“ฮิวมัส” คืออะไร

ปี 2561 นับแต่ต้นปีเป็นต้นมา สภาวการณ์ทางธรรมชาติ ฝนฟ้า อากาศ มีความแปรปรวน โดยเฉพาะในภาคเหนือตอนบนบางพื้นที่มีอากาศหนาวถึงหนาวจัดเป็นเวลานาน อากาศร้อนถึงร้อนจัดในวันเดียวกัน เมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ ถึงเดือนพฤษภาคม มีฝนตกหลายครั้งจากพายุฤดูร้อน อุณหภูมิของแต่ละวันมีความแตกต่างกันมาก ช่วงเช้าอุณหภูมิอยู่ที่ 23-24 องศาเซลเซียส แต่พอตกบ่ายอุณหภูมิสูงขึ้นไปอยู่ที่ 38-40 องศาเซลเซียส ลักษณะอากาศเช่นนี้แม้แต่พืชอย่างไม้ผลย่อมได้รับผลกระทบ ต้องปรับตัวเพื่อความอยู่รอด มีการแสดงอาการและพฤติกรรมจนถึงการเปลี่ยนแปลงการออกดอกติดผล ไม่ติดผล หรือให้ผลผลิตล่าฤดูไป และต้นหนึ่งๆ ก็ติดผลหลายรุ่น

หลังจากวันพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ก็จะย่างเข้าสู่ฤดูกาลทำการเกษตรกันแล้ว ผมขอเชิญชวนให้เพื่อนๆ ชาวเกษตรกรให้ความสำคัญกับการเตรียมผืนแผ่นดินให้พร้อมก่อนลงหลักปักพืชที่จะปลูก ปฏิบัติการให้ดินมีชีวิต มีความอุดมสมบูรณ์ เพื่อให้พืชมีการเจริญเติบโตได้ผลผลิตหล่อเลี้ยงผู้คน ถ้าจะให้ดี…ขุดดิน ส่งวิเคราะห์หาค่าความเป็นกรดเป็นด่าง หรือค่า pH และหาปริมาณธาตุอาหารในดินเสียก่อนก็จะดีมากๆ

ดินที่มีความอุดมสมบูรณ์ ผมขออ้างอิงข้อมูลทางวิชาการเกษตรว่า จะต้องมีองค์ประกอบของธาตุอาหาร (อนินทรียสาร) ร้อยละ 45 อากาศ ร้อยละ 25 น้ำหรือสารละลาย ร้อยละ 25 และมีอินทรียวัตถุ ร้อยละ 5

การตรวจสอบพิสูจน์หาค่าเป็นตัวเลขร้อยละของส่วนประกอบของดินในแปลงปลูก อาจต้องใช้การตรวจวิเคราะห์ในห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ แต่เกษตรกรอย่างเราๆ ท่านๆ ต้องพยายามปรับวิธีการในการตรวจสอบวิเคราะห์ดินให้ได้ด้วยตนเองโดยขอคำแนะนำจากเจ้าหน้าที่รัฐ

ผมขอเน้นที่การปรับปรุงดินให้มีอินทรียวัตถุนะครับ เพราะเป็นปัญหาใหญ่ของคุณภาพดินทั้งประเทศ ต้องลงทุนสร้างชีวิตให้แผ่นดินครับ อากาศและน้ำ ไม่ต้องหาซื้อ ธาตุอาหารในดินก็มีแต่อาจไม่เพียงพอสำหรับพืชบางชนิด ต้องหาซื้อมาใส่บ้าง อินทรียวัตถุในดินก็มีแต่น้อยมาก ต้องผลิตและเติมลงไปในดินให้มากๆ ครับ เพื่อเพิ่มจุลินทรีย์ให้ไปช่วยปลดปล่อยธาตุอาหารให้แก่พืช เพราะพืชดูดซับธาตุอาหารไปใช้ให้ผลผลิตแก่เราทุกปี ธาตุอาหารย่อมไปหมด

