ชุมชนมอญ “บ้านเก่า หนองฉาง” เมืองอุทัยธานี

ประวัติศาสตร์เมื่อครั้งเกิดการรบพุ่งในกรุงศรีอยุธยาช่วงปี พ.ศ. 2310 บันทึกไว้ว่า ได้มีกองกำลังมอญกลุ่มหนึ่งได้อพยพเข้าอาณาจักรสยามทางด่านเจดีย์สามองค์ ได้นำไม้ไผ่มาต่อทำแพ ล่องมาตามแม่น้ำแควน้อย จนถึงบ้านเก่า อำเภอเมืองกาญจนบุรี จากนั้นทิ้งแพแล้วขึ้นมาพักที่บริเวณ ตำบลบ้านเก่า อำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรี แล้วเดินทางเข้ากรุงศรีอยุธยา ส่วนอีกกลุ่มหนึ่งเดินทางลัดเลาะจากเมืองกาญจนบุรี ผ่านพื้นที่สุพรรณบุรี ถึงเมืองอุทัยธานี ซึ่งแต่เดิมตั้งอยู่ที่ ตำบลอุทัยเก่า อำเภอหนองฉาง จังหวัดอุทัยธานี ขณะนั้นมีนายทองดีเป็นเจ้าเมืองอุทัย จึงต้อนรับมอญกลุ่มนี้โดยให้ไปตั้งถิ่นฐานทางทิศตะวันออกของเมือง ยกพื้นที่ให้ปลูกสร้างบ้านเรือนและทำมาหากินตามลำคลอง ปัจจุบันยังคงเรียกว่า “คลองมอญ”  

ครั้นกรุงศรีอยุธยาแตก พม่าเข้าปกครองสยาม พร้อมกับประกาศว่า มอญพำนักอยู่ที่ใดจะล้างผลาญให้สิ้นซาก เป็นเหตุให้นายทองดีหนีไปพักอยู่ที่จังหวัดพิษณุโลก ได้จัดกำลังพลเคลื่อนย้ายทางเรือไปสมทบกำลังกับเจ้าพระยาจักรี

เมืองอุทัยธานี ในช่วงเวลานั้นได้เกิดโรคอหิวาตกโรคระบาดอย่างหนัก ผู้คนชาวมอญล้มตายเป็นจำนวนมาก ที่เหลือจึงคิดสร้าง “วัดทุ่งทอง” เพื่อให้ลูกหลานคนมอญได้บวชเรียนหนังสือไทยควบคู่ไปกับหนังสือมอญ

พร้อมกันนี้ได้สร้างโบสถ์โดยหันหน้าไปทางทิศตะวันตก เพื่อให้รำลึกนึกถึงกรุงหงสาวดี อีกทั้งได้รับพระประธานองค์ใหญ่จากพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เมื่อครั้งฉลองกรุงเทพฯ เมื่อปี พ.ศ. 2325 ปรากฏจารึกพุทธศักราชไว้ที่ฐานพระ พระราชโอรสและพระราชธิดาของพระยาทะละ กษัตริย์แห่งกรุงหงสาวดี ซึ่งได้พาผู้คนชาวมอญอพยพมาอยู่ที่เมืองอุทัยธานีคราวนั้น ได้ทรงสร้างเจดีย์ทรงมอญไว้ที่ใจกลางชุมชน เพื่อบรรจุพระบรมสารีริกธาตุประจำตระกูลกษัตริย์มอญไว้ให้ลูกหลานมอญได้สักการะแทนเจดีย์ชเวดากองในเมืองมอญ

ในช่วงเวลาใกล้เคียงกันนั้น ก็ได้สร้างวัดขึ้นมาอีกหนึ่งแห่งชื่อว่า “วัดโบสถ์” อยู่ไม่ไกลกับเจดีย์ทรงมอญที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ พร้อมมีรับสั่งกับคนมอญที่ใกล้ชิดว่า หลังจากพระองค์สวรรคตแล้ว ให้สร้างพระเจดีย์ไว้บนหลุมฝังพระศพของพระองค์และน้องทั้งสองพระองค์ไว้เป็นอนุสรณ์ด้วย ยังคงพบเห็นพระเจดีย์ที่ประดิษฐานคลุมหลุมพระศพทั้งสามพระองค์อยู่ด้านหลังโบสถ์ แม้จะเก่าแก่เป็นปูชนียวัตถุยืนนานมาหลายศตวรรษ แต่เจดีย์ทรงมอญยังคงอยู่ในสภาพสมบูรณ์ อาจชำรุดทรุดโทรมไปบ้างตามกาลเวลา อย่างไรก็ตาม วัดโบสถ์ได้กลายเป็นวัดร้างไปแล้วในปัจจุบัน

