เกษตรอุตรดิตถ์ แนะนำบริโภคสับปะรดคุณภาพดีที่สุดในโลก

ในช่วงเดือนมิถุนายนนี้ ผลผลิตสับปะรดบริโภคผลสดกำลังอยู่ในช่วงที่คุณภาพดีที่สุด โดยเฉพาะ “สับปะรดห้วยมุ่น” ของจังหวัดอุตรดิตถ์ ซึ่งเป็นสับปะรดที่ประชาชนทั้งในประเทศและต่างประเทศ  นิยมบริโภคกันมาก ด้วยคุณสมบัติที่มีความพิเศษเฉพาะ ได้รับการประกาศให้เป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI.)

นายอุดมศักดิ์ คำมูล เกษตรจังหวัดอุตรดิตถ์ เปิดเผยว่า “สับปะรดห้วยมุ่น” ซึ่งเป็นไม้ผลเศรษฐกิจที่สำคัญของจังหวัดอุตรดิตถ์ ได้รับการประกาศให้เป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (Geographical Indication : GI.) ตั้งแต่วันที่ 13 มิถุนายน 2555 ทะเบียนที่ 56100056 โดยกรมทรัพย์สินทางปัญญา  กระทรวงพาณิชย์ ซึ่งกว่าจะเป็นสินค้า สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ได้ ต้องได้รับการตรวจสอบ พิสูจน์ว่าเป็นธรรมชาติสร้างสิ่งแวดล้อม โดยมีมนุษย์ใช้ทักษะ ความชำนาญ ภูมิปัญญา ก่อให้เกิดสินค้าคุณภาพพิเศษเฉพาะ ซึ่งสับปะรดห้วยมุ่น เป็นสินค้าที่ได้รับการตรวจสอบ พิสูจน์แล้ว ข้อพิสูจน์บ่งชี้ถึงความพิเศษ คือมีลักษณะผลกลม ขนาดน้ำหนัก 1.5-3.5 กิโลกรัม เฉลี่ยน้ำหนัก 2.2 กิโลกรัม ต่อผล ผิวเปลือกบาง ตาตื้น ผลดิบ  สีเขียวคล้ำ ผลแก่เปลือกสีเหลืองอมส้ม เนื้อหนานิ่ม สีเหลืองเหมือนน้ำผึ้ง รสชาติหวานฉ่ำ กลิ่นหอม ที่สำคัญไม่กัดลิ้น ปลูกในพื้นที่ ตำบลห้วยมุ่น และตำบลน้ำไผ่ อำเภอน้ำปาด จังหวัดอุตรดิตถ์ จึงนับได้ว่า เป็นสับปะรดคุณภาพดีที่สุดในโลก

นายอดุลย์ศักดิ์ ไชยราช หัวหน้ากลุ่มยุทธศาสตร์และสารสนเทศ สำนักงานเกษตรจังหวัดอุตรดิตถ์ เพิ่มเติมว่า สับปะรดห้วยมุ่นของจังหวัดอุตรดิตถ์ ปี 2561 มีพื้นที่ปลูก 30,707 ไร่ พื้นที่ให้ผลผลิต 27,719 ไร่ ให้ผลผลิต กว่า 122,700 ตัน นิยมทำการปลูกช่วงฤดูแล้ง เดือนพฤศจิกายน-มกราคม เนื่องจากมีความสะดวกในการเตรียมพื้นที่ปลูก และเตรียมพันธุ์ที่มีคุณภาพ ให้ผลผลิตมากที่สุด คุณภาพดีที่สุด ช่วงเดือน มิถุนายน-กรกฎาคม ในปีนี้ผลผลิตสับปะรดห้วยมุ่น ออกสู่ตลาดผู้บริโภคมากกว่าปีก่อน เนื่องจากสภาพภูมิอากาศดี ทั้งปริมาณน้ำ ความชื้น ความหนาวเย็นเหมาะสม  ประกอบกับเกษตรกรมีการดูแลเอาใจใส่การผลิตที่ดี มีการรวมกลุ่มผลิตที่เข้มแข็ง และมีการใช้เทคโนโลยีในการผลิตที่เหมาะสม ด้วยศักยภาพพื้นที่ปลูก พื้นที่เชิงเขา ลักษณะดินเป็นดินร่วนปนทราย เกิดจากการพัดพาของน้ำ มีการสลายตัวตามธรรมชาติ ปริมาณน้ำฝนมากเพียงพอ สภาพอากาศอุณหภูมิเฉลี่ย 26-30 องศาเซลเซียส สับปะรดห้วยมุ่นจึงปรับเปลี่ยนคุณสมบัติไปจากพันธุ์ปัตตาเวีย ซึ่งเป็นพันธุ์ดั้งเดิมของสับปะรดห้วยมุ่น ที่นำเข้ามาปลูกในพื้นที่กว่า 50 ปีมาแล้ว ในด้านการตลาดสับปะรดห้วยมุ่น มีการจำหน่ายผลผลิตเป็น 2 ลักษณะ ลักษณะแรกคือจำหน่ายเป็นสับปะรดบริโภคผลสด ซึ่งมีการคัดเกรด เป็นเนื้อ 1,2,3 หรือเกรด A,B,C ตรวจสอบได้โดยการสัมผัส ดีด เคาะ ซึ่งจะมีจำหน่ายในพื้นที่ หรือมีพ่อค้าย่อยเข้าไปรับซื้อผลผลิตออกมาจำหน่าย หรือเกษตรกรในพื้นที่นำออกมาจำหน่ายเอง อีกลักษณะหนึ่งคือจำหน่ายเป็นสับปะรดโรงงาน จะมีแผง หรือล้ง รวบรวมผลผลิต โดยมีรถบรรทุกขนาดใหญ่ติดพ่วง จากโรงงานจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ระยอง ชลบุรี ตราด ขึ้นไปรับผลผลิตจากพื้นที่ ครั้งละ 15-30 ตัน ต่อคัน

หากสนใจรายละเอียดเพิ่มเติม สามารถติดต่อสอบถามได้ โทรศัพท์ กลุ่มยุทธศาสตร์ฯ สำนักงานเกษตรจังหวัดอุตรดิตถ์ โทร. (055) 411-769, (055) 440-894 สำนักงานเกษตรอำเภอน้ำปาด โทร. (055) 481-006

ที่มา : ขอบคุณข้อมูลจาก อดุลย์ศักดิ์ ไชยราช