ฉบับนี้ผมขอนำเสนอสารปรับปรุงดินชนิดหนึ่งที่อยู่ใต้ผืนดิน เป็นทรัพย์ในดิน ถ้านำมาใช้ในการเกษตร จะช่วยส่งเสริมให้ดินมีอินทรียวัตถุในปริมาณมากขึ้น สารปรับปรุงดินที่จะนำมาเสนอ เรียกว่า “ฮิวมัส” พลังชีวิตของแผ่นดิน

ผมได้อ่านบทความจากหนังสือคู่มือการพัฒนาที่ดินสำหรับหมอดินอาสาและเกษตรกร ของกรมพัฒนาที่ดิน ความตอนหนึ่งเขียนไว้ว่า อินทรียวัตถุในดินประกอบด้วย อินทรียสารหลายชนิด คือ พวกสารประกอบอินทรีย์ไนโตรเจน สารประกอบอินทรีย์ฟอสฟอรัส สารประกอบอินทรีย์กำมะถัน เป็นต้น และเมื่ออินทรียวัตถุสลายตัวโดยจุลินทรีย์ถึงขั้นสุดท้ายจะได้ ฮิวมัส ฮิวมัส…นี้ ไม่ใช่สารที่คงทนถาวร จุลินทรีย์ดินทำให้สลายตัวได้เช่นเดียวกับอินทรียสารอื่นที่มีอยู่ในดิน แต่อัตราการสลายตัวจะช้ากว่าการสลายตัวของอินทรียสารที่เป็นต้นกำเนิดของฮิวมัส ฮิวมัส…สามารถดูดซึมน้ำได้ดี และมีบทบาทสำคัญต่อการยึดกันของอนุภาคดินเป็นเม็ด

และข้อมูลต่อไปนี้เป็นระดับอินทรียวัตถุในดิน รับรู้ไว้ก็ดีครับ ไว้เทียบเคียงกับปริมาณอินทรียวัตถุในดินที่แปลงปลูกของเรา หรือเมื่อนำดินไปตรวจวิเคราะห์แล้ว ดังนี้

ศาสตราจารย์ ดร. สุภามาศ พนิชศักดิ์พัฒนา อาจารย์ภาควิชาปฐพีวิทยา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้กล่าวบรรยายไว้อย่างน่าสนใจว่า ประเทศไทยมีพื้นที่การเกษตรที่มีปริมาณอินทรียวัตถุในดิน ระดับ 1.5-3.5 อยู่ร้อยละ 34 ระดับต่ำกว่า 1.5 มีร้อยละ 31 โดยภาพรวมแล้วมีอินทรียวัตถุระดับไม่ถึง 3.5 อยู่ถึงร้อยละ 65 และที่สำคัญท่านกล่าวว่าถ้าอินทรียวัตถุในดินลดลง ร้อยละ 2 แม้เราจะใส่ปุ๋ยเคมีลงไปในดินเท่าไร ก็ไม่บังเกิดผล ท่านจึงได้เชิญชวนให้นักวิชาการคิดค้นนวัตกรรมที่จะคืนอินทรียวัตถุให้แก่ดิน

แสดงว่า ฮิวมัส มีอิทธิพลต่อระดับอินทรียวัตถุในดินเป็นอย่างมาก ลักษณะสำคัญที่มีอิทธิพลทางเคมีเป็นคำอธิบายทางวิทยาศาสตร์มีให้ศึกษาทางสื่อออนไลน์ครับ หากท่านศึกษาไว้ก็ดีเป็นการพัฒนาความรู้ที่ต้องใช้ประกอบในวิชาชีพเกษตร ผมต้องการแนะนำให้ท่านได้นำฮิวมัสที่นักวิชาการเกษตรยืนยันว่าสามารถช่วยปรับปรุงบำรุงดินให้มีความอุดมสมบูรณ์ โดยนำไปใช้ในแปลงปลูกพืช