ร.อ.เสริม นิยม คุณเปรื่อง ศรีขาว คุณชยทัศน์ วิเศษศรี และ คุณจำรูญ คำสิทธิ์ ได้เขียนบทความเรื่อง “บ้านมอญอุทัยธานี” ลงตีพิมพ์ในวารสาร เสียงรามัญ ปีที่ 3 ฉบับที่ 17 กันยายน-ตุลาคม 2551 มีข้อความบ่งชี้ถึงความเป็นมาของชุมชนมอญเมืองอุทัยธานีว่า แต่เดิมเป็นพื้นที่ชุมชนกะเหรี่ยง ในช่วงที่เกิดสงครามครั้งสมัยกรุงศรีอยุธยา พระปฐมบรมมหาชนก (ทองดี) หรือพระอักษรสุนทร ได้รวบรวมคนมอญขึ้นมาปกครองดูแลเมืองอุทัยธานี ปรากฏข้อมูลว่า

“…แต่เดิมเป็นบ้านคนกะเหรี่ยง ในสมัยบุเรงนอง พม่ามาตีกรุงศรีอยุธยา กวาดต้อนผู้คนสยามและคนกะเหรี่ยงไปจำนวนมาก นอกจากนี้ ยังจับคนตั้งท้องฆ่าทิ้งหมด ต่อมาพระชนกขึ้นเป็นใหญ่ ควบคุมดูแลมอญที่ตามขึ้นมาจากปากเกร็ด มาเป็นเมืองหน้าด่านคอยระวังเหตุ มอญกลุ่มนี้เรียกกันว่า “มอญชาวเรือ” มี “พญาองค์” เป็นหัวหน้า…ทุกวันนี้ยังเหลือแต่ซากเนินดินที่เคยเป็นวัดโบราณอยู่ ชาวบ้านเรียกกันว่า วัดพญาองค์…”

คุณสุกัญญา เบาเนิด ได้เขียนเรื่อง “บ้านมอญอุทัยธานี” ไว้ในวารสาร เสียงรามัญ ปีที่ 3 ฉบับที่ 17 กันยายน-ตุลาคม 2551 โดยได้สืบค้นเรื่องราวเกี่ยวกับทวารวดีมีมอญ ได้กล่าวถึงจารึกภาษามอญ ที่พบในจังหวัดอุทัยธานี เป็นจารึก (ภาษามอญ) เมืองบึงคอกช้าง จารึกด้วยอักษรปัลลวะ ภาษามอญจำนวน 2 หลัก ณ “เมืองบึงคอกช้าง” ซึ่งเป็นเมืองโบราณในสมัยทวารวดี ราวพุทธศตวรรษที่ 11-16 ตั้งอยู่เขตตำบลไผ่เขียว อำเภอสว่างอารมณ์ จังหวัดอุทัยธานี ลักษณะเมือง มีกำแพงล้อมรอบเป็นรูปทรงกลม บริเวณทางเข้าเมืองทั้งสี่ทิศ มีสระน้ำ ทางทิศตะวันออกของเมืองมีคูน้ำอีกชั้นหนึ่ง สำรวจพบตั้งแต่วันที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2514

นอกจากนี้ ร.อ.เสริม นิยม ได้เล่าเท้าความถึงพระยาทะละ เป็นพระมหากษัตริย์องค์สุดท้ายของมอญที่ถูกกษัตริย์พม่าเข้าตี ปี พ.ศ. 2300 คงสู้ไม่ได้แล้วเพราะว่ากำลังพลมีจำนวนมาก พระยาทะละมีพระราชโอรสองค์โต ชื่อพระยาองค์ องค์กลางมีอายุไล่เลี่ยกัน ส่วนองค์เล็กเป็นพระราชธิดาอายุเพียง 3 ขวบ พี่ชายจึงพามาเมืองอุทัยธานีด้วยแพไม้ไผ่ขนาดลำใหญ่ ได้ประมาณสองวัน ครั้นหงสาวดีแตก พาพระโอรสและพระราชธิดามาเข้าพึ่งพระบรมโพธิสมภาร ปี พ.ศ. 2300 ช่วงเดือน 6 แรม 15 ค่ำ ได้มาต่อแพที่เกิงกะเวีย (สังขะ) ลงแม่น้ำแควน้อย (แม่น้ำซองกะเรีย) กำลังพลที่พามาถึงราชอาณาจักรสยามประมาณหมื่นเศษ จนมาถึงตำบลบ้านเก่า อำเภอเมือง

