กรมส่งเสริมการเกษตร ยกระดับคุณภาพลำไยภาคเหนือ ด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยี

กรมส่งเสริมการเกษตร สนับสนุนเกษตรกรผู้ปลูกลำไย พร้อมใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยี
ในการตัดแต่งเพื่อควบคุมทรงพุ่ม เน้นสร้างผลผลิตที่มีคุณภาพมากกว่าปริมาณ พร้อมกระจายผลผลิตคุณภาพสู่ผู้บริโภค

นายสำราญ สาราบรรณ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า ตามมติคณะกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้ (Fruit Board) ปี 2561 ได้วางแผนบริหารจัดการคุณภาพและปริมาณผลผลิตลำไย
เน้นกระจายผลผลิตออกนอกแหล่งผลิตและเห็นชอบให้จังหวัด พัฒนาคุณภาพผลผลิตภายใต้โครงการรณรงค์การผลิตลำไยคุณภาพ โครงการส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ และศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) โดยใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีเข้ามาช่วยเพื่อตัดแต่งกิ่ง ตัดต้นเตี้ย ซึ่งจะทำให้ผลผลิตมีคุณภาพ ขายได้ในราคาดี

ลำไย เป็นไม้ผลเศรษฐกิจ มีแหล่งผลิตสำคัญทั้งในภาคเหนือ และภาคตะวันออก โดยภาคเหนือ ปลูกกันมากใน 8 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย พะเยา ลำปาง ลำพูน ตาก แพร่ และน่าน มีเกษตรกรสนใจเข้าร่วมกว่า 6,500 ราย และส่งเสริมการผลิตลำไยให้ได้ตามมาตรฐาน GAP ในเกษตรกร 1,950 ราย ส่วนการกระจายผลผลิต ซึ่งคาดการณ์ว่าผลผลิตลำไยภาคเหนือ ปี 2561 จะมีผลผลิตออกสู่ตลาดรวม 654,329 ตัน และจะออกมากในเดือนสิงหาคม ร้อยละ 36.40 เป็นผลผลิตในฤดูกาล 381,498 ตัน มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว ร้อยละ 1.08 และเป็นผลผลิตนอกฤดูกาล 272,831 ตัน มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว ร้อยละ 15.74 เนื่องจากกรมส่งเสริมการเกษตร ส่งเสริมให้มีการปรับเปลี่ยนมาผลิตลำไยนอกฤดูกาลเพิ่มขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง ในสัดส่วน นอกฤดู 60 ต่อในฤดู 40 ทำให้ผลผลิตในฤดูลดลง ส่วนด้านการบริหารจัดการลำไยภาคเหนือ ในฤดู ปี 2561 ตามที่คาดการณ์นั้น จะมีปริมาณ 381,498 ตัน โดยจะส่งเสริมการบริโภคผลสดภายในประเทศ ประมาณ 28,084 ตัน คิดเป็นร้อยละ 7.36 ด้วยวิธีกระจายผลผลิตออกนอกแหล่งผลิตผ่านช่องทางต่างๆ เช่น ผู้ประกอบการ Modern Trade วิสาหกิจชุมชน การกระจายผ่านเครือข่ายสหกรณ์การเกษตร เป็นต้น เพื่อการส่งออก ประมาณ 82,544 ตัน คิดเป็นร้อยละ 21.64 และผลิตภัณฑ์แปรรูป คิดเป็นร้อยละ 71 อาทิ การแปรรูปอบแห้งทั้งเปลือก แปรรูปอบแห้งเนื้อสีทอง ลำไยกระป๋อง น้ำเลำไยสกัดเข้มข้น

ในปีนี้ กรมส่งเสริมการเกษตร สนับสนุนให้เกษตรกรเข้าร่วมโครงการรณรงค์การผลิตลำไยคุณภาพเพื่อพัฒนาคุณภาพผลผลิต โดยใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีการตัดแต่งช่อผล ตัดต้นเตี้ยมาช่วยในการผลิตในโครงการส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ (ลำไย) จำนวน 53 แปลง ส่งผลให้ผลผลิตมีคุณภาพเพิ่มขึ้น เป็นเกรด AA และ A คาดว่าจะมีผลผลิตลำไยคุณภาพออกมาประมาณ 27,000 ตัน และในบางแปลงสามรถผลิตลำไยเกรด AAA ส่งขายในห้างสรรพสินค้าชั้นนำ เช่น สยามพารากอน ได้ นอกจากนั้น กรมส่งเสริมการเกษตร ร่วมกับ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด นำผลผลิตทางการเกษตรเข้าสู่ระบบตลาดออนไลน์ โดยผลผลิตลำไยแปลงใหญ่ ในจังหวัดเชียงใหม่ ลำพูน และน่าน จะเป็นจังหวัดนำร่องในการค้าขายสินค้าผ่านระบบออนไลน์ ด้วยระบบ E-Market ผ่าน Thailandpostmart.com โดยแบ่งลักษณะสินค้าออกเป็น 2 กลุ่ม คือ Business to Business หรือ B2B คือ การขายส่งสินค้าในปริมาณมาก ให้ทั้งตลาด Modern trade โรงแรมห้างสรรพสินค้า ผู้ผลิต เป็นต้น และ Business to Customer หรือ B2C จะเป็นการขายส่งตรงถึงมือผู้บริโภค อันเป็นสินค้าคุณภาพ เกรดพรีเมี่ยม ส่งผลให้สินค้าจะขายได้ในราคาที่สูงขึ้นนั่นเอง