อดิศัย ว่องไวไพโรจน์ เกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ สาขาอาชีพเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืด ปี 61 เลี้ยงจระเข้เป็นอาชีพทำเงิน

คุณอดิศัย ว่องไวไพโรจน์  อยู่บ้านเลขที่ 92 หมู่ 10 ตำบลหลุมรัง อำเภอบ่อพลอย จังหวัดกาญจนบุรี รหัสไปรษณีย์ 71160 เริ่มต้นเลี้ยงจระเข้ เมื่อปี 2542 โดยยึดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งประกอบด้วย 3 ห่วง 2 เงื่อนไข ดังนี้

ห่วงที่ 1 ความพอประมาณ ปีแรกเริ่มทดลองเลี้ยงจระเข้ 50 ตัว โดยใช้เงินทุนของตนเอง และค่อยๆ ทยอยลงทุนเลี้ยงเพิ่มทุกปี ปีละ 50 ตัว จนกระทั่งครบรอบการเลี้ยงและมีผลผลิตออกจำหน่ายอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะทำให้มีเงินทุนหมุนเวียนและลดความเสี่ยงจากการลงทุน โดยมีหลักในการลงทุน คือ
“มีน้อยใช้น้อย มีมากขยายต่อ”

ห่วงที่ 2 ความมีเหตุผล การเริ่มต้นเลี้ยงจระเข้จะตัดสินใจโดยพิจารณาจากเหตุปัจจัยที่เกี่ยวข้อง เช่น พิจารณาว่าจระเข้เป็นสัตว์ที่เลี้ยงง่ายและใช้แรงงานน้อย เลือกทำเลที่ตั้งฟาร์ม โดยพิจารณาจากราคาที่ดินซึ่งมีราคาถูก ตั้งอยู่ใกล้ฟาร์มเลี้ยงไก่ จึงซื้ออาหารจระเข้ได้ในราคาถูก ลดต้นทุนการเลี้ยง สภาพภูมิอากาศร้อนและมีแสงแดดเหมาะแก่การเลี้ยงจระเข้ ไกลจากแหล่งชุมชน จึงไม่เกิดปัญหาความขัดแย้งกับชุมชน ไกลจากฟาร์มจระเข้อื่น จึงป้องกันปัญหาการแพร่กระจายของเชื้อโรคจากฟาร์มอื่นได้ เส้นทางคมนาคมและไฟฟ้าเข้าถึง ทำให้ง่ายต่อการบริหารจัดการ ให้ความสำคัญกับเรื่องความสะอาดและสุขาภิบาลที่ดีร่วมกับการใช้ลูกพันธุ์ที่มีคุณภาพ ทำให้จระเข้ที่เลี้ยงไว้แข็งแรง

ห่วงที่ 3 การมีภูมิคุ้มกันที่ดี เพื่อเตรียมตัวพร้อมรับกับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงรอบตัว เช่น จัดสรรเงินทุนสำรองเพื่อใช้ในยามจำเป็น ติดตามสถานการณ์และข่าวสารต่างๆ ทำให้คาดคะเนสถานการณ์ความเคลื่อนไหวของตลาดได้ระดับหนึ่ง รวมกลุ่มกับผู้เลี้ยงจระเข้เพื่อสร้างอำนาจการต่อรอง แลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารระหว่างกัน และช่วยเหลือกันภายในกลุ่ม พัฒนาการแปรรูปผลิตภัณฑ์เครื่องหนังจากจระเข้และจำหน่ายภายใต้ชื่อทางการค้า “วารี (waaree) ซึ่งเป็นแบรนด์ของตนเอง เพื่อต่อยอดและเพิ่มมูลค่าจระเข้ให้มากขึ้น

เงื่อนไขที่ 1 ความรู้ การเลี้ยงจระเข้ให้ประสบความสำเร็จ ต้องหมั่นหาความรู้เพิ่มเติมทั้งจากหนังสือ การศึกษาดูงานจากฟาร์มอื่น ขอคำแนะนำจากผู้รู้ และเข้าร่วมการอบรมสัมมนาทางวิชาการต่างๆ โดยนำความรู้ที่ได้มาประยุกต์ใช้และปรับปรุงการเลี้ยงจระเข้

เงื่อนไขที่ 2 คุณธรรม ยึดหลักความซื่อสัตย์สุจริต ความขยันหมั่นเพียร มีความมานะพยายามและอดทน การเสียสละเพื่อประโยชน์ส่วนรวม และการแบ่งปันให้กับผู้อื่นในสังคม และเนื่องจากฟาร์มตั้งอยู่ในพื้นที่ราบลุ่ม มีภูเขาล้อมรอบ มีโอกาสในการประสบปัญหาภัยธรรมชาติ เช่น น้ำท่วม หรือน้ำแล้ง จึงคิดวิธีแก้ไขปัญหา ดังนี้

