เผยแพร่ |
---|
ม.หอการค้าเปิดข้อมูลผู้ประกอบการเอสเอ็มอียื่นจดทะเบียนแค่ 7-8 แสนราย จากทั้งหมด 2.5 ล้านราย ยังเหลือที่ไม่จด 1.75 ล้านราย ห่วงภาครัฐไม่สามารถช่วยเหลือผ่านมาตรการต่างๆ ได้ ยันจดทะเบียนได้ประโยชน์มากมาย ทั้งขอสินเชื่อง่าย รวดเร็ว วงเงินกู้สูง ลดหย่อนภาษี เพิ่มความเชื่อมั่นให้ลูกค้า
นางเสาวณีย์ ไทยรุ่งโรจน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยในงานแถลงข่าวเรื่อง ทรรศนะต่อความตั้งใจและความคุ้มค่าของการจดทะเบียนนิติบุคคลของเอสเอ็มอีไทย ณ อาคารสำนักงานใหญ่ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย หรือ ธพว.ว่า จากผลการสำรวจความคุ้มค่าของการจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล โดยอ้างอิงข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ระบุว่า ปัจจุบันมีสถานประกอบการที่ยื่นจดทะเบียนนิติบุคคลจำนวน 7-8 แสนราย ขณะที่ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ ระบุว่า ปัจจุบันมีผู้ประกอบการเอสเอ็มอีจำนวน 2.5 ล้านราย ดังนั้นจึงแสดงว่า มีผู้ประกอบการ เอสเอ็มอี จำนวนกว่า 1.75 ล้านราย หรือคิดเป็น 70% ที่ยังไม่จดทะเบียนเป็นนิติบุคคล ซึ่งมีความน่าเป็นห่วง เนื่องจากภาครัฐจะไม่สามารถช่วยเหลือโดยผ่านมาตรการต่างๆ แก่ผู้ประกอบการเหล่านี้ได้
นางเสาวณีย์ กล่าวว่า จากการสำรวจเอสเอ็มอีทั่วประเทศจำนวน 1,250 ตัวอย่าง โดยแบ่งตามประเภทของกิจการ คือ ภาคการค้า 59.2% ภาคบริการ 21.69% และภาคการผลิต 19.11% ทั้งนี้ กลุ่มตัวอย่าง มีการจดทะเบียนนิติบุคคล จำนวน 19.87% และไม่จดทะเบียนนิติบุคคล จำนวน 80.13% โดยสถานการณ์ปัจจุบันของธุรกิจ (เทียบกับปีที่ผ่านมา) ระหว่างเอสเอ็มอีที่จดทะเบียน กับเอสเอ็มอีที่ไม่ได้จดทะเบียน พบว่า เอสเอ็มอีที่จดทะเบียนมีการปรับตัวดีขึ้น ทั้งด้านยอดขายที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น 40.7% กำไรดีขึ้น 32.7% ราคาสินค้า/บริการ ปรับตัวดีขึ้น 24.2% และสภาพคล่องทางธุรกิจปรับตัวดีขึ้น 27.4%
นางเสาวณีย์ กล่าวว่า หากเปรียบเทียบก่อนและหลัง เมื่อมีการจดทะเบียนพบว่า ธุรกิจสามารถขอสินเชื่อได้เพิ่มขึ้น 65.18% คิดเป็นมูลค่าเฉลี่ยที่เปลี่ยนจากก่อนจดทะเบียน 1.36 ล้านบาท ขณะที่รายได้ของธุรกิจเปลี่ยนไปจากก่อนจดทะเบียนนิติบุคคล 1.78 ล้านบาท และโครงสร้างต้นทุนมีการเปลี่ยนแปลงจากก่อนจดทะเบียน 6.91 แสนบาท อีกทั้งจำนวน 44.03% ระบุว่า การจดทะเบียนนิติบุคคลคุ้มค่ามาก เพราะสามารถขอสินเชื่อได้ง่าย และรวดเร็วขึ้น วงเงินกู้สูงขึ้น ได้รับการลดหย่อนภาษี เพิ่มความเชื่อมั่นให้กับลูกค้า เป็นที่ยอมรับในระดับสากล เพิ่มโอกาสให้ลูกค้าใหม่ และมีโอกาสเข้าถึงความช่วยเหลือของภาครัฐเพิ่มขึ้น
นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่าจากผลสำรวจยังพบว่า 5 ปัจจัยแรก ที่ทำให้ผู้ประกอบการไม่ยอมจดทะเบียนนิติบุคคล อาทิ กลัวเรื่องการถูกเก็บภาษี 43% ระยะเวลาในการจดทะเบียน หรือไม่มีเวลาไปจดทะเบียน 40.5% และได้รับการบอกเล่าที่ไม่ดีจากการจดทะเบียน 40.2% เป็นต้น
นายมงคล ลีลาธรรม กรรมการผู้จัดการ ธพว.กล่าวว่า การเข้าจดทะเบียนนิติบุคคล ช่วยให้ภาครัฐรู้ตัวตนของเอสเอ็มอี ทำให้เอสเอ็มอีได้รับการสนับสนุนที่รวดเร็วและตรงจุด ทั้งนี้ ยังมีมาตรการส่งเสริม เอสเอ็มอีที่ร่วมกับกระทรวงอุตสาหกรรม โดยการจัดสรรงบประมาณ 5-10 ล้านบาท สำหรับจัดอบรมความรู้ด้านการเงิน บัญชีภาษี ซึ่งมอบหมายให้สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าไปพัฒนาผู้ประกอบการรายย่อย เพื่อสนับสนุนให้ผู้ประกอบการสามารถที่จะปรับตัวเข้าจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล และสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้โดยอัตโนมัติ และเติบโตได้อย่างยั่งยืน
ที่มา : ขอบคุณข้อมูลจากมติชนรายวัน