“ฮิวมัส” คืออะไร

ฮิวมัส (Humus) คำนี้มาจากภาษาละติน แปลว่าดินหรืออินทรียวัตถุ

ตามพจนานุกรมศัพท์วิทยาศาสตร์ ฮิวมัส – ซากพืชและซากสัตว์ที่เน่าเปื่อยผุพัง ทับถมกัน ปะปนอยู่ในดิน ทำให้ดินมีแร่ธาตุที่เป็นประโยชน์เหมาะแก่การเพาะปลูก

ในทางวิชาการเกษตร ฮิวมัส คือ อินทรียวัตถุที่มีโครงสร้างสลับซับซ้อน โดยสลายตัวปะปนอยู่ในดิน ทำให้ดินมีความอุดมสมบูรณ์เกิดจากการย่อยสลายของซากพืช ซากสัตว์ โดยกิจกรรมของจุลินทรีย์ซึ่งสังเคราะห์ได้สารประกอบอินทรีย์จำนวนมาก กรดอะมิโน โปรตีน และอะโรมาติก และจะเกิดการรวมตัวของสารประกอบอินทรีย์หลังจากที่จุลินทรีย์ตายลงและทับถมกันเป็นเวลานานกลายเป็นฮิวมัสในดิน ส่วนประกอบของฮิวมัสประกอบด้วยสารผลิตภัณฑ์หลายประเภทโดยขึ้นอยู่กับชนิดของอินทรียวัตถุ ต้นกำเนิดตามธรรมชาติเกิดจากการย่อยสลายของสิ่งมีชีวิตในดิน รวมทั้งการแปรสภาพของสารผลิตภัณฑ์และการสังเคราะห์สารขึ้นมาใหม่

ที่โรงไฟฟ้าแม่เมาะ (การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย) ใช้ถ่านหินลิกไนต์เป็นวัตถุดิบในการผลิตไฟฟ้า ฮิวมัส…จะอยู่ในเหมืองลิกไนต์ ซึ่งอยู่ลึกในชั้นดิน แต่ก่อนที่จะขุดถึงชั้นถ่านหิน จะเป็นชั้นของแร่ลิโอนาร์ไดต์ (Leonardite) ที่เกิดจากการทับถมของซากพืชซากสัตว์ตามธรรมชาติเป็นเวลาหลายล้านปี ซึ่งแร่ลีโอนาร์ไดต์นี้ นำมาใช้เป็นส่วนผสมสารตั้งต้นหลักในการผลิตสารปรับปรุงดินฮิวมัสที่อุดมไปด้วยสารอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อพืช

มีงานวิจัยอยู่ชิ้นหนึ่งของ คุณสุชาดา โภชาคม และคณะมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ศึกษาลักษณะทางเคมีของลีโอนาร์ไดต์ จากเหมืองแร่ลิกไนต์ พบว่า มีปริมาณอินทรียวัตถุถึงร้อยละ 24.4 มีธาตุอาหารที่จำเป็นต่อการเติบโตของพืชเป็นองค์ประกอบอยู่หลายธาตุและบางธาตุมีในปริมาณสูง โดยเฉพาะแคลเซียม แมกนีเซียม และกำมะถัน องค์ประกอบของลีโอนาร์ไดต์ มีสารฮิวมัสสูงกับธาตุอาหารและมีบทบาทในการเพิ่มค่าอินทรียวัตถุและไนโตรเจนให้กับดินที่ใส่ หากนำไปใช้ทางการเกษตรสามารถพัฒนาเป็นวัสดุปรับปรุงสมบัติทางกายภาพของดิน เนื่องจากมีธาตุอาหารที่จำเป็นต่อการเติบโตของพืช