  1. การแก้ปัญหาน้ำท่วม

การที่ฟาร์มตั้งอยู่ในพื้นที่ราบลุ่มมีภูเขาล้อมรอบ ถ้าฝนตกหนักจะทำให้เกิดปัญหาน้ำป่าไหลหลากและท่วมฟาร์มได้ จึงคิดวิธีการแก้ปัญหาโดยขุดคูคลองยาวเชื่อมต่อกับคลองที่อยู่เหนือพื้นที่ขึ้นไป ทำให้น้ำป่าไหลลงสู่
คู คลอง สามารถระบายน้ำได้รวดเร็ว ได้สร้างฝายชะลอน้ำเพื่อเก็บน้ำไว้ใช้ยามจำเป็น

  1. การแก้ปัญหาน้ำแล้ง

การแก้ปัญหาน้ำแล้ง โดยใช้กระสอบทรายปิดกั้นทางน้ำบริเวณฝายชะลอน้ำ ทำให้น้ำล้นออกจากฝายไหลท่วมทั่วบริเวณ ทำให้เกิดความชุ่มชื้น ขุดสระน้ำเพื่อลดปัญหาการขาดแคลนน้ำในฤดูแล้ง ปลูกป่าสะเดาและไม้อื่น ๆ ร่วมกับยูคาลิปตัส เพื่อลดความรุนแรงของน้ำก่อนที่จะเข้ามาถึงตัวฟาร์ม

 

ผลงานและความสำเร็จของผลงานทั้งปริมาณและคุณภาพ ตลอดจนระยะเวลาที่ปฏิบัติงานและความยั่งยืนในอาชีพ

ปัจจุบัน ฟาร์มเป็นแหล่งผลิตและเพาะพันธุ์จระเข้ที่ดีมีคุณภาพรายใหญ่ที่สุดของจังหวัดกาญจนบุรี และประสบความสำเร็จในการพัฒนาต่อยอดการแปรรูปผลิตภัณฑ์เครื่องหนังจากจระเข้ ภายใต้ชื่อทางการค้าของตนเอง คือ “วารี (waaree)”

ความสำเร็จด้านปริมาณ

  1. 1. อนุบาลลูกจระเข้ อายุ 1 วัน – 8 เดือน ขนาดตัว 30 – 110 เซนติเมตร ในบ่อซีเมนต์ ขนาด
    10 x 16 เมตร จำนวน 26 บ่อ ในพื้นที่ 3 ไร่ สามารถอนุบาลจระเข้ได้ 400 ตัว/บ่อ ผลิตลูกจระเข้ได้ 6,500 ตัว/ปี
  2. ขุนจระเข้ อายุ 8 เดือน – 4 ปี ขนาดตัว 110 – 300 เซนติเมตร ในบ่อซีเมนต์ ขนาด 27 x 23 เมตร จำนวน 22 บ่อ ในพื้นที่ 8 ไร่ สามารถขุนจระเข้ได้ 800 ตัว/บ่อ ปัจจุบันมีจระเข้ขุนจำนวน 16,000 ตัว สามารถจำหน่ายได้ปีละ 6,500 ตัว ราคาเฉลี่ยตัวละ 5,000 บาท คิดเป็นรายได้เฉลี่ยปีละ 32,500,500 บาท ปัจจุบัน ได้พัฒนาบ่อแบบใหม่ทำให้สามารถลดระยะเวลาการเลี้ยงได้ถึง 1 ปี
  3. เลี้ยงพ่อแม่พันธุ์ ในบ่อ จำนวน 7 บ่อ พื้นที่ 22 ไร่ มีพ่อแม่พันธุ์จำนวน 2,400 ตัว ใช้สำหรับเพาะพันธุ์ลูกจระเข้ ปัจจุบันผลิตลูกได้ปีละ 4,000 ตัว
  4. จำหน่ายผลิตภัณฑ์เครื่องหนังจากจระเข้เฉลี่ยปีละ 500,000 บาท โดยรับคำสั่งซื้อโดยตรง
    นำสินค้าไปจัดแสดงในงานต่าง ๆ และจำหน่ายผ่านทางอินเตอร์เน็ต เป็นต้น
  5. เลี้ยงปลาดุก จำนวน 15,000 ตัว ในบ่อขนาด 2 งาน มีรายได้เฉลี่ยปีละ 225,000 บาท

