“น้ำหมักมูลไส้เดือน-ช่วยเพิ่มขนาดของดอกดาวเรือง”

ประเทศไทยเราได้องค์ความรู้ก่อเกิดจากภูมิปัญญาท้องถิ่น ในการลองผิดลองถูกจากหนึ่งคนหนึ่งความคิดจนกลายเป็นความชำนิชำนาญ ภาษาราชการเรียกว่า “ปราชญ์”

ปราชญ์ต่างๆ เหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็น ปราชญ์เกษตร ปราชญ์ชาวบ้าน ซึ่งมีหลากหลายภูมิปัญญาองค์ความรู้อยู่ในภูมิลำเนา ทั่วท้องถิ่นไทย บุคคลเหล่านี้หากได้รับการต่อยอดสนับสนุนจากภาครัฐหรือภาคเอกชน ประเทศไทยเราคงจะเจริญก้าวหน้าไปมากกว่าที่เป็นอยู่…

หนึ่งตัวอย่างจากผู้หญิงตัวเล็กๆ ครูพิมลพรรณ พรหมทอง เธอไม่ใช่ “ปราชญ์” แต่เป็น “ครูวิทยาศาสตร์” ที่นำสิ่งเล็กๆ จากมูลไส้เดือนมาศึกษาทดลองวิเคราะห์วิจัยในเชิงวิทยาศาสตร์ใช้เวลามานานแรมปี คิดค้นจนตกผลึกเป็นที่แน่ชัดว่า ได้ผลจริงกับการทดลอง จึงส่งผลงานเข้าประกวดในโครงงานวิทยาศาสตร์อาชีวศึกษาระดับประเทศในหัวข้อ ชื่อเรื่องว่า “การทำน้ำหมักชีวภาพจากมูลไส้เดือนเพื่อเพิ่มขนาดของดอกดาวเรือง” ในนามสถาบันวิทยาลัยเทคนิคกำแพงเพชร  

ครูพิมลพรรณ พรหมทอง ไส้เดือน-ดอกดาวเรือง

ในที่สุดผลงานวิทยาศาสตร์ของครูพิมลพรรณ ก็ผ่านด่านระดับเขต ระดับภาค จนทะลุเข้าถึงรอบชิงระดับประเทศ ไม่น่าเชื่อว่าเจ้าสิ่งเล็กๆ จะเข้าตากรรมการต่างเทคะแนนให้มาเป็นอันดับหนึ่งชนะเลิศในการประกวดโครงงานวิทยาศาสตร์อาชีวศึกษาระดับประเทศ ในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) ประจำปีพุทธศักราช 2558 ภายใต้ชื่อโครงงานวิทยาศาสตร์ เรื่อง “การทำน้ำหมักชีวภาพจากมูลไส้เดือนเพื่อเพิ่มขนาดของดอกดาวเรือง” เกียรติประวัติครั้งนี้จึงได้รับพระกรุณาเข้ารับพระราชทานโล่รางวัลจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2559 ที่ผ่านมา

โดยความสำเร็จครั้งนี้เป็นอีกหนึ่งความภาคภูมิใจของวิทยาลัยเทคนิคกำแพงเพชร โดยมีคณะครูที่ปรึกษา และนักเรียนที่สามารถถ่ายทอดองค์ความรู้จนชนะใจกรรมการ ซึ่งประกอบด้วย น.ส.รุจิเรข คงอินทร์ น.ส.ศศิธร ปานศิลา และ น.ส.รัชนีกร แซ่อึ้ง

และเกียรติประวัติครั้งนี้คงจะลืมไม่ได้กับผู้ที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จครูที่ปรึกษาอย่างครูพิมลพรรณ ซึ่งได้ให้ข้อมูลว่า มูลไส้เดือนดินหรือปุ๋ยหมักมูลไส้เดือนดินโดยคุณสมบัติจะมีจุลินทรีย์ที่เป็นประโยชน์แก่พืชอยู่เป็นจำนวนมาก มีฮอร์โมนเร่งการเจริญเติบโตของพืช (growth hormones) มีแร่ธาตุอาหาร อินทรียวัตถุต่างๆ สามารถนำมาทำเป็นปุ๋ยที่เป็นประโยชน์ต่อการเจริญเติบโตของพืชได้ เนื่องจากมีปริมาณธาตุอาหารหลักของพืชที่มากกว่าปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยอินทรีย์ทั่วๆ ไป