เพื่อให้เห็นสภาพจริงของ “ฮิวมัส” ผมเดินทางไปอำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง เพราะได้ข้อมูลจากสำนักงานเกษตรอำเภอแม่เมาะ ว่าที่อำเภอแม่เมาะ มีเกษตรกรกลุ่มหนึ่งรวมตัวกันผลิต “ฮิวมัส” ให้แก่เกษตรกรในพื้นที่นำไปทดลองใช้ในแปลงเกษตร และมีการติดตามผลว่าเกิดผลอย่างไรกับพืช เมื่อได้ข้อสรุปแล้วจึงลงมือผลิตเพื่อขายให้แก่เกษตรกรอื่นทั้งในและนอกพื้นที่ และกลุ่มได้จดทะเบียนเป็นวิสาหกิจชุมชน ดำเนินการผลิตมาจนถึงปัจจุบัน

คุณวราภรณ์ ยารังษี หรือ คุณน้ำอ้อย อายุ 45 ปี อยู่บ้านเลขที่ 272 หมู่ที่ 8 บ้านเมาะหลวง อำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง โทร 095-687-8444 ได้เล่าย้อนอดีตถึงความเป็นมาก่อนที่จะมาเป็นตัวตั้งตัวตีในการรวมกลุ่มผลิตฮิวมัส ว่า เคยเห็นวัตถุดิบเศษถ่านหินมาตั้งแต่เด็กๆ เมื่อครั้งที่คุณพ่อทำงานอยู่ในเหมืองลิกไนต์แม่เมาะ แต่ขณะนั้นยังไม่รู้ว่านั่นคือ ฮิวมัส หรือลีโอนาร์ไดต์ หลังจากไปร่ำไปเรียนถึงกรุงเทพฯ จบการศึกษามาก็ไปช่วยพี่สาวทำการเกษตรที่อำเภอแม่ระมาด จังหวัดตาก และได้นำฮิวมัสไปทดลองใช้กับแปลงเกษตรของเกษตรกรที่ปลูกข้าวโพด ซึ่งมีการใช้สารเคมีกันอย่างมโหฬาร จนในที่สุดเมื่อใช้ฮิวมัส (ยังไม่ได้แปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ฮิวมัส) ได้ผลผลิตดีกว่าแต่ก่อน โครงสร้างดินดีขึ้น จึงเป็นแรงผลักดันสำนึกรักบ้านเกิด ก็ในเมื่อใต้ผืนดินบ้านเกิดตัวเองมีทรัพย์ในดินมากมาย ที่ควรรักษาทรัพยากรท้องถิ่นให้มีความยั่งยืน จึงมาเริ่มตั้งต้นรวบรวมเกษตรกรขอจดทะเบียนวิสาหกิจชุมชน ซึ่งตนมีเลขทะเบียนการค้าอยู่แล้ว และผ่านการอบรม MBA ด้านระบบการบริหารการผลิต การตลาด มา กับมีแนวคิดว่าไม่อยากให้เกษตรกรพอว่างงานก็ไปเป็นลูกจ้างเขา มาสร้างงานกันดีกว่า

และได้รับทราบว่าทางเหมืองแม่เมาะได้ทีมอาจารย์จากมหาวิทยาลัยแม่โจ้ มาทำการวิจัยฮิวมัส และทดลองใช้กับต้นยางพาราที่เสื่อมสภาพให้กลับฟื้นมากรีดยางได้ ตอนเริ่มต้นผลิตฮิวมัสต้องขอซื้อวัตถุดิบฮิวมัสจากบริษัทเอกชน แต่ต่อมาทางเหมืองแม่เมาะเปลี่ยนนโยบายใหม่ ขายตรงให้กับชุมชนที่จดทะเบียนเป็นวิสาหกิจชุมชน ซึ่งกลุ่มของตนก็ได้รับการจดทะเบียนแล้ว โดยได้เริ่มดำเนินการผลิตฮิวมัสอย่างจริงจังเมื่อปี พ.ศ. 2559

การซื้อวัตถุดิบฮิวมัสจากเหมืองแม่เมาะจะเปิดขายให้กลุ่มเพียงปีละครั้ง คือเดือนกรกฎาคม ครั้งละไม่น้อยกว่า 500 ตัน ซึ่งต้องซื้อด้วยเงินสด ก็หลายแสนบาท…500 ตัน ต้องทยอยผลิตแปรรูป ผสมกับวัตถุดิบอื่นๆ ให้ได้ตลอดทั้งปี

