แบงก์ชาติชำแหละ 4 ปมขวางประเทศ ปัญหาเหลื่อมล้ำไทยติดอันดับโลก-รวมคอร์รัปชั่น

ผู้ว่าการแบงก์ชาติ ชำแหละ 4 ปมท้าทายขวางพัฒนาประเทศ ความเหลื่อมล้ำ ผลิตภาพแรงงานลด ปัญหาสิ่งแวดล้อม ปัญหาคอร์รัปชั่น โดยเฉพาะภาคการเงิน ยังมีการปั่นหุ้น การฟอกเงิน เร่งยกระดับพัฒนาธรรมาภิบาลระบบการเงิน เน้นปล่อยสินเชื่อยั่งยืน หนุนออกกรีนบอนด์ช่วยสิ่งแวดล้อม

นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวในงาน “Bangkok Sustainable Banking Forum 2018” ว่าประเทศไทยกำลังเผชิญปัญหาที่ท้าทาย 4 ด้านสำคัญ ต้องฉุกคิดว่า ปล่อยให้ปัญหาเกิดมาถึงจุดนี้ได้อย่างไร 1. ปัญหาความเหลื่อมล้ำ แม้เศรษฐกิจจะเข้มแข็ง ภาครัฐเองก็มีมาตรการช่วยเหลือดูแลผู้มี รายได้น้อย แต่ไทยยังติดอันดับต้นๆ ของโลก ในเรื่องความเหลื่อมล้ำ คนรวยที่สุด 1% ของประเทศ เป็นเจ้าของทรัพย์สินมากกว่าคนอีก ครึ่งประเทศรวมกัน

  1. ปัญหาผลิตภาพแรงงานที่ลดลง เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ นโยบายส่วนใหญ่ให้ความสำคัญกระตุ้นเศรษฐกิจเติบโตในระยะสั้น มากกว่าปรับโครงสร้างเศรษฐกิจระยะยาว ระบบการศึกษาไทยไม่ช่วย ยกระดับทักษะคนไทยให้มีผลิตภาพสูงขึ้น 3. ปัญหาสิ่งแวดล้อม(สวล.) ขาดการแก้ปัญหาและดูแลระบบนิเวศอย่างเหมาะสม 4. ปัญหาคอร์รัปชั่น เกิดแพร่หลาย ฉุดรั้งประเทศไม่ให้ก้าวสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน การติดสินบนและการเอื้อพวกพ้อง ทำให้ต้นทุนของทุกคนแพงขึ้น บิดเบือนระบบเศรษฐกิจ นโยบายที่  มุ่งหวังเพียงผลทางการเมือง มุ่งแต่ประโยชน์ส่วนตัว สร้างภาระให้คนในช่วงอายุต่อไป

“ภาคการเงิน มีพฤติกรรมหลายอย่างเข้าข่ายฉ้อฉลคอร์รัปชั่น เช่น การใช้ข้อมูลภายในเพื่อประโยชน์ส่วนตัว การปั่นหุ้น การฟอกเงิน หรือการขายผลิตภัณฑ์ทางการเงินให้แก่ลูกค้าโดยไม่ให้ข้อมูลอย่างตรงไปตรงมา ทำให้หน่วยงานภาคการเงิน รวมทั้ง ธปท. ต้องยกระดับการดูแลด้านธรรมาภิบาลและจรรยาบรรณ ของผู้บริหารสถาบัน การเงิน ให้บริการลูกค้าอย่างเป็นธรรม” นายวิรไท กล่าว

นายวิรไท กล่าวอีกว่า ภาคการเงินการธนาคาร มีศักยภาพที่จะเป็นผู้นำในการสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับสังคมในวงกว้าง โดยการนำหลักคิดเรื่องความยั่งยืนมาประยุกต์ใช้ในหลายมิติ เช่น แนวคิดเรื่องความยั่งยืนและการมองไกลอย่างรอบด้าน จะช่วยให้สถาบันการเงินเติบโตได้อย่างมั่นคงในระยะยาว รวมทั้งการบริหารธุรกิจบนหลักความยั่งยืน จะดึงดูดคนรุ่นใหม่ที่มีความรู้ความสามารถเข้ามาร่วมงานได้ดีกว่า และจะเป็นการเพิ่มโอกาสให้สถาบันการเงินเข้าถึงแหล่งทุนได้ดีขึ้น โดยการนำหลักคิดเรื่องความยั่งยืน มาประยุกต์ใช้ในภาคการเงินการธนาคาร จะช่วยแก้ปัญหาส่วนรวมและนำพาไปสู่สังคมที่ดีขึ้น

อย่างไรก็ดี การออกพันธบัตรสีเขียว (กรีนบอนด์) ระดมทุน นำเงินไปใช้ลงทุนหรือสนับสนุนโครงการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ไทยยังมีโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานอีกมากที่ต้องการลงทุน ระยะต่อไปจะมีการออกพันธบัตรลักษณะนี้ออกมาอีก และเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ที่มา : ขอบคุณข้อมูลจากข่าวสด