อีกทั้งปุ๋ยหมักมูลไส้เดือนดินยังพบกรดฮิวมิก ซึ่งช่วยปรับปรุงคุณภาพของดินและช่วยส่งเสริมการดูดใช้ธาตุอาหารของพืชโดยการเพิ่มความสามารถในการซึมผ่านของเซลล์รากพืช และยังช่วยกระตุ้นให้รากพืชสร้างขนรากเพิ่มขึ้นมาอีกด้วย

ส่วนพืชที่ครูพิมลพรรณ เลือกมาทำการทดลองกับน้ำหมักมูลไส้เดือนคือ ต้นดาวเรือง หรือดอกดาวเรือง ไม้ประดับ หรือไม้ตัดดอก ซึ่งเป็นที่นิยมปลูกในประเทศไทย และเป็นดอกไม้ประจำพระองค์ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 และที่สำคัญเกษตรกรก็นิยมปลูกกันโดยทั่วไป

โดยการทดลองครั้งนี้ ครูพิมลพรรณใช้ดาวเรืองพันธุ์ซอฟเวอเรน (Sovereign) ทั้งสีเหลือง สีส้ม และสีทอง ทำการทดลอง ควบคู่กับการทดลองแปรสภาพมูลไส้เดือนดินมาทำน้ำหมักชีวภาพ โดยศึกษาปริมาณมูลไส้เดือนดินที่แตกต่างกัน และศึกษาผลของการเติมและไม่เติมออกซิเจน จากนั้นนำน้ำหมักชีวภาพที่ได้มาทำเป็นปุ๋ยเพื่อช่วยเพิ่มขนาดของดอกดาวเรือง

ส่วนกระบวนการทดลองมีขั้นตอนดังต่อไปนี้

  1. การเพาะเลี้ยงไส้เดือนดิน

คัดเลือกไส้เดือนดินสายพันธุ์ Eudrilus eugeniae จากมหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร โดยนำตัวที่มีขนาดใหญ่มาเลี้ยงในบ่อดินที่เตรียมไว้ในวิทยาลัยเทคนิคกำแพงเพชร

  1. การทำน้ำหมักชีวภาพจากมูลไส้เดือนดิน

นำมูลไส้เดือนที่ได้จากบ่อเลี้ยงมาทำน้ำหมักชีวภาพ โดยใช้ปริมาณมูลไส้เดือนดินในปริมาณที่แตกต่างกัน 3 อัตราส่วน ได้แก่ 500, 800 และ 1,100 กรัม ต่อน้ำ 10 ลิตร และกากน้ำตาล 0.5 แก้วน้ำ โดยนำมาผสมปรับสภาวะการหมักแบบเติมออกซิเจน และไม่เติมออกซิเจน

  1. การเพาะต้นดาวเรือง

นำน้ำหมักที่หมักชีวภาพในแต่ละสูตรมาแช่เมล็ดพันธุ์ดาวเรืองตราสะพาน เป็นเวลา 1 คืน จากนั้นนำเมล็ดพันธุ์ดาวเรืองมาลงปลูกในถาดเพาะ ระหว่างนี้ให้เตรียมน้ำหมักชีวภาพทุกสูตร (ขั้นตอนที่ 2) ปริมาตร 50 กรัม ผสมกับน้ำ 5 ลิตร นำมารดเมล็ดพันธุ์ในถาดเพาะทุกๆ 5 วัน

