ขยายกลุ่มอินทผลัมภาคตะวันตก ครองตลาดผลสดในโมเดิร์นเทรด สร้างฐานแปรรูปครบวงจร

เมื่อปีที่แล้วในช่วงเวลาเดียวกัน กองบรรณาธิการนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน เคยนำเสนอการรวมกลุ่มของเกษตรกรผู้ปลูกอินทผลัมในหลายจังหวัด ทั้งภาคกลางและภาคตะวันตก อาทิ กาญจนบุรี อุทัยธานี สุพรรณบุรี ราชบุรี ปทุมธานี ซึ่งเป็นการรวมกลุ่มเฉพาะแปลงที่ปลูกอินทผลัมแบบเพาะเนื้อเยื่อ เพื่อรักษามาตรฐานของผลผลิตอินทผลัมผลสดให้อยู่ในระดับเดียวกัน ส่งเสริมการปลูกอินทผลัมในเมืองไทย และช่วยยกระดับผลผลิตให้เข้าสู่ตลาดโดยไม่แย่งกันจำหน่าย โดยใช้ชื่อว่า กลุ่มอินทผลัมภาคตะวันตก หรือ WDP

3 ปีแล้ว สำหรับการก่อตั้งกลุ่ม และรวมตัวเกษตรกรผู้ปลูกอินทผลัม ปีที่ผ่านมามีสมาชิกประมาณ 30 ราย พื้นที่ปลูกอินทผลัมรวม 600 ไร่ ปัจจุบัน เปิดรับสมาชิกเพิ่มทั่วประเทศ ไม่จำกัดเฉพาะภาคกลางหรือภาคตะวันตก ทำให้ปัจจุบันมีสมาชิกเพิ่ม คิดเป็นพื้นที่ปลูกกว่า 1,000 ไร่ จำนวนกว่า 30,000 ต้น ทั่วประเทศ ให้ผลผลิตแล้วในปีนี้ ประมาณ 5,000 ต้น ปีที่ผ่านมา มีผลผลิตอินทผลัมผลสดออกสู่ตลาดไม่ต่ำกว่า 20 ตัน แต่ในปีนี้จะสูงถึง 150 ตัน และจะสูงถึง 300-400 ตัน ในปีหน้า

คุณอนุรักษ์ บุญลือ สมาชิกกลุ่มอินทผลัมภาคตะวันตก หรือ WDP

ต้นอินทผลัมเพาะเนื้อเยื่อ ถูกสั่งมาจากประเทศอังกฤษ เป็นสายพันธุ์บาร์ฮี (barhee / barhi) ในราคาต้นละ 1,200 บาท และเป็นอินทผลัมเพาะเนื้อเยื่อตัวเมียทั้งหมด ต้นอินทผลัมตัวผู้จะปลูกด้วยการเพาะเมล็ด เพื่อสำหรับเก็บเกสรตัวผู้ใช้ผสม และยังมีพื้นที่บางส่วนของแต่ละสวนของสมาชิกที่ยังคงปลูกอินทผลัมต้นตัวเมียแบบเพาะเมล็ดไว้ เพื่อเก็บเป็นตัวอย่างและเปรียบเทียบ