 

จากนั้นทิ้งแพแล้วขึ้นบก ให้กำลังพลส่วนใหญ่เข้ากรุงศรีอยุธยา ส่วนบรรดาพระราชโอรสและพระราชธิดาของพระยาทะละ พร้อมทั้งนักรบฝีมือดีเพื่อเตรีมการจะกอบกู้อิสรภาพจากพม่าประมาณ 500-600 คน เดินเลาะมาจากเมืองกาญจน์ ผ่านบ่อพลอย เข้ามาด่านช้างสุพรรณบุรี ตัดเข้ามาที่อุทัยธานี นายทองดีจึงให้ที่พักอาศัย อยู่ทางทิศตะวันออกของอุทัยธานี บริเวณวัดทุ่งทองในปัจจุบัน ร.อ.เสริม อรรถาธิบายว่า คำว่าวัดทุ่งทองคือ ซื้อด้วยทอง ภาษามอญเรียกว่า “เวียทอ” ไม่มีเงินซื้อนาจึงเอาทองซื้อแทน แลกกับนา

อย่างไรก็ดี “…ชุมชนมอญดั้งเดิมในจังหวัดอุทัยธานียังมีร่องรอยอยู่ที่บ้านเก่าริมคลองมอญหน้าวัดป่าช้านี่เอง ยังพบชื่อคลองมอญน้ำไหลไปออกแม่น้ำสะแกกรัง แถวบ้านโคกหม้อ…อยู่ต่อมาจึงขยับขยายไปบ้านป่าแดง ทุ่งหลวง ทุ่งพง หนองสรวง หนองหมอ หนองนกยูง หนองแก บ้านยางครึ่งเส้น บ้านล่อมพัก บ้านหนองกลางดง บ้านท่าซุง บ้านหนองน้ำคัน บ้านคลองค่าย ตลอดไปจนถึงแถวทัพทัน…พบสกุลคนมอญ เช่น คำสิทธิ์ สีขาว จันทร์น้อย นิยม เป็นต้น”

สอดคล้องกับเรื่องเล่าของผู้คนลาวครั่งบ้านโคกหม้อ กล่าวว่า ปากคลองมอญซึ่งปัจจุบันกลายเป็นชุมชนชาวลาวครั่งนั้น ในอดีตเป็นชุมชนของชาวมอญมาก่อน มีอาชีพปั้นหม้อขาย แต่ชาวมอญไม่ชอบอยู่ที่ดอนจึงย้ายออกไปอยู่ที่อื่น ส่วนบริเวณวัดป่าช้านั้นได้ใช้เป็นที่เผาศพของชาวบ้าน ครั้นเมื่อวัดโบสถ์ร้างไป วัดป่าช้าก็ได้เจริญขึ้นมาแทนที่ ภายในวัดป่าช้าเคยมีเจดีย์มอญ 7 องค์ แต่ปัจจุบันได้ถูกรื้อทิ้งไป 4 องค์ คงเหลือซากเพียง 3 องค์เท่านั้น

มีการค้นพบพระเครื่องปั้นดินเผา ชื่อพระ “โคนสมอ” ในกรุเจดีย์ดังกล่าวจำนวนมาก กรมศิลปากรตรวจสอบว่ามีอายุประมาณ 700 ปี แต่กรมศิลปากรระบุไว้เพียงว่า วัดป่าช้าสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2350 เท่านั้น โดยได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อปี พ.ศ. 2375 ส่วนความเก่าแก่ของเจดีย์อาจมีมาก่อนการสร้างวัด รวมทั้งพระเครื่องดินเผาอาจมาจากแหล่งอื่นก็เป็นได้