ความสำเร็จด้านคุณภาพ

ฟาร์มได้รับใบรับรอง GAP ฟาร์มเลี้ยงจระเข้ ใบอนุญาตเพาะพันธุ์สัตว์ป่า ใบอนุญาตค้าสัตว์ป่าที่ได้มาจากการเพาะพันธุ์ และใบอนุญาตครอบครองสัตว์ป่าที่ได้มาจากการเพาะพันธุ์

กระบวนการเพาะฟัก

การพัฒนาเทคนิคและวิธีการเพาะเลี้ยงจระเข้

  1. 1. การพัฒนาการเพาะเลี้ยงจระเข้ โดยเริ่มจากการคัดเลือกพ่อแม่พันธุ์ที่ดีในสัดส่วน ตัวผู้ 1 ตัว ต่อ ตัวเมีย 3 ตัว จัดให้อยู่ในบริเวณที่มีความเงียบสงบ มีการสร้างสิ่งกำบังไม่ให้จระเข้เห็นกันในช่วงผสมพันธุ์ เพื่อป้องกันไม่ให้จระเข้กัดกัน จระเข้จะวางไข่ในเวลากลางคืน ช่วงเวลาที่เหมาะสมในการเก็บไข่จะเป็นช่วงเช้า เมื่อเก็บไข่มาแล้วจะทำเครื่องหมายเพื่อป้องกันไม่ให้มีการกลับไข่ หลังจากนั้น นำไข่มาล้างทำความสะอาด และตรวจเช็คเชื้อก่อนนำไข่ที่มีเชื้อเข้าห้องฟักที่มีระบบควบคุมอุณหภูมิด้วยการใช้ระบบน้ำหมุนเวียน โดยวางไข่ไว้บนตะแกรงที่ทำจากสแตนเลสซึ่งพัฒนาขึ้นเอง เนื่องจากคงทนและทำความสะอาดง่าย สามารถใช้ไฟฉายตรวจเช็คเชื้อไข่สะดวก โดยจะต้องคัดไข่ที่ไม่มีเชื้อหรือไข่เสียออกทุกวัน เมื่อลูกจระเข้เริ่มเจาะเปลือกไข่จะต้องรีบนำออกไปใส่ภาชนะอื่น เพื่อป้องกันเมือกที่อยู่ในไข่รั่วออกมาปนเปื้อนในน้ำที่ใช้หมุนเวียนในห้องฟักไข่ เมื่อจระเข้ออกจากไข่แล้วจะนำไปไว้ในห้องฟัก 7 วัน เพื่อให้จระเข้ปรับตัวและรักษาแผลที่หน้าท้องให้ปิดสนิท หลังจากนั้นจะนำจระเข้ไปเลี้ยงในบ่ออนุบาลโดยให้อาหารเสริมโปรตีนซึ่งมีส่วนผสมของไข่ไก่ดิบ เนื้อไก่ส่วนหน้าอก และวิตามิน นำมาผสมและบดรวมกันให้จระเข้กินในช่วงอนุบาล ในช่วงเดือนธันวาคม – มกราคม จะดำเนินการคัดขนาดจระเข้เพื่อนำไปเลี้ยงในบ่อขุน เพราะสภาพอากาศที่เย็นทำให้จระเข้ไม่กินอาหาร จึงสะดวกต่อการเคลื่อนย้ายเปลี่ยนบ่อ จากการดำเนินการดังกล่าวข้างต้น จะพบว่า อัตราการฟักเพิ่มขึ้นจาก 35% เป็น 65% มูลค่าเพิ่มขึ้น 2,215,385 บาท อัตรารอดอนุบาลเพิ่มขึ้นจาก 80% เป็น 100% มูลค่าเพิ่มขึ้น 2,340,000 บาท และอัตราการรอดขุนเพิ่มขึ้นจาก 90% เป็น 100% มูลค่าเพิ่มขึ้น 3,250,000 บาท นอกจากนี้ ยังประสบความสำเร็จในการลดต้นทุนการเก็บรักษาไก่ที่เป็นอาหารจระเข้ จากเดิมใช้ถังน้ำแข็งมีค่าใช้จ่าย 1.50 บาท/ไก่ 1 กิโลกรัม เมื่อเปลี่ยนมาใช้ตู้คอนเทนเนอร์มีค่าใช้จ่ายเพียง 0.67 บาท/ไก่ 1 กิโลกรัม
  2. พัฒนาการเลี้ยงจระเข้ในระบบบ่อแบบใหม่ เนื่องจากบ่อแบบเก่าซึ่งแบ่งพื้นที่บกและน้ำแยกกันจะพบปัญหาพื้นที่กินอาหารน้อย ไม่สามารถเปลี่ยนถ่ายน้ำออกจากบ่อได้หมด จระเข้โตช้า เลี้ยงจระเข้ได้จำนวนน้อย และหนังจระเข้เฉลี่ยเกรดต่ำ จึงได้พัฒนาระบบบ่อแบบใหม่ซึ่งมีพื้นที่บกและน้ำสลับกัน ส่งผลให้จระเข้มีพื้นที่
    กินอาหารมากขึ้น สามารถเปลี่ยนถ่ายน้ำได้หมด จระเข้โตเร็ว เลี้ยงได้จำนวนมากขึ้น จับขายได้ง่าย และหนังจระเข้เกรดสูงขึ้น หลังจากการเปลี่ยนมาใช้ระบบบ่อแบบใหม่พบว่า อัตราการรอดเพิ่มขึ้นจาก 90% เป็น 100% มูลค่าเพิ่มขึ้น 3,250,000 บาท อัตราการโตเฉลี่ยในระยะเวลาการเลี้ยง 3 ปี เพิ่มขึ้นจาก 180 เซนติเมตร เป็น 210 เซนติเมตร มูลค่าเพิ่มขึ้น 5,460,000 บาท สามารถลดระยะเวลาการเลี้ยงได้ถึง 1 ปี และความหนาแน่นในการปล่อยจระเข้เพิ่มขึ้นจาก 1 ตัว/ตารางเมตร เป็น 1.5 ตัว/ตารางเมตร มูลค่าเพิ่มขึ้น 1,203,704 บาท อีกทั้งคุณภาพหนังเพิ่มขึ้นจากเกรด C เป็นเกรด B ซึ่งเป็นที่ต้องการของตลาด
  3. พัฒนาเพื่อเพิ่มมูลค่าของจระเข้ และในอนาคตมีแผนจะเปิดร้านขายเครื่องหนังจระเข้และขยายตลาดส่งออกไปยังต่างประเทศ

