่งของขนาดใหญ่ ผ้าพันแผล ล้วนต้องการมัน

เขาว่าถ้าเกราะกันกระสุนทำด้วยใยแมงมุม มันจะเป็นเกราะกันกระสุนที่แน่นหนาทนทานกว่าที่เคยมีมา เขาคิดกันไปถึงว่า จะเอาไปบุภายในรถถังโน่นเลย นี่ยืนยันถึงความเหนียวทนทานอย่างถึงที่สุด

ดังนั้น ความต้องการใยแมงมุมจึงเรียกว่า มหาศาลเกินกว่าจะคาดถึง

แต่จะเอาใยแมงมุมมหาศาลนั้นมาจากไหน? ใครจะสละบ้านเรือนให้แมงมุมชักใยกระนั้นหรือ?

เขาก็พยายามจะทำฟาร์มแมงมุม เพื่อเอาใยกัน อันนี้เริ่มกันแบบง่ายๆ เลย และมีคนทำมาแล้ว

ที่เกาะมาดากัสการ์ ประเทศในมหาสมุทรอินเดีย ใกล้ๆ กับแอฟริกา มีคนลงมือทำฟาร์มเลี้ยงแมงมุม เพื่อเอาใย ผลออกมาคือ 1 ปี ได้ใยแมงมุมยาวราว 80 ฟุต หรือสรุปได้ว่ากว่าจะได้ใยแมงมุมหนักราว 3 ขีด จะต้องใช้แมงมุมเกือบ 20,000 ตัว

ไอเดียทำฟาร์มหวังเอาใยนี่ เลยต้องพับไป

แต่เขาก็ไม่ยอมแพ้กันนะ นักวิทยาศาสตร์ยังคงพยายามต่อมา กระทั่งไปถึงขั้นเอา ดีเอ็นเอ ของแมงมุมไปใส่ในสัตว์อื่น หวังจะได้สัตว์พันธุ์ใหม่ที่ผลิตใยแมงมุมออกมา

สัตว์ชนิดแรกที่ถูกทดลองเป็นเรื่องเป็นราวคือ แพะ เขาเอา ดีเอ็นเอ แมงมุม ไปใส่ในแพะ ออกมากลายเป็นแพะที่มีน้ำนมที่มีใยแมงมุมอยู่ในนั้น คือไม่ได้เป็นใยระโยงระยางในน้ำนมนะ แต่เมื่อเอาน้ำนมของแพะที่ถูกดัดแปลงพันธุกรรมนี้ไปเข้ากระบวนการกลั่น น้ำนมจะให้ใยแมงมุมออกมาในท้ายสุด

ฟาร์มแพะใยแมงมุมมีในแคนาดา และอเมริกา มหาวิทยาลัยบางแห่ง อย่าง มหาวิทยาลัยยูท่าห์ ลงมือทดลองอย่างจริงจังและเริ่มผลิตใยแมงมุมออกมา เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ แต่ทั้งหมดก็ยังอยู่ในขั้นทดลอง

ที่แคนาดานั้น มีคนเอาไปทำเชิงอุตสาหกรรมแล้ว แต่ไม่ประสบผลสำเร็จ พูดง่ายๆ คือ เจ๊ง

หนึ่งเพราะฟาร์มแพะต้องใช้พื้นที่มาก ใช้กระบวนการมาก และแพะเองก็ต้องกินอาหารมาก มันไม่ต่างจากการเลี้ยงไก่เพื่อเอาไข่สักเท่าไร คือไม่คุ้มทุน

จนล่าสุดมีคนคิดค้นการผลิตใยแมงมุงจากแบคทีเรีย ที่จะใช้พื้นที่น้อยกว่า ไม่ต้องใช้หญ้าฟางหรืออาหารอื่นใดอย่างการเลี้ยงแพะ

เป็นการผลิตในพื้นที่จำกัด และภายใต้การควบคุมเช่นเดียวกับห้องทดลอง แต่จะให้ใยแมงมุมจำนวนที่มากกว่านับสิบนับร้อยเท่า ตัวเลขไม่ชัดเจนว่าเขาทำออกมาได้มากประมาณไหน แต่น่าจะมากโขอยู่ เพราะตอนนี้เขากำลังจะทำโรงงานต้นแบบเพื่อเอาใยแมงมุมที่ผลิตได้ ไปผลิตเป็นเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มสำหรับขายคนทั่วไปแล้ว

เขาบอกว่า นอกจากจะคงทนแล้ว ใยแมงมุมยังเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ไม่เหมือนใยโพลีเอสเตอร์ที่ยากจะย่อยสลาย

เขามีบริษัทสตาร์ตอัพที่กำลังทำเรื่องนี้กันอย่างเป็นล่ำเป็นสัน อีกไม่นานเกินรอจะมีเสื้อใยแมงมุมออกมาให้ซื้อหากัน

ใครสนใจจงตามดูกิจการที่ว่า เขาใช้ชื่อว่า Bolt Threads หรือ “ไหมสายฟ้า” ชื่อชวนฝันว่ามันจะมาสร้างยุคใหม่ ที่ไม่ต้องทำลายสิ่งแวดล้อมกันหนัก เพื่อจะทำเสื้อทำกางเกงใส่กันอย่างทุกวันนี้

ตัวอย่างชัดเจนหนึ่งคือ อุตสาหกรรมโพลิเมอร์ในจีน ทิ้งขยะปีละ 3,000 ตัน เจ้าโพลิเมอร์นี่เอาไปผลิตเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มราคาถูกให้เราใช้กัน ถ้าใช้ใยแมงมุมที่ย่อยสลายได้เองตามธรรมชาติ (เขาไม่ได้บอกว่าการย่อยสลายเจ้าใยที่เหนียวที่สุดในโลกนี่ต้องทำอย่างไร บอกเพียงแต่ว่า มันย่อยสลายได้ง่าย ถ้ารู้แล้วจะมาบอกต่อนะ) เราคงทำร้ายธรรมชาติน้อยลง

ตอนนี้ Bolt Threads เป็นเจ้าเดียวที่ผลิตใยแมงมุมด้วยวิธีการนี้ได้ เขายืนยันจะใช้ในการผลิตเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มเพื่อให้คนได้มีเสื้อผ้าที่ไม่ทำลายธรรมชาติได้ใช้กันทั่วถึง อย่างน้อยปีละ 1,000 ล้านคน

ส่วนถ้าใครจะซื้อไปทำเสื้อเกราะกันกระสุน คงต้องเสียใจ เขาบอก เขาไม่ขาย เพราะเขาไม่สนับสนุนการใช้ความรุนแรงหรือสงคราม

อันนี้ฉันชอบด้วยอย่างยิ่ง จึงปรบมือรัว