วิสาหกิจชุมชนกลุ่มฮิวมัสปรับปรุงบำรุงดิน บ้านเมาะหลวง หมู่ที่ 8 ตำบลแม่เมาะ คือ ชื่อกลุ่มที่ได้รับการจดทะเบียนจากสำนักงานเกษตรอำเภอแม่เมาะ รวมกลุ่มเกษตรกรผู้ที่ไม่ประสงค์จะจากชุมชนไปเป็นลูกจ้างนอกชุมชน ได้จำนวนสมาชิก 30 คน ลงทุนเป็นหุ้น หุ้นละ 100 บาท จำนวนเงินทุนดำเนินงาน 2 ล้านบาท และมีทุนหมุนเวียน 4 ล้านบาท กำลังการผลิต 500 ตัน ต่อปี มีคณะกรรมการ 7 คน หมุนเวียนกันมาปฏิบัติงานที่โรงงาน

“ฮิวมัส” ทำจากอะไร ผมตั้งคำถาม

คุณน้ำอ้อย อธิบายและให้รายละเอียดว่า “เมื่อทางเหมืองแม่เมาะเปิดหน้าเหมืองและนำฮิวมัสมากองไว้…1 ปี จะเปิดให้กลุ่มวิสาหกิจชุมชนไปดำเนินเรื่องซื้อครั้งเดียว เมื่อกลุ่มได้ซื้อมาแล้วยังไม่ได้นำออกขายทันที ทางกลุ่มต้องนำมาผ่านกระบวนการแปรรูปด้วยการบดและผสมกับวัตถุดิบอื่นๆ อีกหลายอย่าง รูปร่างหน้าตาของฮิวมัส…เป็นดินมูลทราย (เรียกชื่อตามเหมืองแม่เมาะ) เป็นฮิวมัสปนถ่านหิน  มีสีน้ำตาลดำ เป็นก้อนขนาดใหญ่ ถ้านำไปบดเนื้อจะละเอียดแล้วปั้นเม็ดจะมีสีดำ เมื่อนำไปตากลมจะกลายเป็นสีเทา ถ้ากลิ่น…จะมีกลิ่นฉุนคล้ายกลิ่นกำมะถันหรือกลิ่นไข่เน่า หรือกลิ่นขี้ถ่าน ถือเป็นกลิ่นเฉพาะของฮิวมัสที่ยังไม่ผ่านกระบวนการผลิต “ฮิวมัสนี่…ถ้ายิ่งเก็บไว้นาน ก็จะยิ่งมีความเข้มข้นมาก”

จากงานวิจัยที่นำเสนอตอนต้นระบุว่า มีธาตุอาหารอย่างเช่นแคลเซียม แมกซีเซียม และกำมะถัน คุณ   น้ำอ้อยได้นำงานวิจัยอีกชิ้นหนึ่งมาให้ดู เป็นงานวิจัยของสำนักงานอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ เขต 3 (ภาคเหนือ) กระทรวงอุตสาหกรรม และคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏกาญจนบุรี มาให้อ่านระบุว่า ยังมีธาตุอาหารที่พบอีกในลีโอนาร์ไดต์ ได้แก่ โซเดียม โพแทสเซียม สังกะสี เหล็ก ทองแดง แมงกานีส

