ชี้ลักลอบนำเข้า ต้นเหตุมะพร้าวราคาตก พณ.งัดมาตรการคุมนำเข้า

นายอดุลย์ โชตินิสากรณ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการพืชน้ำมันและน้ำมันพืช วันที่ 16 กรกฎาคม ที่มีนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน กระทรวงพาณิชย์จะเสนอใช้มาตรการเพิ่มเติมการนำเข้ามะพร้าวใหม่ ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ผลผลิตในประเทศการนำเข้ามะพร้าว

หลังจากมีการร้องเรียนราคามะพร้าวตกต่ำ เช่น กำหนดระยะเวลานำเข้าใหม่ จากเดิมอนุญาตเดือน ม.ค.-พ.ค. และ พ.ย.-ธ.ค.ของปี โดยห้ามนำเข้าช่วง มิ.ย.-ต.ค. อาจลดจำนวนเดือนให้นำเข้าและไม่ให้ตรงกับช่วงผลผลิตของไทยออกสู่ตลาด พร้อมให้ผู้ประกอบการนำเข้าต้องรายงานปริมาณมะพร้าวที่ใช้จริงหลังการกะเทาะเปลือก หากมีผู้ประกอบการนำมะพร้าวไปจำหน่ายต่ออาจมีผลต่อการขอใบอนุญาตเพื่อนำเข้าครั้งต่อไป

” จะเพิ่มความเข้มงวดในการตรวจสอบการนำเข้า ผู้นำเข้าต้องมาขึ้นทะเบียน เป็นผู้นำเข้ากับกรมก่อน และต้องระบุแผนการนำเข้าและแผนการใช้ให้ชัดเจน ต้องไม่นำไปขายต่อหรือไปใช้อย่างอื่นนอกจากแผนที่ระบุไว้ หากไม่ปฏิบัติตาม จะเพิ่มความเข้มงวดในการขอใบอนุญาตนำเข้าล็อตต่อไป และอาจมีการพิจารณาโทษ ”

ทั้งนี้ ปี 2561 ประเมินผลผลิตมะพร้าวของไทยไว้ที่ 8.6 แสนตัน แต่มีความต้องการใช้ประมาณ 1.1 ล้านตัน จึงต้องนำเข้าประมาณ 2.41 แสนตันจากต่างประเทศ โดย 5 เดือนแรกปีนี้ นำเข้ารวม 1.58 แสนตัน ลดลง 1.78 แสนตันจากช่วงเดียวกันปีก่อน มากสุดนำเข้าจากอินโดนีเซีย 1.31 แสนตัน ลดลง 1.56 แสนตัน แต่นำเข้าจากเวียดนาม 3.7 หมื่นตัน เพิ่มขึ้น 1.26 หมื่นตัน ที่เหลือนำเข้าจากเมียนมาและมาเลเซียในปริมาณไม่มาก

“ ที่เกษตรกรออกมาร้องเรียนว่าเป็นเพราะนำเข้ามาเยอะ เลยทำให้ราคาตกต่ำ จากการตรวจสอบ กรมได้รับแจ้งจากทางจังหวัดว่ามีการลักลอบนำเข้ามะพร้าวจากต่างประเทศเข้ามาในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร และสุราษฎร์ธานี ขอให้กรมศุลกากรเข้าตรวจสอบและคุมเข้มการนำเข้า ถ้าถามว่าทำไมต้องลักลอบนำเข้า ทั้งๆ ที่ภาษีนำเข้าจากประเทศในอาเซียนเหลือ 0% แล้ว เพราะถ้านำเข้าให้ถูกต้อง ต้องขอใบอนุญาต ต้องแจ้งแผนนำเข้า แผนการใช้ แต่ถ้าลักลอบไม่ต้องทำอะไร ดังนั้น หน่วยงานที่ดูแลต้องเร่งจัดการ ”

ส่วนการดูแลการนำเข้ามะพร้าวจากต่างประเทศที่ผ่านมา กรมได้ควบคุมการนำเข้าสินค้ามะพร้าวตามที่ไทยได้ผูกพันมาตรการโควต้าและอัตราภาษีสินค้ามะพร้าว ครอบคลุมมะพร้าวทั้งผล มะพร้าวอ่อน และมะพร้าวอื่นๆ ในปริมาณเปิดตลาดปีละ 2,317 ตัน อัตราภาษีในโควต้า 20% นอกโควต้า 54% ภายใต้กรอบความตกลงองค์การการค้าโลก (WTO)โดยต้องเป็นนิติบุคคล ซึ่งเป็นโรงงานที่ใช้มะพร้าวเป็นวัตถุดิบในการผลิตและดำเนินกิจการ แต่ตั้งแต่เปิดตลาดจนถึงปัจจุบัน ไม่มีการนำเข้าในโควต้าตามกรอบความตกลง WTO ที่กำหนดให้นำเข้าในช่วง ม.ค.-พ.ค.และเดือน พ.ย.-ธ.ค.ของแต่ละปี

อย่างไรก็ตาม ผู้นำเข้าส่วนใหญ่ ได้นำเข้าภายใต้กรอบความตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน (AFTA) โดยต้องเป็นนิติบุคคลที่ขึ้นทะเบียนเป็นผู้นำเข้าไว้กับกรม และนำเข้ามาเพื่อการแปรรูปเป็นน้ำมันพืช เป็นอาหารคนในกิจการของตนเองไม่เกินปริมาณที่ระบุไว้ตามแผนการนำเข้าและการใช้ในกิจการของตนเอง โดยกำหนดให้นำเข้าทางด่านศุลกากรที่มีด่านตรวจพืช และด่านอาหารและยาในช่วงเดียวกันกับกรอบความตกลง WTO อัตราภาษี 0% ในปี 2560 มีปริมาณการนำเข้าจากทุกประเทศทั่วโลก 416,124 ตัน เป็นการนำเข้าจากอินโดนีเซีย 384,102 ตัน เวียดนาม 15,613 ตัน และประเทศอื่นๆ 16,409 ตัน