เกษตรกรรม กับ เศรษฐกิจ 4.0

เชื่อว่าเวลากล่าวถึงเศรษฐกิจ 4.0 เราคงจะต้องนึกถึงอะไรที่ทันสมัย อาทิ อุปกรณ์อัจฉริยะ หุ่นยนต์ และระบบเครื่องกลที่ใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์ควบคุม เทคโนโลยีอินเตอร์เน็ตที่เชื่อมต่อและบังคับอุปกรณ์ต่างๆ ปัญญาประดิษฐ์ และเทคโนโลยีสมองกล เราจะพูดถึงโลกดิจิตอล การค้าขายผ่านอีคอมเมิร์ซ เงินดิจิตอลในระบบ Block Chain และอะไรต่อมิอะไรที่ดูล้ำๆ

แต่วันนี้ผมอยากชวนกันมามองเศรษฐกิจ 4.0 ในมุมที่เรานำเอาเทคโนโลยีและสิ่งต่างๆ ที่กล่าวมาข้างต้น มาประยุกต์ใช้กับการทำการเกษตรซึ่งผมมองว่าเป็นส่วนหนึ่งของเศรษฐกิจ 4.0 เช่นเดียวกัน

การทำการเกษตรในปัจจุบัน ต้องบอกว่า เหลียวหลังแลหน้ากันพอสมควร ที่นำเอาความรู้สมัยใหม่มาใช้ในเชิงสารเคมีและปุ๋ยนั้น กลายเป็นว่าจะตกยุคและไม่เป็นที่ยอมรับกันมากขึ้นเรื่อยๆ การหันมาทำอะไรที่เป็นเกษตรอินทรีย์นับเป็นเทรนด์ที่ถือว่าเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตร และส่งเสริมแนวคิดเรื่องสุขภาพกันมากขึ้น เป็นการทำให้เกษตรกรรมเกิดความมั่นคงยั่งยืน และขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้ไม่แพ้ประเทศอุตสาหกรรม

ประเทศในแถบอเมริกาเหนือและยุโรปที่เริ่มหันมาใช้เทคโนโลยีในการบริหารจัดการและควบคุมคุณภาพของผลผลิต รวมทั้งให้ความสำคัญกับประสิทธิภาพในการผลิต (กระบวนการ) และประสิทธิผล (ผลลัพธ์หรือผลผลิตที่ได้) เขาทำเกษตรกรรมแบบทันสมัยที่ใช้อุปกรณ์อัจฉริยะต่างๆ มาเพื่อบริหารให้เกิดความยั่งยืน มีผลผลิตที่สูง และก่อให้เกิดประโยชน์ในเชิงเศรษฐกิจไปพร้อมๆ กัน บางคนเรียกชื่อว่า เกษตรกรรมแม่นยำ (Precision Farming) คือ เน้นความแม่นยำใน 4 เรื่อง คือ 1. Precision Soil Preparation 2. Precision Seeding 3. Precision Crop Management 4. Precision Harvesting คือแม่นยำตั้งแต่การเตรียมคุณภาพดินให้ได้ตามที่ต้องการ การหว่านเมล็ดเพาะพันธุ์พืช การบริหารพืชผลในแปลงต่างๆ รวมไปถึงการเก็บเกี่ยวผลผลิต โดยองค์ประกอบทั้งสี่นี้เชื่อมร้อยกันเป็นระบบฐานข้อมูลเพื่อการวิเคราะห์และประเมินผล เรียกว่า บริหารการเกษตรในลักษณะเดียวกับการบริหารธุรกิจ คือมีข้อมูลที่พรั่งพร้อมเป็นเครื่องมือในการดำเนินการและตัดสินใจต่างๆ

โดยการนำเอาเทคโนโลยีทางด้านดาวเทียม, การหาตำแหน่งที่ตั้งที่เที่ยงตรง, ตัวตรวจจับ หรือ Smart Sensors, และ IT Application มาติดตั้งเป็นระบบเดียวกัน โดยอุปกรณ์แต่ละตัวจะรวบรวมฐานข้อมูลแบบ Real Time เพื่อให้สามารถนำข้อมูลมาใช้ประโยชน์กับการเกษตร กล่าวคือ ใช้อุปกรณ์ดาวเทียมภูมิศาสตร์ หรือ GIS : Geographic Information System เพื่อระบุลักษณะทางกายภาพของดิน น้ำ อากาศ ลม และความร้อน ในการเพาะปลูกพืชในแปลงการผลิตของตน ซึ่งในพื้นที่หนึ่งๆ อาจมีลักษณะทางกายภาพที่ต้องดูแลพืชผลการเกษตรที่แตกต่างกัน