สำหรับส่วนผสมหลักที่นำมาใช้ คุณน้ำอ้อยบอกสูตรไว้ ดังนี้

  1. ดิน (แร่) ลีโอนาร์ไดต์ (Leonardite) เป็นสารตั้งต้น ร้อยละ 70
  2. ซีโอไลต์ (Zeolite) ร้อยละ 15
  3. ยิปซัม (Gypsum) จากโรงไฟฟ้าใช้เพื่อการเกษตรจากที่ลีโอนาร์ไดต์มีค่า pH = 4 ถือเป็นกรด วิธีลดความเป็นกรดโดยใช้ยิปซัม ร้อยละ 5
  4. หิน (แร่) ฟอสเฟต (Phosphate) ร้อยละ 5
  5. โดโลไมต์ (Dolomite) ร้อยละ 5
  6. ขี้ค้างคาว (Guano) ร้อยละ 5
  7. น้ำหมักชีวภาพ (Enzyme lonic plasma) เป็นตัวประสานให้มีความชื้นในการปั้นเม็ด สูตรนี้ได้จากการทดลองในแปลงปลูกเป็นปี แก้โจทย์ไปเรื่อยๆ จนเป็นที่ยุติแล้ว

ทั้งหมดเป็นวัตถุดิบจากธรรมชาติอย่างแท้จริง เมื่อผ่านกรรมวิธีการผลิตแล้วจะได้ฮิวมัสที่มีคุณสมบัติพิเศษ ช่วยปรับปรุงสภาพดินให้ร่วนซุย แก้ปัญหาดินเสีย ดินเป็นกรด ทำให้ดินอุ้มน้ำได้ดี ปรับสภาพดินให้เป็นกลาง มีค่า pH ระหว่าง 6-7 และเพิ่มปริมาณแร่ธาตุที่เป็นประโยชน์ต่อพืช

ขั้นตอนการผลิต

  1. นำวัตถุดิบฮิวมัสมาบดผงด้วยเครื่องบด ตี
  2. เตรียมส่วนผสมที่ระบุไว้ตอนต้น
  3. ขึ้นรูปปั้นเป็นเม็ดกลม
  4. นำไปผึ่งตากลมกับพื้นปูนในที่ร่ม
  5. นำมาล่อนด้วยเครื่องตะแกงล่อน แยกขนาด
  6. บรรจุกระสอบนำเก็บในสต๊อกพร้อมขาย

นอกจากที่ผลิตตามสูตรดังกล่าวแล้ว คุณน้ำอ้อย กล่าวเพิ่มเติมว่า ยังมีโจทย์ของผู้ซื้อที่ต้องการให้ผลิตฮิวมัสอีกหลายสูตร และแต่งเติม นั่น…นี่ เช่น โจทย์ที่เกษตรกรหรือผู้ซื้อต้องการ สูตรที่ใช้กับพืชแล้วเห็นผลเร็ว แตกกิ่งใบภายใน 15 วัน เท่ากับการใช้ปุ๋ยเคมี หรือสูตรที่นำไปใช้กับลำไยนอกฤดูที่ผ่านการใช้สารเคมีและผ่านการตัดแต่งใหม่หรือทำสาวแล้ว ถ้าใช้ภายใน 15 วัน เห็นผลการแตกกิ่งใบสะพรั่ง หรือสูตรที่ใช้แล้วเห็นผลการแตกกิ่งก้านใบเร็วกว่าใช้ปุ๋ยเคมี 7 วัน และลดเวลาลงเหลือ 4 วัน เห็นผล ซึ่งล้วนแต่เป็นโจทย์ที่พื้นดินของเกษตรกรแต่ละรายมีปัญหาที่แตกต่างกันไป จึงต้องคิดค้นสูตร และต้องผลิตให้ได้ตามโจทย์ของผู้ซื้อ

“ฮิวมัส” มีประโยชน์ในภาคการเกษตรดีจริง

ข้อมูลที่นำมาเสนอไว้ตั้งแต่ต้น ทั้งจากงานวิจัยและนักวิชาการกล่าวได้ว่า ฮิวมัส…เป็นสารที่ใช้ปรับปรุงบำรุงดินให้มีความอุดมสมบูรณ์บวกกับมีธาตุอาหารที่จำเป็นต่อการเติบโตของพืช