ความเป็นผู้นำ และการเสียสละเพื่อประโยชน์ส่วนรวมในด้านต่างๆ

เป็นวิทยากรให้ความรู้ด้านการเพาะเลี้ยงจระเข้ เกษตรอินทรีย์ เผยแพร่ความรู้ผ่านทางเฟซบุ๊ก เป็นแหล่งเรียนรู้ด้านการเพาะเลี้ยงจระเข้แก่ผู้สนใจทั้งในและต่างประเทศ จัดสถานที่ฝึกงานให้กับนักเรียน นิสิต นักศึกษา เพื่อให้ได้เรียนรู้และเข้าใจในทุกกระบวนการทำงานของฟาร์ม อีกทั้งยังให้ความร่วมมือกับสถาบันการศึกษาในการทำวิจัยและการทดลองเพื่อหาองค์ความรู้ใหม่ๆ เกี่ยวกับจระเข้ เป็นประมงอาสา รวมถึงช่วยเหลือและให้การสนับสนุนกิจกรรมต่างๆ ของภาครัฐ โรงเรียน วัด และชุมชน

การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ

ฟาร์มดำเนินงานในลักษณะ Zero Waste มีการออกแบบและสร้างบ่อเลี้ยงจระเข้โดยถมให้สูงกว่าพื้นที่เดิมและบ่อบำบัด ทำร่องน้ำเพื่อปล่อยน้ำทิ้งให้ไหลผ่านท่อออกสู่ร่องน้ำไปยังบ่อบำบัด โดยไม่ต้องใช้เครื่องสูบน้ำออก ลดการใช้พลังงานไฟฟ้า มีการนำน้ำจากบ่อบำบัดไปรดพืช สามารถกำจัดน้ำเสียและเพิ่มอัตราการเจริญเติบโตให้กับพืช ใช้จุลินทรีย์แก้ปัญหากลิ่นรบกวนจากฟาร์มและบ่อน้ำทิ้ง บ่อบำบัดใช้เลี้ยงปลาเบญจพรรณ เพื่อกินเศษอาหารที่เหลือจากจระเข้และสร้างรายได้เสริม ปลูกหญ้าแฝกและยูคาลิปตัสรอบบ่อบำบัด เพื่อลดปัญหาการพังทลายของหน้าดิน เลี้ยงกระบือให้กินหญ้ารอบฟาร์มโดยไม่ต้องใช้สารเคมีหรือยากำจัดวัชพืช มูลกระบือนำไปเป็นปุ๋ย ไข่จระเข้ที่เสียนำมาทำฮอร์โมนบำรุงต้นไม้ ใบอ้อยและยอดอ้อยที่เหลือจากการเก็บเกี่ยวนำมาเป็นวัสดุปูรองสำหรับให้แม่จระเข้ออกไข่ในช่วงที่จระเข้ผสมพันธุ์ ปลูกผักปลอดสารพิษไว้บริโภคในครัวเรือน