การใช้ภาพถ่ายแสดงการสะท้อนของคลื่นความร้อนในแต่ละพื้นที่ เพื่อระบุปริมาณความชื้น อุณหภูมิ การตรวจจับความเปลี่ยนแปลงทางกายภาพในช่วงต่างๆ ของฤดูการผลิต ทำให้สามารถควบคุมแก้ไขความแปรปรวนของอากาศไม่ให้เกิดความสูญเสียของผลผลิต ช่วยลดโอกาสที่พืชจะเสียหายหรือเสียชีวิตด้วยปัจจัยสภาพอากาศ หรือความชื้นในดินที่เปลี่ยนแปลงไป การรายงานผลเกี่ยวกับศัตรูพืชเพื่อที่เกษตรกรจะเข้าไปแก้ไขได้ก่อนที่ศัตรูพืชจะมาทำลายผลผลิตในวงกว้าง การใช้โดรน (หรือเครื่องบินบังคับขนาดเล็ก) เพื่อเข้าไปฉีดยากำจัดศัตรูพืชเฉพาะบริเวณ (อาจจะใช้ยากำจัดศัตรูพืชที่ไม่เป็นอันตรายกับมนุษย์ก็ได้) เป็นต้น

การใช้ระบบฐานข้อมูลและอุปกรณ์เหล่านี้ช่วยให้การบริหารจัดการแปลงต่างๆ อย่างละเอียดลออ ทำให้แปลงการผลิตอันกว้างใหญ่ไพศาลกลายเป็นพื้นที่ที่เราเข้าถึงได้ราวกับพลิกฝ่ามือ การเน้นเข้าไปจัดการกับปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในไร่นาอย่างทันต่อเวลาและตรงจุด (คือระบุพื้นที่ได้แม่นยำ) ว่ากันว่าจะเป็นตัวทำให้การเกษตรเป็นเหมือนโรงงานอุตสาหกรรมที่เกษตรกรมีหน้าจอมอนิเตอร์ได้ตลอดทุกพื้นที่การผลิต

ลองนึกภาพว่า รถแทรกเตอร์ที่วิ่งเข้าไปในแปลงพืช มีหน้าจอที่มีตัวเลขวัดค่าต่างๆ อยู่ด้วย ทำให้เกษตรกรเข้าไปในพื้นที่และทราบลักษณะทางกายภาพรอบๆ บริเวณได้ในทันที ทำให้เกษตรกรสามารถประเมินคุณภาพของพืชผลการเกษตรได้ดีขึ้น

บางคนพอได้ยินว่ามีการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยเข้ามาใช้แล้ว จะเหมือนการเกษตรในแบบที่เน้นผลผลิตโดยที่อาจจะเป็นพืชผลที่เป็นพิษเป็นภัยต่อมนุษย์หรือไม่ อันที่จริงการทำเกษตรแบบแม่นยำนั้นจะมีอุปกรณ์ที่เกิดขึ้นจากผลการวิจัยอยู่ด้วย เช่น เครื่องหยดสารกำจัดวัชพืช ที่กำหนดให้หยดได้ช้ามากเป็นพิเศษ เพื่อควบคุมปริมาณของสารที่เราจะใช้ให้พอเหมาะและไม่มากเกินไป (เรียกว่า Ultra-low volume herbicide application)

หรืออย่างพื้นที่ที่ระบบชลประทานทำได้ยากและสิ้นเปลืองทรัพยากรมากกว่าแหล่งอื่น เนื่องจากมีแหล่งน้ำที่จำกัด ก็พบว่าเมื่อนำการเกษตรแบบแม่นยำมาใช้ จะช่วยลดการสูญเสียอันเกิดจากการผันน้ำมาใช้ในพื้นที่มากเกินความจำเป็น ทำให้การบริหารปริมาณน้ำทำได้ละเอียดยิ่งขึ้นในพื้นที่ที่มีทรัพยากรน้ำจำกัด มีการนำ Remote Sensors เพื่อวัดปริมาณน้ำที่ใช้ไปจริงในแปลงเกษตร และวัดแสงสะท้อนที่เกิดขึ้นจากพืชที่บ่งบอกถึงอัตราการคายน้ำของพืชตามสภาพความสมบูรณ์ของปัจจัยการผลิตที่พืชนั้นได้รับ