  1. ช่วยเก็บแร่ธาตุทำให้ดินอุดมสมบูรณ์
  2. ช่วยกระตุ้นการเจริญเติบโตของพืชจากการย่อยสลายของอินทรียวัตถุ
  3. สารอินทรีย์ทำให้สีของใบ ดอกและผลสวยขึ้น
  4. เพิ่มปริมาณธาตุอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อพืช
  5. ทำให้ดินมีสีน้ำตาลเข้มถึงดำ
  6. มีผลต่อคุณสมบัติทางกายภาพของดิน

– ทำให้เกิดเม็ดดิน

– ยืดหยุ่นได้ดี การดูดซึมน้ำได้ดี

– มีค่าความจุความชื้นสูง

  1. ช่วยลดสารพิษในดินในการทำปฏิกิริยาเคมีจับตัวกับธาตุที่อาจเป็นพิษกับพืช
  2. ช่วยป้องกันการชะล้างหน้าดินและดินที่อัดตัวกันแน่นเกินไป
  3. ช่วยป้องกันภัยแล้งจากการกักเก็บน้ำในพื้นดินได้ในปริมาณมาก สามารถดูดซับน้ำไว้ในปริมาณ 25 เท่า ของน้ำหนัก

“ฮิวมัส” ขนาดบรรจุถุง และราคา

ฮิวมัส…ที่ผมนำมาเสนอในบทความนี้ ผลิตและขายโดยวิสาหกิจชุมชนกลุ่มฮิวมัสปรับปรุงบำรุงดิน บ้านเมาะหลวง หมู่ที่ 8 ตำลแม่เมาะ ติดต่อ คุณวราภรณ์ ยารังษี โทร. 095-687-8444

พ.ศ. 2555 ใช้ชื่อยี่ห้อ มิสเตอร์ ฮิวมัส ขนาดน้ำหนักบรรจุถุง 25 กิโลกรัม ราคาถุงละ 150 บาท แต่ถ้าซื้อเป็นตัน ตันละ 4,800 บาท (ราคา ณ หน้าโรงงานผลิต)

คำแนะนำการนำไปใช้

– นาข้าว ปรับสภาพดินโดยใช้หว่านก่อนไถ อัตรา 100 กิโลกรัม ต่อไร่

– พืชไร่/พืชใบเดี่ยว มันสำปะหลัง อ้อย ข้าวโพด อัตรา 100 กิโลกรัม ต่อไร่

– พืชผัก อัตรา 1 กิโลกรัม ต่อแปลงปลูกขนาดเล็ก

– ไม้ผล ใช้รองก้นหลุม อัตรา 1 กิโลกรัม ต่อหลุม ต้นขนาดเล็ก อัตรา 0.5 กิโลกรัม ต่อต้น ให้ผลผลิตแล้ว อัตรา 2-3 กิโลกรัม ต่อต้น หว่านรอบทรงพุ่ม

– ใช้ผสมกับดินปลูก อัตรา 200 กรัม ต่อดิน 1 กิโลกรัม

– กรณีใช้ผสมน้ำฉีดพ่น วิธีการ ใช้ฮิวมัส 1 กิโลกรัม ผสมน้ำ 5 ลิตร คนให้ละลายตั้งทิ้งไว้ให้ตกตะกอน ตักเอาแต่น้ำ นำไปผสมกับน้ำเปล่า 20 ลิตร

ข้อควรคำนึงก็คือ ให้ใช้ในกรณีขณะที่ดินมีความชื้น เพราะฮิวมัสชอบน้ำ ถ้าไม่มีน้ำจะไม่ออกฤทธิ์

ผลิตภัณฑ์ที่จะเป็นนวัตกรรมในอนาคต คุณน้ำอ้อยวาดฝันไว้ว่าจะผลิตฮิวมัสสำหรับใช้เป็นส่วนผสมของอาหารสัตว์น้ำและสัตว์บก และศึกษาวิจัยการนำฮิวมัสเป็นส่วนผสมของสมุนไพรลูกประคบ