คุณอนุรักษ์ บุญลือ หนึ่งในสมาชิกกลุ่มผู้ก่อตั้งกลุ่มอินทผลัมภาคตะวันตกในยุคแรก บอกกับเราว่า กลุ่มอินทผลัมภาคตะวันตก จำเป็นต้องเปิดโอกาสให้เกษตรกรที่สนใจทั่วประเทศเข้ามาเป็นสมาชิก ไม่จำกัดเฉพาะเกษตรกรผู้ปลูกอินทผลัมในภาคกลางและภาคตะวันตกเท่านั้น เพราะมีเป้าหมายและกลไกทางการตลาดที่คิดว่าจะเป็นการช่วยให้มีการถ่ายเทผลผลิตออกไปสู่ตลาดได้อย่างคล่องตัว จากเดิมเป็นกลุ่มอินทผลัมภาคตะวันตกเล็กๆ ที่มีเป้าหมายในการช่วยกันดูแลแปลงปลูก ระบบน้ำ เทคโนโลยีการปลูก เพื่อให้ผลผลิตมีคุณภาพ เมื่อกลุ่มโตขึ้นจึงเล็งเห็นเป้าหมายในการจัดการอินทผลัมในเมืองไทย ว่า ควรเพิ่มจากการดูแลแปลงเพื่อให้ผลผลิตออกสู่ตลาดอย่างมีคุณภาพ ให้มีเรื่องของการแปรรูปอินทผลัมผลสดในเมืองไทยอย่างเป็นรูปธรรมและมีคุณภาพออกสู่ตลาดมากขึ้น เนื่องจากแปลงปลูกอินทผลัมมีเพิ่มขึ้น จึงจำเป็นต้องรองรับผลผลิตบางส่วนที่อาจไม่ได้คุณภาพระดับดีที่สุด นำไปใช้ในการแปรรูป เพื่อให้มีสินค้าเกี่ยวกับอินทผลัมอย่างครบวงจร

เนื่องจากอินทผลัมไม่ใช่ผลไม้ของประเทศไทย ทำให้ยังไม่มีการกำหนดมาตรฐานการผลิตออกมาชัดเจน โดยกลุ่มได้หารือร่วมกับสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) เพื่อกำหนดมาตรฐานการผลิตอินทผลัมออกมาใช้ในระบบ แต่อยู่ระหว่างการพิจารณา กลุ่มจึงดำเนินการควบคุมผลผลิตให้มีคุณภาพเองให้ผลผลิตออกสู่ตลาดอย่างมีคุณภาพ โดยยกมาตรฐานของ Codex Committee on Fresh Fruits and Vegetables (CCFFV) มาเป็นเกณฑ์ในการผลิตอินทผลัมผลสดของกลุ่ม เพื่อให้ผลผลิตได้มาตรฐานของกลุ่มเอง อาทิ ความหวาน อายุการเก็บเกี่ยว ขนาดผล เป็นต้น

ขวดสีเขียว เป็นน้ำอินทผลัมพันธุ์บาร์ฮี ส่วนขวดสีแดง เป็นน้ำอินทผลัมพันธุ์เมดจูล

“เราแบ่งผลผลิตออกเป็นขนาดซุปเปอร์จัมโบ้ ขนาด A ขนาด B+ ขนาด B ขนาด C+ จะวางจำหน่าย แต่ถ้าผลผลิตที่ได้ต่ำกว่าเกรด C เราจะนำเข้าห้องเย็น เพื่อเก็บผลผลิตไว้สำหรับการแปรรูป เมื่อไม่ใช่ฤดูของการเก็บเกี่ยวแต่ละปี”

สำหรับจำนวนสมาชิกที่เปิดรับเพิ่มขึ้นทั่วประเทศนั้น คุณอนุรักษ์ ระบุว่า ในจำนวนสมาชิกกลุ่มทั้งหมด เกษตรกรที่ไม่ได้อยู่ในพื้นที่ปลูกภาคกลางและภาคตะวันตก จะมีสัดส่วนในการเข้าเป็นสมาชิกกลุ่มเพียง 20 เปอร์เซ็นต์ ไม่เกิน 25 เปอร์เซ็นต์ และจะต้องปลูกอินทผลัมผลสดพันธุ์บาร์ฮีได้ให้ผลผลิตตามมาตรฐานของกลุ่มที่วางไว้ โดยไม่เป็นคู่แข่งทางการตลาดซึ่งกันและกัน แต่จะช่วยกันเรื่องการตลาด โดยไม่มีข้อแม้ ซึ่งปัจจุบันมีสมาชิกผู้ปลูกอินทผลัมในหลายจังหวัดทุกภูมิภาค อาทิ เชียงใหม่ กำแพงเพชร ตาก อุดรธานี หนองคาย ขอนแก่น บุรีรัมย์ เป็นต้น ส่วนภาคใต้ผู้ที่เป็นสมาชิกกลุ่มจะมีแปลงปลูกไม่มาก ส่วนใหญ่เป็นการปลูกเพื่อทดลอง