หรืออุปกรณ์ที่ช่วยปล่อยไอน้ำหยดเล็กๆ ที่จะทำงานต่อเมื่อพบว่าอุณหภูมิรอบๆ อยู่ในช่วงที่วิกฤติ หรือเมื่อมีปัจจัยบ่งชี้ว่าพืชเริ่มมีอาการเปลี่ยนสีและเริ่มเข้าสู่จุดที่มีความเสี่ยงที่จะเสียหาย อุปกรณ์ก็จะทำงานเพื่อคลายความร้อนให้พืชในลักษณะไอน้ำที่ระเหยออกมาเพื่อปรับอุณหภูมิโดยรอบ อุปกรณ์เหล่านี้ทำงานโดยระบบ Remote Sensing ที่มีการเก็บค่าตัวเลขและแบ่งสเกลความเสี่ยงออกเป็นระดับต่างๆ เช่น สเกลบอกระดับ O แปลว่า No Stress, ระดับ 1 แปลว่า Serious Stress โดยค่าดังกล่าวจะแตกต่างกันในพืชแต่ละชนิด เช่น สำหรับข้าวโพด ค่าดังกล่าวสามารถสูงถึง 0.4 ได้โดยยังไม่เกิดผลเสียหาย ในขณะที่ฝ้าย ต้องเฝ้าระวังตั้งแต่ค่าดังกล่าวต่ำกว่านี้มาก เป็นต้น

มีเทคโนโลยีบางตัวที่ต้องใช้ข้อมูลจากอุปกรณ์ เช่น ดาวเทียม ก็จะมีต้นทุนสูงในลักษณะที่เกษตรกรไม่สามารถหาซื้อได้โดยลำพัง เขาจะมีวิธีจัดหาอุปกรณ์เพื่อใช้กันในกลุ่ม ในลักษณะลงขันและลงหุ้นกัน เพื่อให้มีอุปกรณ์ดังกล่าวมาใช้ร่วมกัน

ในสหรัฐอเมริกาได้ศึกษาการเกษตรแบบแม่นยำขึ้นกว่า 10 ปี โดยหน่วยงานของรัฐสามหน่วยงาน ได้แก่ กระทรวงเกษตร, NASA และ NOAA (National Oceanic and Atmospheric Administration) NOAA เป็นหน่วยงานที่ดูแลเรื่องสภาพดินฟ้าอากาศ, แจ้งเตือนการเกิดพายุ, มหาสมุทรและชายฝั่ง, การประมง, ดาวเทียม, การเดินเรือและการบิน, รวมทั้งงานวิจัยในเรื่องเหล่านี้

หากเราย้อนกลับมาดูที่บ้านเรา วิสัยทัศน์เรื่อง Thailand 4.0 (ซึ่งก็ได้แนวคิดมาจากเศรษฐกิจ 4.0) มีหัวข้อเกษตรกรรมเป็นหัวข้อหนึ่งในห้าหัวข้อหลัก โดยระบุว่า “ต้องเปลี่ยนจากการเกษตรแบบดั้งเดิม ไปสู่การเกษตรสมัยใหม่ ที่เน้นการบริหารจัดการและใช้เทคโนโลยี หรือ Smart Farming โดยเกษตรกรต้องร่ำรวยขึ้น และเป็นเกษตรกรแบบเป็นผู้ประกอบการ”

ทีนี้ หากบ้านเราจะหันมาทำการเกษตรแบบแม่นยำแล้ว เครื่องมือ อุปกรณ์ ระบบข้อมูล และแอปพลิเคชั่นต่างๆ คงต้องจัดซื้อโดยนำเข้าเทคโนโลยีจากประเทศเหล่านี้ จะเป็นเรื่องที่เกินกำลังของเกษตรกรจะเอื้อมถึงหรือไม่ เราอาจจะต้องเริ่มคิดกันว่าจะมีหน่วยงานใดบ้างที่ร่วมกันทำงานวิจัยหรือพัฒนาเครื่องมือ อุปกรณ์ และระบบข้อมูลเพื่อรองรับการทำเกษตรกรรมแบบแม่นยำให้เกิดขึ้น ดูเหมือนทุกวันนี้เรายังหันซ้ายแลขวา เหลียวหน้าแลหลัง ไปกันไม่ถูกว่าเราจะเน้นเกษตรกรรมในลักษณะไหน นโยบายต่างๆ ที่เกี่ยวกับการเกษตรยังไม่สอดคล้องลงตัว และรวมกันเป็นเนื้อเดียว ที่จะทำให้เรามีทิศทางที่มุ่งเน้นไปทางใดทางหนึ่ง (หรือหลากหลาย) อย่างชัดเจน