เมื่อเมล็ดดาวเรืองงอกโต จนลำต้นแข็งแรง มีใบเลี้ยง 1 คู่ 4 ใบ ให้นำต้นดาวเรือง ออกจากถาดเพาะ ย้ายลงไปปลูกในถุงดำ (ถุงเพาะชำ) ที่เตรียมไว้ โดยให้ต้นดาวเรืองแต่ละถุงมาพักไว้ในที่ร่ม เป็นเวลา 3 วัน จากนั้นย้ายต้นดาวเรืองที่เพาะไว้ในถุงดำนำออกมาปลูกในแปลงทดลองที่เตรียมทำไว้ โดยใช้ซาแรนบังแดดเพื่อลดปริมาณแสงแดดเป็นเวลา 5 วัน จนต้นดาวเรืองแข็งแรงโดยสังเกตจากสีของลำต้นจะเป็นสีแดง จากนั้นให้ทำการรดด้วยน้ำหมักชีวภาพจากมูลไส้เดือนดินที่ได้เตรียมไว้ทุกสูตรต่อเนื่องทุกๆ 5 วัน แล้วบันทึกผลการเจริญเติบโตของต้นดาวเรือง

สรุปผลการทดลองและการวิเคราะห์ในการใช้น้ำหมักชีวภาพจากมูลไส้เดือนพบว่า เป็นการช่วยเพิ่มปริมาณจุลินทรีย์ในดินและส่งผลให้การศึกษาการเจริญเติบโตของต้นดาวเรืองที่รดด้วยน้ำหมักชีวภาพจากมูลไส้เดือนดิน มีการเจริญเติบโตแตกต่างกันจากการรดด้วยน้ำธรรมดาๆ โดยพิจารณาความสูงของลำต้น จำนวนกิ่ง และจำนวนดอก ซึ่งเป็นไปตามสมมุติฐานที่ตั้งไว้

ในขณะที่การเพิ่มขนาดของดอกดาวเรือง ที่รดด้วยน้ำหมักชีวภาพจากมูลไส้เดือนดินสูตรที่ 6 ในอัตราส่วนปริมาณมูลไส้เดือนดิน 1,100 กรัม แบบไม่เติมออกซิเจน ส่งผลให้ดอกดาวเรืองมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางมากกว่าทุกๆ ดอกดาวเรืองต้นอื่นๆ ในแปลงทดลอง ในระยะเวลาการทดลอง 75 วัน เท่ากัน

นี่คือคลังสมองหนึ่งบุคลากรแม่พิมพ์ของชาติอย่าง ครูพิมลพรรณ พรหมทอง ที่อยู่เบื้องหลังและทุ่มเทกับการศึกษาจนประสบผลสำเร็จ และถ่ายทอดไปสู่เด็กนักเรียนให้เข้าใจ เข้าถึงอย่างถ่องแท้ ก่อนจะบรรยายให้คณะกรรมการฟังได้อย่างลึกซึ้ง จนได้รับคะแนนเป็นผู้ชนะเลิศในการประกวดโครงงานวิทยาศาสตร์อาชีวศึกษาระดับประเทศ โล่พระราชทานฯ เรื่อง “การทำน้ำหมักชีวภาพจากมูลไส้เดือนเพื่อเพิ่มขนาดของดอกดาวเรือง” ในครั้งนี้

จากผลการทดลองของครูวิทย์กับผู้หญิงตัวเล็กๆ ทุกวันนี้ได้ขยายผลลงสู่แปลงใหญ่ๆ ช่วยให้เกษตรกรผู้ปลูกดอกดาวเรืองดอกไม้ประจำประองค์ ได้ลดต้นทุนจากการใช้ปุ๋ยที่มีราคาแพง รวมถึงลดการใช้สารเคมีให้กับเกษตรกรชาวกำแพงเพชร และยังต่อยอดการเรียนรู้ขยายผลการเรียนรู้การใช้น้ำหมักมูลไส้เดือนไปสู่จังหวัดอื่นๆ ในระยะต่อไป

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ วิทยาลัยเทคนิคกำแพงเพชร เลขที่ 50 ถนนปิ่นดำริห์ ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดกำแพงเพชร โทร. (055) 711090 ต่อ 620 ครูพิมลพรรณ พรหมทอง http://www.kpt.ac.th (เวลาราชการ)