ผลอินทผลัมแห้งนำเข้าจากสวน ใกล้ทะเลเดดซี นำมาแพ็กบรรจุใส่กล่องจำหน่าย

นอกจากนี้ ยังมีสมาชิกอีกประเภทที่ไม่จำเป็นต้องเป็นเกษตรกร ไม่จำเป็นต้องมีแปลงปลูก แต่มีหน้าร้านเป็นของตนเอง ก็สามารถสมัครเป็นสมาชิกกลุ่ม โดยนำผลิตภัณฑ์จากกลุ่มไปจำหน่ายผ่านหน้าร้าน และยังเปิดรับสมาชิกที่ไม่มีแปลงปลูก ไม่มีหน้าร้าน เพิ่งเริ่มปลูก และต้องการศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับอินทผลัมอีกจำนวนหนึ่ง

ราคาผลผลิตอินทผลัมผลสดปีที่ผ่านมา กลุ่มอินทผลัมภาคตะวันตก สามารถขายได้กิโลกรัมละ 600-700 บาท ซึ่งมีผลผลิตบางส่วนส่งเข้าไปวางจำหน่ายโมเดิร์นเทรดและตลาดไท ในราคาส่ง กิโลกรัมละ 500-550 บาท

และเมื่อคิดเป็นสัดส่วนในตลาดอินทผลัมผลสดในเมืองไทย กลุ่มอินทผลัมภาคตะวันตกครองสัดส่วนไปได้มากถึง 70 เปอร์เซ็นต์

ในจำนวนผลผลิตของปีที่ผ่านมา ส่งเข้าจำหน่ายโมเดิร์นเทรดไม่ต่ำกว่า 10 ตัน อีกจำนวน 7-8 ตัน มีนักท่องเที่ยวจากมาเลเซีย อินโดนีเซีย เข้ามาซื้อถึงหน้าสวน ส่วนที่เหลืออีกราว 5-6 ตัน เก็บเป็นสต๊อกไว้สำหรับการแปรรูป ซึ่งอยู่ระหว่างการก่อสร้างโรงงานแปรรูปครบจงวร ตั้งแต่การคัดล้าง แพ็ก บรรจุ ห้องเย็น ห้องรอเพื่อส่งตลาด และห้องแช่แข็งเพื่อรอการแปรรูป โดยโรงงานแปรรูปครบวงจรจะแล้วเสร็จภายในเดือนสิงหาคมนี้

ปัจจุบัน การแปรรูปของกลุ่มอินทผลัมภาคตะวันตก มีผลิตภัณฑ์ออกสู่ตลาดและมีแบรนด์เป็นของตนเอง ขึ้นทะเบียนไว้แล้วในแบรนด์ “IN ONE” ประกอบด้วยน้ำอินทผลัมผลสด ที่ผลิตจากผลสดสายพันธุ์บาร์ฮี และน้ำอินทผลัมผลแห้ง ซึ่งผลิตจากผลแห้งสายพันธุ์เมดจูล ซึ่งนำเข้าจากไร่คู่ค้าที่มีที่ตั้งอยู่ติดกับทะเลสาบเดดซี ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ทราบกันดีกว่าเป็นแหล่งที่เหมาะสำหรับปลูกอินทผลัมดีที่สุดของโลก

แพ็กเกจอินทผลัมแห้ง

นอกจากนี้ ยังนำเข้าผลแห้งจากไร่คู่ค้าใกล้ทะเลสาบเดดซีมาจำหน่าย และผลิตไซรัปจากอินทผลัมผลแห้งสายพันธุ์เมดจูล ทั้งยังวางการตลาดของการแปรรูปไปถึงผงอินทผลัมสำหรับชงดื่ม หรือเป็นสารแทนน้ำตาลบรรจุซอง ซึ่งอยู่ระหว่างการดำเนินการผลิตและส่งจำหน่ายยังต่างประเทศ