ปัจจุบัน มีผู้สั่งซื้อจากผู้เป็นเกษตรกรและผู้สนใจจากหลายจังหวัด ทุกภาค ที่ไม่ใช่ลักษณะตัวแทนขายแต่เป็นเกษตรกรรายย่อยหรือกลุ่ม ที่ซื้อไปในจำนวนมากและนำไปแบ่งปันกัน และบอกต่อๆ กันไป

ไปดูแปลงปลูกส้มเขียวหวาน ที่ใช้ “ฮิวมัส”

คุณเคลือบ นาคแย้ม อายุ 55 ปี อยู่บ้านเลขที่ 149 หมู่ที่ 5 บ้านห้วยรากไม้ ตำบลสบป้าด อำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง โทร. 080-858-2260 เป็นเกษตรกรตัวอย่างของอำเภอแม่เมาะ ปลูกส้มเขียวหวาน จำนวน 15 ไร่ อายุส้ม 3-5 ปี ให้ผลผลิตแล้ว บอกว่าตนเป็นคนที่ชอบทดลองใช้สารต่างๆ กับต้นส้ม ที่เคยใช้มาแล้วทั้งปุ๋ยเคมี ปุ๋ยของเทศบาล แต่ก็ต้องมาลงตัวอยู่ที่ใช้ฮิวมัส ตรามิสเตอร์ ฮิวมัส ใช้มาตลอด งดใช้ปุ๋ยเคมี “ใช้ฮิวมัสแล้วส้มมีใบสีเขียวเข้ม หนา ใบเป็นมัน แตกใบเร็ว ใส่ต้นที่โทรมก็ยังแตกกิ่งใบ เนื้อส้มมีรสหวานกว่าเดิม การใช้หว่านก็ไม่มาก หว่านรอบๆ ต้น ต้นละ 3 กำมือ ใส่เดือนละครั้งแล้วรดน้ำตามต้นส้มก็มีแนวโน้มไปในทางที่ดี” คุณเคลือบ กล่าว

ผมได้นำบทความดีๆ เกี่ยวกับฮิวมัส…คืนชีวิตให้แผ่นดินมาให้ท่านได้รับรู้ทั้งทางวิชาการ งานวิจัย ท่านใดสนใจสอบถามเพิ่มเติม ติดต่อ คุณวราภรณ์ ยารังษี หมายเลขโทรศัพท์ที่ให้ไว้ตอนต้น

ขอขอบคุณ คุณสมจิตร เรือนมั่น นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรชำนาญการ สำนักงานเกษตรอำเภอแม่เมาะ ที่ติดต่อประสานงานและให้ข้อมูล

 

ส่วนประกอบของดิน

อากาศ ร้อยละ 25

น้ำ ร้อยละ 25

อินทรียวัตถุ ร้อยละ 5

ธาตุอาหาร ร้อยละ 45

อินทรียวัตถุ ร้อยละ 5

 

ระดับอินทรียวัตถุในดิน

ระดับ                                                 ปริมาณอินทรียวัตถุในดิน (ร้อยละ)

ต่ำ                                                                   0.5-1.0

ค่อนข้างต่ำ                                                        1.0-1.5

ปานกลาง                                                          1.5-2.5

ค่อนข้างสูง                                                         2.5-3.5

สูง                                                                   3.5-4.5

สูงมากมากกว่า                                                      4.5

………………….

เผยแพร่ในระบบออนไลน์เป็นครั้งแรก เมื่อวันจันทร์ที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2561


สำหรับแฟนๆ นิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน หากต้องการนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้านรายปักษ์ ส่งตรงถึงบ้าน รวดเร็วทันใจอ่านได้ในทุกๆ 15 วัน สามารถสมัครสมาชิกได้ที่ คลิกลิ้ง https://shorturl.asia/0zJwQ 📲- Line: @matichonbook หรือ สำนักพิมพ์มติชน เลขที่ 12 ถนนเทศบาลนฤมาล หมู่บ้านประชานิเวศน์ 1 แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร 10900 ติดต่อฝ่ายขาย 02-589-0020 ต่อ 3354