กลุ่มข้าวชุมชนบ้านแม่ระวาน อ.สามเงา จ.ตาก รวมตัวทำนาแปลงใหญ่ ช่วยลดต้นทุนกว่า 1,500 บาท ต่อไร่

คุณปราณี ตั้งน้อย ประธานกลุ่มข้าวชุมชนบ้านแม่ระวาน เปิดเผยว่า ศูนย์ข้าวชุมชนบ้านแม่ระวาน ต.ยกกระบัตร อ.สามเงา จ.ตาก เป็นศูนย์ ศพก. ขยายของ อ.สามเงา จ.ตาก ซึ่งทางกลุ่มดำเนินกิจกรรมการทำนาเป็นหลัก เพราะอาชีพหลักของคนในชุมชนคือ การทำนา มีพื้นที่โดยรวมกว่า 500 ไร่ แรกเริ่มจะปลูกข้าวพันธุ์เดิม ต่อมาในปี 2545 ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานเกษตรอำเภอสามเงา จึงมีการรวมตัวกันอย่างชัดเจน เพื่อจะรองรับการสนับสนุนปัจจัยการผลิต โดยมีการประชุม ครั้งแรกในวันที่ 11 มิถุนายน 2545 เพื่อชี้แจงทำความเข้าใจ วัตถุประสงค์ ของโครงการ และรับสมัครสมาชิก โดยเริ่มต้นมีสมาชิก จำนวน 54 คน พันธุ์ข้าวที่ได้รับการสนับสนุนคือ พันธุ์ข้าวหอมมะลิ 105 และ ข้าวเหนียว กข 6 พร้อมปุ๋ย รวมมูลค่า 60,000 บาท จนปัจจุบันเรานำพันธุ์ข้าวที่ได้รับการสนับสนุนมาขยายให้กับสมาชิกในชุมชน ทำให้เรามีผลผลิตที่เพิ่มมากขึ้น และได้ราคาสูงกว่าท้องตลาด

ปัจจุบัน กลุ่มมีสมาชิกทั้งหมด 77 ราย มีการระดมหุ้น หุ้นละ 50 บาท รวมกว่า 3,600 หุ้น มีการจัดสรรหาข้าวพันธุ์ดีมาสู่ชุมชนรวมไปถึงเครือข่ายอื่นๆ ที่มีการประสานงานมาด้วย ซึ่งต่อมากลุ่มก็มาคิดว่าจะทำอย่างไรให้เติบโตขึ้นอีก จึงไปจดเป็นวิสาหกิจชุมชนผลิตข้าวบ้านแม่ระวาน ดำเนินการกู้เงินจาก ธ.ก.ส. มาจัดซื้อเครื่องจักรกลการเกษตรต่างๆ เช่น รถดำนา รถแทรกเตอร์ เครื่องอัดฟาง เป็นต้น เพื่อต้องการให้การผลิตของทางชุมชนเราดีขึ้น อีกทั้งนำมาทดแทนแรงงานที่ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ และลดต้นทุนการผลิตจากแรงงานคนมาเป็นเครื่องจักร ลดระยะเวลาในการจัดการงาน

ปราณี ตั้งน้อย ประธานกลุ่มข้าวชุมชนบ้านแม่ระวาน

สำหรับผลผลิตที่ได้ ในช่วงแรกจะจำหน่ายให้กับพ่อค้าคนกลาง ต่อมาได้หันมาทำกันเองครบวงจร คือ แปรรูปข้าวเปลือกเป็นข้าวสารเพื่อบรรจุถุงจำหน่าย โดยมีเจ้าหน้าที่เกษตรอำเภอ เกษตรจังหวัด เข้ามาให้การสนับสนุน ประกอบกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้มีนโยบายเรื่องนาแปลงใหญ่ ซึ่งในตอนแรก ระบุว่า ต้องรวบรวมให้ได้ 2,000 ไร่ ถึงจะเข้าร่วมโครงการได้ ก็คิดว่าทางกลุ่มไม่สามารถร่วมโครงการได้แน่นอน เพราะเรามีแค่ 500 ไร่ แม้จะเคยมีความคิดว่าจะรวบรวมจากตำบลอื่นให้ได้ครบจำนวนตามที่กำหนด

แต่เมื่อคิดอีกที คิดว่าคงจะมีปัญหาด้านการประสานงานแน่นอน เพราะอยู่คนละพื้นที่กัน จึงไม่ได้รวบรวม จนกระทั่ง ทางรัฐบาลออกมากำหนดใหม่ว่า เกษตรกรที่เข้าร่วมแปลงใหญ่สามารถมีพื้นที่รวมเริ่มต้นที่ 300 ไร่ ขึ้นไป ทางกลุ่มจึงสามารถเข้าร่วมโครงโดยการสนับสนุนของกรมส่งเสริมการเกษตร ให้เป็นแปลงใหญ่ ตั้งแต่ ปี 2560 นอกจากนั้น เรายังกู้เงินเข้ามาพัฒนากลุ่มเราเพื่อจัดซื้อเครื่องจักรต่างๆ เข้ามาให้ทางกลุ่มได้เป็นศูนย์ข้าวแบบครบวงจร

ผลผลิตที่ได้จากสมาชิกนาแปลงใหญ่

“จากการดำเนินงานนาแปลงใหญ่ของกลุ่ม พบว่า สามารถลดต้นทุนในการผลิตได้ จากไร่ละ 6,250 บาท เหลือ 4,800 บาท (ค่าไถ่ แรงงานปลูก น้ำ เมล็ดพันธุ์ ปุ๋ย เก็บเกี่ยว) ผลผลิตที่ได้เฉลี่ย 600-750 กิโลกรัม ต่อไร่ สูงกว่าที่ปกติจะอยู่ ประมาณ 500-550 กิโลกรัม สามารถขายผลผลิตได้ราคาดีกว่าผ่านพ่อค้าคนกลาง กล่าวคือ ขั้นต่ำ 12.50 บาท ต่อกิโลกรัม และแพงกว่าท้องตลาด กิโลกรัมละ 0.50 บาท นอกจากนี้ ทางกลุ่มยังสามารถกำหนดข้อตกลงในการใช้สารเคมีในแปลงนาได้เอง ซึ่งปัจจุบัน ได้ขอข้าวปลอดภัย โดยทำ GAP จำนวน 50 แปลง ซึ่งอยู่ในขั้นตอนการออกใบรับรอง โดยเรามีเป้าหมายที่จะทำให้ครบทุกแปลงในโอกาสต่อไป” คุณปราณี กล่าวทิ้งท้าย

 

ที่มา : มติชนออนไลน์