เมื่อถามถึงตลาดส่งออก คุณอนุรักษ์ บอกว่า ตลาดในภูมิภาคอาเซียน ถือเป็นตลาดใหญ่ของอินทผลัม ที่มีชาวมุสลิม ซึ่งจากข้อมูลเชิงวิชาการ พบว่า มีชาวมุสลิมในภูมิภาคอาเซียนที่ต้องบริโภคอินทผลัมมากถึง 220 ล้านคน หากคิดจำนวนการบริโภคที่น้อยที่สุดต่อปี ในปริมาณ 1 กิโลกรัม ต่อคน ก็มากถึง 220 ล้านกิโลกรัม ต่อปี นั่นหมายถึงตลาดอินทผลัมยังคงไปได้ดีแน่นอน

“เป็นความโชคดีของประเทศไทย ที่มีสภาพภูมิประเทศและสภาพภูมิอากาศเหมาะสำหรับปลูกอินทผลัม ในประเทศที่ต้องการการบริโภคมาก เช่น อินโดนีเซีย ไม่สามารถปลูกได้ ต้องนำเข้าผ่านประเทศมาเลเซียไป และพบว่าประเทศไทยเป็นประเทศแรกในอาเซียนที่ปลูกอินทผลัมได้”

ไซรัปอินทผลัม ทำจากอินทผลัมผลแห้ง

เมื่อเล็งเห็นตลาดอินทผลัมในต่างประเทศที่น่าจะไปได้ดี คุณอนุรักษ์ ให้ข้อมูลว่า เป็นที่น่ายินดีที่เรามองเห็นตลาดอินทผลัมในประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งเป็นตลาดใหญ่ที่สุดในโลก แต่โชคร้ายที่ประเทศไทย มีข้อจำกัดทางด้านการค้าอินทผลัมกับต่างประเทศ เนื่องจากอินทผลัมไม่ได้เป็นผลไม้ในเมืองไทย จึงยังไม่มีการกำหนดการซื้อขายอินทผลัมกับต่างประเทศ ดังนั้น จึงต้องย้อนไปแก้กฎหมายการส่งออก เพื่อให้ตลาดอินทผลัมออกไปสู่ตลาดต่างประเทศได้

แต่แม้ว่าข้อจำกัดในการส่งออกอินทผลัมของเมืองไทยยังไม่ได้รับการแก้ไข คุณอนุรักษ์ ก็ชี้ให้เห็นว่า ตลาดอินทผลัมในประเทศไม่ได้ถึงทางตัน เนื่องจากความต้องการบริโภคทั้งผลสดและการแปรรูปในประเทศไทย ยังคงมีความต้องการสูงอยู่ เพราะอินทผลัมเพิ่งเป็นที่รู้จักในเมืองไทยเพียงไม่กี่ปี ตลาดยังคงไปได้อีกไกล ส่วนข้อกังวลในราคาจำหน่ายที่ปัจจุบันราคาสูง

แต่หากผลผลิตออกสู่ตลาดในปริมาณมาก ราคาจะตกลงเช่นเดียวกับกลไกทางการตลาดของผลไม้ชนิดอื่นด้วยหรือไม่นั้น คุณอนุรักษ์ บอกว่า ไม่ต้องกังวล เนื่องจากเดิมทีกลุ่มวางแนวคิดการซื้อขายอินทผลัมผลสดในเมืองไทยไว้เพียงกิโลกรัมละ 50 บาท เมื่อคิดในปริมาณการให้ผลผลิตต่อต้นที่ปีแรกของต้นที่ให้ผลผลิต เฉลี่ย 30-40 กิโลกรัม ต่อต้น จะได้ผลผลิตประมาณ 1,500-2,000 บาท ต่อต้น ในพื้นที่การปลูก 1 ไร่ สามารถปลูกอินทผลัมได้ 25 ต้น นั่นหมายถึงได้ 37,500-50,000 บาท ต่อไร่ เมื่อหักต้นทุนการผลิตไม่เกิน 10,000 บาท ต่อไร่ เกษตรกรก็สามารถอยู่ได้แน่นอน

 

วันเสาร์ที่ 18 สิงหาคม 2561 นิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน จัดสัมมนาอินทผลัมกินผล ทางผู้จัดได้เชิญ คุณอนุรักษ์ บุญลือ มาพูดคุยด้วย ผู้สนใจสามารถจองได้ โดยดูรายละเอียดการสัมมนาได้ในเล่มนี้